มหาพีระมิดแห่งกิซ่า ของฟาโรห์คูฟู.
ชื่อว่าสาวกซีรีส์ “มหาศึกชิงบัลลังก์” หรือเกมออฟโธรนส์ (Game of Thrones) น่าจะต้องคุ้นเคยกับ “บัลลังก์เหล็ก” (Iron Throne) กันเป็นอย่างดีแน่ๆ ถ้าว่ากันตามเนื้อเรื่องแล้ว บัลลังก์เหล็กที่ว่านี้สร้างขึ้นมาจากดาบของศัตรูผู้ปราชัยนับพันเล่มนำมาตีขึ้นรูปเป็นบัลลังก์ดูน่าเกรงขาม แต่บัลลังก์เหล็กที่นำมาเสนอแฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนในครั้งนี้เป็นบัลลังก์เหล็กที่อาจจะมีอยู่จริง และตั้งอยู่ในมหาพีระมิดแห่งกิซ่า (Great Pyramid of Giza) ของฟาโรห์คูฟู (Khufu) ที่ครองราชย์อยู่ในอียิปต์โบราณเมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล!
เอ้า อยู่ดีๆแนวคิดสุดพิลึกนี้ถูกเสนอกันขึ้นมาได้ยังไง เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2017 ทางโครงการสแกนพีระมิด (ScanPyramids) ที่ทำการตรวจสอบมหาพีระมิดแห่งกิซ่าด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆโดยเฉพาะการใช้อนุภาค “มิวออน” (Muon) ได้ค้นพบสิ่งที่น่าจะเป็น “ช่องว่าง” หรือไม่ก็ “โพรง” ลึกลับขนาดใหญ่ในมหาพีระมิด โพรงที่ว่านี้ตั้งอยู่เหนือห้องโถงแกรนด์แกลเลอรี่ (Grand Gallery) ซึ่งมีหน้าตัดเท่ากับห้องโถง แต่มีความยาวราว 30 เมตร
นักอียิปต์วิทยาและทีมนักวิชาการที่พบโพรงลึกลับนี้ยังไม่สามารถฟันธงอย่างแน่ชัดได้ว่าโพรงนี้จะมีหน้าที่อย่างไร เพราะมันเป็นช่องว่างขนาดมหึมา บ้างก็เสนอว่าอาจจะเป็นช่องทางในการขนส่งหินขนาดใหญ่เข้าไปยังใจกลางองค์พีระมิด บ้างก็บอกว่าอาจจะเป็นหลักฐานของทางลาดเอียงภายในองค์พีระมิด ดังที่เคยมีการเสนอกันเกี่ยวกับการสร้างพีระมิดโดยใช้ทางลาด ภายใน (Internal Ramp) แต่บ้างก็เสนอว่าอาจจะเป็นช่องว่างที่ใช้ในการถ่ายเทน้ำหนักไม่ให้กดทับลงมาที่ห้องโถงแกรนด์แกลเลอรี่โดยตรง แต่แนวคิดสุดท้ายนี้ก็ยังถูกแย้ง เพราะว่าหลังคาของห้องแกรนด์แกลเลอรี่ได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปแบบคอร์เบล (Corbel) หรือค่อยๆสอบเข้าหากันที่บนยอด ซึ่งก็สามารถช่วยกระจายน้ำหนักออกไปทางด้านข้างได้อยู่แล้ว จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องมีห้องเช่นนี้ตั้งอยู่ด้านบนอีก
...

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวคิดที่ว่าไปทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานเท่านั้นล่ะครับ เพราะสิ่งที่นักอียิปต์วิทยาทราบเกี่ยวกับโพรงลึกลับนี้มีเพียงแค่ภาพจำลองบนจอคอมพิวเตอร์ที่ได้มาจากอนุภาคมิวออนเท่านั้น ยังไม่มีใครทราบด้วยซ้ำว่าโพรงนี้คือช่องว่างเดียวที่ต่อเนื่องกันไปยาวเหยียด หรือจะเป็นเพียงแค่ช่องว่างเล็กๆหลายๆ ช่องกันแน่
แม้ว่าจะยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม ค.ศ.2018 ก็ได้มีการเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับช่องว่างในมหาพีระมิดของฟาโรห์คูฟูออกมาอีก นั่นก็คือบางทีมันอาจจะมี “บัลลังก์เหล็ก” ตั้งอยู่ด้านใน แถมเหล็กที่นำมาสร้างบัลลังก์นี้ยังเป็นเหล็กที่มาจาก “อุกกาบาต” เสียด้วยน่ะสิครับ!
ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้คือชาวอิตาลีนามว่าจูลิโอ เมกลิ (Giulio Magli) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ยุคบรรพกาล แนวคิดของเมกลิก็ไม่ได้ถือว่าเข้าข่ายเพ้อฝันเสียเลยทีเดียวหรอกครับ ด้วยว่าถ้าอ้างอิงตามหลักฐานทางอียิปต์วิทยาแล้วก็ต้องบอกว่าดูจะมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน
มาดูกันก่อนดีกว่าครับว่าทำไมเมกลิถึงได้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา เริ่มต้นเลยก็คือโครงสร้างต่างๆในมหาพีระมิดแห่งกิซ่านั้นล้วนแล้วแต่มีความหมายในเชิงความเชื่อและนัยทางศาสนาแฝงเอาไว้ทั้งสิ้น ถ้าลองดูที่มหาพีระมิดของฟาโรห์คูฟูจะพบว่า พีระมิดแห่งนี้มีห้องอยู่ทั้งหมด 4 ห้องใหญ่ๆ ด้วยกัน ห้องที่อยู่ด้านล่างสุดคือห้องใต้ดินซึ่งอาจจะเป็นความพยายามแรกสุดของฟาโรห์คูฟูที่จะสร้างห้องฝังศพของพระองค์ให้อยู่ลึกลงไปข้างใต้ตามแบบฉบับสุสานยุคแรกเริ่มของอียิปต์โบราณที่มักจะขุดเจาะลงไปเป็นปล่องลึก แต่ก็ดูเหมือนว่าห้องใต้ดินนี้จะสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี

...
เหนือขึ้นมาจากห้องใต้ดินคือห้องที่ได้ชื่อว่าห้องราชินี (Queen’s Chamber) ห้องราชินีไม่ได้ใช้ฝังศพของราชินีหรอกนะครับ แต่เป็นห้องที่ชาวอาหรับในยุคหลัง ตั้งให้ ด้วยว่าเพดานของห้องนี้มีลักษณะเป็นทรงจั่วคล้ายหลังคาสุสานของสตรีชาวอาหรับ ส่วนบทบาทที่แท้จริงของห้องราชินีที่นักอียิปต์วิทยาเสนอกันก็คือ เดิมทีห้องนี้อาจจะทำหน้าที่เป็นห้อง “เซอร์ดับ” (Serdab) สำหรับเก็บรักษารูปสลักของฟาโรห์คูฟูเอาไว้ เพื่อให้ดวงวิญญาณของพระองค์ใช้พักอาศัยก็เป็นได้
ห้องที่สามคือแกรนด์แกลเลอรี่ซึ่งมีลักษณะเป็นโถงทางเดินขนาดยักษ์ ความสูงราว 8.6 เมตร ที่ทอดยาวขึ้นไปยังห้องด้านบน สุดปลายทางของห้องแกรนด์แกลเลอรี่คือห้องกษัตริย์ (King’s Chamber) ทำหน้าที่เป็นห้องฝังศพของฟาโรห์คูฟู ด้วยว่ามีโลงศพทำจากหินแกรนิต (ที่ปัจจุบันว่างเปล่า) ตั้งอยู่
พีระมิดของฟาโรห์คูฟูยังมีโครงสร้างปริศนาอีกหนึ่งชนิดที่นักอียิปต์วิทยายังไม่สามารถตีความอย่างชัดเจนได้ โครงสร้างที่ว่านั้นเรียกว่า “ปล่องอากาศ” (Air Shafts) ครับ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 ปล่องพุ่งออกไปจากห้องกษัตริย์และห้องราชินีห้องละสองปล่อง โดยจะชี้ออกไปทางทิศเหนือสองปล่อง และทิศใต้อีกสองปล่อง ปล่องจากห้องกษัตริย์นั้นทะลุออกไปด้านนอกองค์พีระมิด แต่น่าแปลกที่ปล่องจากห้องราชินีกลับมี “ประตูหิน” ปิดเอาไว้ บางทีมันอาจจะแฝงความหมายเชิงนามธรรมเอาไว้ด้วยก็เป็นได้

...
ด้วยว่าห้องและช่องต่างๆในพีระมิดของฟาโรห์คูฟูล้วนถูกเสนอว่าอาจจะมีความหมายในเชิงพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการเดินทางหลังความตายแฝงอยู่ ดังนั้นเมกลิจึงเสนอว่า ถ้าโพรงลับขนาดยักษ์ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจของชาวอียิปต์โบราณแล้วล่ะก็ มันน่าจะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีความหมายในเชิงนามธรรมแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน เพียงแค่ว่าความหมายนั้นคืออะไรกันแน่!?
ชาวอียิปต์โบราณมีคัมภีร์หลังความตายหลายชนิด โดยเฉพาะคัมภีร์มรณะ (Book of the Dead) ที่เปรียบเสมือนคำแนะนำให้ผู้วายชนม์เดินทางไปยังโลกหลังความตายอย่างปลอดภัย แต่ในสมัยราชอาณาจักรเก่านั้น คัมภีร์หลังความตายขององค์ฟาโรห์มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นเองครับคือ “จารึกพีระมิด” (Pyramid Texts) ซึ่งเพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกบนผนังห้องฝังศพของฟาโรห์อูนาส (Unas) ฟาโรห์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ที่ 5 ครองราชย์อยู่ประมาณ 2,350 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนผนังห้องฝังศพของฟาโรห์คูฟูที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าฟาโรห์อูนาสราวๆ 200 กว่าปีนั้นว่างเปล่า เราจึงไม่ทราบว่าความเชื่อเกี่ยวกับการเดินทางในโลกหลังความตายของฟาโรห์คูฟูนั้นเป็นอย่างไร แต่นักอียิปต์วิทยาเสนอว่า ความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายนั้นมีมานานแล้ว และในสมัยของฟาโรห์คูฟูก็มีความเชื่อนี้แล้วเช่นกัน ดังนั้น การอธิบายความเชื่อในสมัยฟาโรห์คูฟูโดยใช้ตำนานจาก “จารึกพีระมิด” ในสมัยราชวงศ์ที่ 5 มาอ้างอิงจึงสามารถทำได้เช่นกัน

...
ที่สำคัญก็คือ เจ้า “บัลลังก์เหล็ก” ที่เมกลิเสนอก็ปรากฏอยู่ใน “จารึกพีระมิด” ที่ว่านี่ล่ะครับ
จารึกพีระมิดคือคัมภีร์ที่จะช่วยให้ฟาโรห์เดินทางขึ้นไปรวมกับสุริยเทพบนฟากฟ้า ซึ่งก็หมายถึงการฟื้นคืนชีพในโลกหน้าได้อย่างปลอดภัย คาถาของจารึกพีระมิดมีอยู่ราว 800 บทด้วยกัน และไม่ใช่ว่าพีระมิดทุกองค์จะมีครบถ้วนทุกบทนะครับ เมกลิได้ยกตัวอย่างจารึกพีระมิดบทที่ 536 ขึ้นมาอ้างอิงสำหรับแนวคิดเรื่องบัลลังก์เหล็กของเขา ใจความว่า
“ประตูแห่งท้องนภาเปิดออกแก่เจ้า ประตูแห่งเทพีนูตเปิดออกแก่เจ้า ประตูแห่งเวหาเปิดออกแก่เจ้า ‘จงอดทน’ เทพีไอซิสกล่าวขึ้น ‘ด้วยความสงบ’ เทพีเนฟทิสกล่าวเสริม เมื่อเจ้าได้พบพี่ชายของเจ้า เชิดชูตัวเจ้า ปลดปล่อยพันธะ สลัดฝุ่นผงออกไป และนั่งลงบน บัลลังก์เหล็ก ตัวนี้”
ประเด็นที่เมกลิเสนออยู่ตรงคำว่า “ประตูแห่งท้องนภา” (Door of the Sky) นี่ล่ะครับ เพราะถ้ายังจำกันได้ ปล่องอากาศที่พุ่งออกจากห้องราชินีนั้นก็ไปตันอยู่ที่ “ประตูหิน” บานหนึ่ง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ประกอบกับปล่องอากาศที่มีความกว้างหน้าตัดเพียงแค่ 20 × 20ตารางเซนติเมตรแล้ว นั่นหมายความว่า ปล่องนี้ไม่ได้ออกแบบให้มนุษย์คนใดมุดเข้าไป แต่ควรจะออกแบบให้ “ดวงวิญญาณ” ขององค์ฟาโรห์ใช้ในการเดินทางออกไปจากองค์พีระมิดมากกว่า
นอกจากนั้น ทิศทางของปล่องอากาศยังได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้วว่ามันชี้ออกไปยังกลุ่มดาวสี่กลุ่มหลักๆด้วยกันคือ ดาวซิริอุส (Sirius) กลุ่มดาวนายพราน (Orion) กลุ่มดาวหมีเล็ก (Kochab) และกลุ่มดาวมังกร (Thuban) นั่นหมายความว่า บางทีชาวไอยคุปต์อาจจะต้องการให้ดวงวิญญาณของฟาโรห์ใช้ปล่องอากาศเป็นแนวทางเพื่อมุ่งไปยังกลุ่มดาวเหล่านี้ก็เป็นได้ครับ

และถ้ากลับมาอ้างอิงข้อความจากจารึกพีระมิดบทที่ 536 กันอีกครั้งจะพบว่าองค์ฟาโรห์ต้องผ่าน “ประตูแห่งท้องนภา” ออกไปก่อน ถึงจะได้ขึ้นไปนั่งบน “บัลลังก์เหล็ก” และเมื่อพิจารณาจากโพรงลับที่โครงการสแกนพีระมิดจำลองภาพออกมาจากคอม– พิวเตอร์แล้ว เมกลิก็เสนอว่า บางทีประตูหินที่ปิดทางช่องอากาศจากห้องราชินีทางทิศเหนือเอาไว้นั้นไปหยุดในบริเวณที่เสนอกันว่าเป็นโพรงลับพอดี ประกอบกับพื้นที่ของโพรงลับนี้ยังมีโอกาสทอดยาวออกไปถึงจุดกึ่งกลางขององค์พีระมิด ซึ่งตั้งอยู่เหนือหลังคาของห้องราชินีพอดิบพอดีอีกด้วย นั่นจึงทำให้เมกลิเสนอว่าถ้าโพรงลับนี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างจงใจ มันจะต้องแฝงความหมายในเชิงความเชื่อบางอย่างเอาไว้ด้วย และการที่จะมี “บัลลังก์เหล็ก” ตั้งอยู่ในโพรงลับขนาดยักษ์นี้หลังจากวิญญาณของฟาโรห์ผ่านปล่องอากาศและทะลุ “ประตูแห่งท้องนภา” ไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลยทีเดียว
หลายๆท่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า การที่จะอ้างว่ามีบัลลังก์อยู่ในพีระมิดด้วยเนี่ย นักอียิปต์วิทยาเคยค้นพบหลักฐานของบัลลังก์หรือเก้าอี้อะไรในพีระมิดบ้างหรือเปล่า?
คำตอบคือ “มี” น่ะสิครับ เพียงแค่ว่าไม่ได้เป็นพีระมิดของกษัตริย์ แต่เป็นพีระมิดของมารดาของฟาโรห์คูฟูที่มีพระนามว่า “เฮเทปเฮรเอส” (Hetepheres) ครับ นักอียิปต์วิทยาพบเก้าอี้ซึ่งน่าจะเป็นบัลลังก์ของนางในพีระมิด แต่อยู่ในสภาพแยกส่วน เก้าอี้ตัวนี้สร้างจากไม้สนซีดาร์ ฝังด้วยกระเบื้องเคลือบและฉาบผิวด้วยทองคำ ดังนั้น ถ้าบัลลังก์ของฟาโรห์คูฟูที่เมกลิเสนอว่าอยู่ในโพรงลับจะสร้างจากไม้แล้วฉาบผิวด้วยเหล็กก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกสักเท่าใดนัก แต่ที่เมกลิเสนอเพิ่มเติมก็คือด้วยว่าชาวอียิปต์โบราณในสมัยนั้นยังไม่รู้จัก “การถลุงเหล็ก” เหล็กที่นำมาหุ้มบัลลังก์ไม้ตัวนี้จึงควรจะเป็นเหล็กที่มาจากอุกกาบาต!
แม้ว่าการใช้เหล็กจากอุกกาบาตจะฟังดูน่าทึ่ง แต่ชาวอียิปต์โบราณก็มีการใช้เหล็กจากนอกโลกมาเนิ่นนานแล้ว มีการค้นพบลูกปัดเหล็กทำจากอุกกาบาตอายุประมาณ 3,300 ปีก่อนคริสตกาล เก่าแก่กว่ายุคของฟาโรห์คูฟูเสียอีก นอกจากนั้น กริชเหล็กจากสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนก็ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าน่าจะใช้เหล็กจากอุกกาบาตด้วยครับ
ว่าแต่แนวคิดของเมกลิจะมีความเป็นไปได้โดยไม่มีข้อกังขาเสียเลยน่ะหรือ!? ไม่ใช่แน่นอนครับ เพราะว่าทฤษฎีนี้มี “รูโหว่” เพียบเลยล่ะครับ!
สิ่งที่กำลังจะเสนอต่อไปนี้เป็นการวิเคราะห์ของผู้เขียนเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้หลักคิดทางศาสตร์ของอียิปต์วิทยาและหลักฐานทางโบราณคดีเข้ามาเป็นตัวอ้างอิง สิ่งสำคัญข้อแรกที่ข่าวไม่ได้
นำเสนอก็คือสมมติฐานของจูลิโอ เมกลิ นั้นตั้งอยู่บน “คำแปล” ที่นักอียิปต์วิทยายังไม่เห็นพ้องต้องกัน เพราะคำว่า “บัลลังก์เหล็ก” จากจารึกพีระมิดบทที่ 536 ซึ่งถอดความโดยเรย์มอนด์ โอ. ฟอล์คเนอร์ (Raymond O. Faulkner) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอียิปต์โบราณนั้น ถ้าอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลอื่นๆบ้างก็ถอดความว่า “บัลลังก์อันแข็งแกร่ง” (Firm throne) หรือบ้างก็แปลเอาไว้ง่ายๆเพียงแค่ “เก้าอี้โลหะ” (Metal chair) เท่านั้นเอง

ดังนั้น นี่จึงเป็นจุดอ่อนที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะสำหรับชาวอียิปต์โบราณในสมัยราชอาณาจักรเก่าแล้ว คำที่มีความหมายว่าเหล็กคือ “บีอา” (biA) ซึ่งคำนี้สามารถหมายความถึง “โลหะสัมฤทธิ์” (Bronze) ได้ด้วยเช่นกัน (ส่วนคำว่า “บีอา เอน เพต” (biA n pt) ซึ่งแปลว่า “เหล็กจากฟากฟ้า” เพิ่งเริ่มใช้ในสมัยราชอาณาจักรใหม่เป็นต้นมาเท่านั้น) นั่นหมายความว่า ต้นฉบับภาษาอียิปต์โบราณของจารึกพีระมิดที่ฟอล์คเนอร์ถอดความออกมาว่า “บัลลังก์เหล็ก” นั้น บางทีอาจจะไม่จำเป็นว่าต้องสื่อถึง “เหล็ก” เสมอไป
นอกจากนั้น ในปัจจุบันถึงแม้ว่าทีมสแกนพีระมิดจะยืนยันว่าภายในมหาพีระมิดของฟาโรห์คูฟูจะมีช่องว่างขนาดใหญ่อยู่จริงๆ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าช่องว่างนี้เกิดขึ้นจาก “ความตั้งใจ” ของชาวไอยคุปต์หรือไม่ ที่แน่ๆ ไม่มีประตูใดๆที่เชื่อมช่องว่างนี้กับห้องภายในพีระมิดเลย จึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้โดยง่าย
สุดท้ายแล้วถ้าโพรงขนาดยักษ์เป็นเพียงแค่ช่องโหว่ของก้อนหินภายในองค์พีระมิดแล้วล่ะก็ แนวคิดอันสวยหรูของจูลิโอ เมกลิ ก็จะล้มลงเป็นโดมิโนเลยล่ะครับ.
โดย : สืบ สิบสาม
ทีมงานนิตยสาร ต่าย'ตูน