อารมณ์น้อยใจ ภาษาอังกฤษเรียกว่า hurt, sensitive หรือมีสำนวนที่ว่า have a thin skin ตัวอย่างเช่น I feel hurt. You are sensitive to your boss’ opinions. She has a thin skin every time he ignores her. ความรู้สึกน้อยใจเป็นอารมณ์ที่มักเกิดบ่อยกับคนทุกคน ไม่ว่าจะชาติใดภาษาใด ลองสังเกตให้ดีอารมณ์น้อยใจนี้มักจะเกิดกับบุคคลสำคัญในชีวิต เช่น พ่อแม่ญาติพี่น้องลูกสามีภรรยา หรือบุคคลคุ้นเคยใกล้ชิด เช่น เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย เป็นต้น
สาเหตุที่คนเราชอบน้อยใจคนอื่นก็เพราะว่า คนเราถูกเลี้ยงดูมาภายใต้คุณค่าหรือความคิดของคนอื่น เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกัน มีการสังเกตและลอกเลียนแบบกันและกัน เมื่อมนุษย์มีการพัฒนาความสัมพันธ์ในกลุ่มสังคมมากขึ้น ก็เริ่มเกิดค่านิยมที่เห็นพ้องร่วมกัน ความคาดหวังและมุมมองของคนอื่นจึงมีอิทธิพลต่อคนเรามาก และทำให้เราเห็นตัวเองผ่านมุมมองของคนอื่น จนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเห็นตัวเองผ่านมุมมองของตนเองบ้าง ลองสังเกตเด็กเล็กๆ เราจะไม่เห็นเด็กเล็กๆ เหล่านั้นรู้สึกน้อยอกน้อยใจใคร ถ้าเขายื่นขนมให้เพื่อนแล้วเพื่อนไม่รับ เราก็มักจะเห็นเด็กน้อยยืนงงนิดๆ พลางคิดในใจว่าฉันจะทำอย่างไรกับขนมนี้ดี จะกินเอง หรือจะทิ้ง หรือเอาไปให้คนอื่น (เขาคิดแค่นั้นละเขาไม่น้อยใจหรือเสียใจอะไรที่เพื่อนไม่รับขนมนั้นไป) แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ เช่น คุณซื้อขนมเจ้าอร่อยไปให้เพื่อน แล้วเพื่อนไม่รับ แทนที่คุณจะคิดได้แบบเด็กน้อยว่าคุณจะทำอย่างไรกับขนมนี้ดี คุณกลับคิดออกไปนอกเรื่องขนม ว่าคุณอุตส่าห์คิดถึงเพื่อน อยากให้เพื่อนได้ทานขนมอร่อยๆ คุณอุตส่าห์ถ่อร่างไปหาซื้อมา แต่เพื่อนคุณกลับมองข้ามความปรารถนาดีของคุณ เขามองว่าขนมของคุณเป็นของไม่มีค่า เป็นเรื่องไร้สาระ ฯลฯ (แล้วแต่คุณจะปรุงแต่งต่อเพื่อทำร้ายใจตัวเอง) และเมื่อคุณคิดต่อไปได้สักพักหนึ่ง เจ้าอารมณ์น้อยใจก็จะค่อยๆ ผุดขึ้นมาค่ะ จากนั้นคุณก็จะมีปฏิกิริยาต่างๆ เพื่อขจัดความน้อยใจนั้นออกไปโดยไม่รู้ตัว เช่น ประชดในใจ (ชิ.. ไม่กินก็อย่ากิน) หรือ ประชดด้วยการแสดงออกทางวาจา (ชิ... ไม่กินก็ตามใจ แล้วจะเสียใจ...) ประชดด้วยการกระทำ (กระแทกกล่องขนมหรือโยนทิ้ง) หรืออาจแอบผิดหวังน้ำตาตกใน หน้าเสีย งอน (วันหลังชั้นจะไม่ซื้ออะไรมาฝากเธออีกแล้ว) ฯลฯ
สรุปง่ายๆ สาเหตุที่คนเราน้อยใจ ก็เพราะว่าเราดำเนินชีวิตด้วยต้องการเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ดังนั้น เราก็เลยมักจะทำอะไรด้วยความคาดหวังว่าผู้อื่นจะต้องทำอะไรอย่างที่เราคาดไว้ เมื่อผู้อื่นไม่ได้ทำอย่างที่เราคาดหวังไว้ เช่น คาดหวังว่าเขาจะรับน้ำใจจากเรา (เราให้เขาก็เพราะหวังลึกๆ ในจิตใต้สำนึกว่าต้องการให้เขารู้สึกดีกับเรา) เมื่อผู้อื่นไม่เป็นไปตามคาด เราก็ผิดหวัง ซึ่งก่อให้เกิดอารมณ์น้อยใจขึ้นมานั่นเอง
...
เขียนบทความตอนนี้ ครูเคทก็แอบอมยิ้มกับตัวเอง เพราะว่าครูเคทเองก็ขี้น้อยใจตัวแม่เลยก็ว่าได้ ยิ่งช่วงนี้ฮอร์โมนเริ่มเปลี่ยนแปลงยิ่งขี้น้อยใจมากขึ้นๆ แต่ครูเคทกำลังฝึกลดความขี้น้อยใจอยู่ค่ะ ดูว่าจะได้ผลดี เลยขอนำมาแบ่งปัน ทุกครั้งที่ครูเคทรู้สึกน้อยใจ เช่น เพื่อนนัดทานข้าวกันแล้วลืมชวนเรา แทนที่ครูเคทจะมานั่งคิดปรุงแต่งให้ไร้สาระว่า เพื่อนลืมเรา เพื่อนไม่เห็นเราอยู่ในสายตา หรือแม้แต่คิดปลอบใจตัวเองว่า เพื่อนรู้ว่าเรายุ่ง ฯลฯ ครูเคทก็จะคิดแค่ว่า ณ ขณะที่เพื่อนๆ รวมก๊วนกันนั้น เขาคิดแค่นั้น ไม่คิดต่อว่าทำไมเขาถึงลืมคิดถึงเรา ก็แค่รับรู้เหมือนเด็กน้อยว่า ณ ขณะนั้น เพื่อนไม่ได้คิดถึงเรา ไม่ต้องปรุงแต่งต่อ ดังนั้น หากคุณเจอเหตุการณ์หรือใครที่ทำอะไรที่ดูเหมือนว่าจะทำให้คุณน้อยใจ ให้แค่รับทราบ เช่น รับทราบว่า “ณ ขณะนั้น” เขาไม่ต้องการของที่เราให้เขา รับทราบว่า “ณ ขณะนั้น” เขาไม่ได้นึกถึงเรา (ย้ำกับตัวเองว่า “ณ ขณะนั้น” ไม่ต้องคิดต่อไปถึงอนาคตหรือย้อนอดีต) แล้วก็จบ ใส่ฟูลสต็อปเลย หยุดคิดต่อ ไม่ต้องหาเหตุผลใดๆ มาทำความเข้าใจอะไร แค่รับทราบค่ะ แล้วคุณจะพบว่าอาการขี้ใจน้อยของคุณจะค่อยๆ หายไป
ใครมีปัญหา ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ///