เริ่มต้นเทศกาลส่งท้ายปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ 2561 คน กทม. เริ่มทยอยออกต่างจังหวัดกันเรื่อยๆ แน่นอนที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเทศกาลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์ ก็คือสถิติอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกล่าสุด สิ้นสุด ณ วันที่ 22 พ.ย. 2560 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 13,424 คน บาดเจ็บ 884,494 คน รวมทั้งสิ้น 897,918 คน

นอกเหนือจากการเสียชีวิตแล้ว การบาดเจ็บด้านกระดูกสันหลังและไขสันหลัง เป็นหนึ่งในอาการบาดเจ็บที่พบได้มากลำดับต้นๆ ของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน ที่ส่วนหนึ่งก็นำไปสู่ความพิการ ทุพพลภาพด้วย

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกฉุกเฉินและศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ บอกว่าสถิติผู้ป่วยอุบัติเหตุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกรุงเทพ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยแต่ละเคสมีความซับซ้อนของการบาดเจ็บในหลายอวัยวะ ต้องใช้ทีม แพทย์สหสาขาในการรักษาการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง วิธีการช่วยเหลือและรักษาผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ การสังเกตอาการของผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อวางแผนการเคลื่อนย้ายและดูแลได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานการดูแลผู้บาดเจ็บ ก่อนนำส่งยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมอย่างรวดเร็ว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ

...

คุณหมอเอกกิตติ์บอกว่า การบาดเจ็บบริเวณกระดูก สันหลังและไขสันหลัง Spinal Cord Injury เป็น หนึ่งในการบาดเจ็บที่พบบ่อย ทั้งนี้ ไขสันหลังเป็นโครงสร้างหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลาง ที่ต่อเนื่องลงมาจากก้านสมอง การบาดเจ็บไขสันหลัง คืออาการบาดเจ็บไขสันหลังรวมถึงรากประสาทที่อยู่ในโพรงของกระดูกสันหลัง ซึ่งการบาดเจ็บลักษณะนี้มีโอกาสสูงที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอัมพาต โดยการบาดเจ็บของไขสันหลังนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยคือเกิดจากอุบัติเหตุทั้งบนถนนหรือพลัดตกหกล้มจากที่สูง

“สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ ร่วมกับศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ จัดทำ Spinal Injury Fast Track โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ เกิดความพร้อมในทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางด้านกระดูก สันหลังและไขสันหลัง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและไม่ติดขัด เปรียบได้กับการเปิดช่องทางด่วนเพื่อให้รถฉุกเฉินได้เข้าทำการรักษาผู้ป่วยโดยสะดวกและรวดเร็ว” คุณหมอเอกกิตติ์บอก พร้อมกับให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ความหมายของ Spinal Injury Fast Track คือ code หรือสัญญาณภายในโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมมือกันของบุคลากร ตลอดจน แพทย์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาอุบัติเหตุทางกระดูกสันหลังและไขสันหลัง โดยจะให้ลำดับความสำคัญเหนือกว่าภาวะปกติ

ผู้อำนวยการอาวุโส แผนก ฉุกเฉินและศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ บอกด้วยว่า Spinal In– jury Fast Track ประกอบ ด้วยทีมแพทย์สหสาขาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุบัติเหตุทางกระดูก สันหลัง และไขสันหลังประกอบไปด้วย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลังและไขสันหลัง ศัลยแพทย์ฉุกเฉิน อายุรแพทย์ (ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว) อุปกรณ์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องมือในการทำผ่าตัด ตลอดจน บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่าย เพื่อทำให้เกิดความพร้อมในการให้การรักษาที่มีมาตรฐาน ตลอดจนการผ่าตัดผู้ป่วยในกรณีที่จำเป็น การทำการผ่าตัดจะกระทำเมื่อทุกอย่างพร้อม ถือเป็นการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและพิการลงได้ หากผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เหมาะสมและทันท่วงที

...

สำหรับการเตรียมความพร้อมนั้น คุณหมอเอกกิตติ์ อธิบายว่า เริ่มจาก 1.ผู้ป่วยจะต้องถูกเตรียมพร้อม โดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน อายุรแพทย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย สูงสุด 2. ความพร้อมในส่วนของโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเอกซเรย์ CT Scan หรือ MRI โดยละเอียด บุคลากรในห้องแล็บ และธนาคารเลือด จะจัดเตรียมความพร้อมอย่างครบถ้วน บุคลากรในห้องผ่าตัดจะจัดเตรียมอุปกรณ์ทำการผ่าตัด โดยให้ลำดับความสำคัญของผู้ป่วยอุบัติเหตุทางกระดูกสันหลังก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อม ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษา โดยการผ่าตัดตามที่ศัลยแพทย์วางแผนการรักษาไว้

ส่วนการประเมินอาการของผู้บาดเจ็บ จะใช้การประเมินตามรูปแบบ ของ American Spinal Injury Association (ASIA) ซึ่ง ผอ.อาวุโส แผนกฉุกเฉินและศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ บอกว่า มีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1.การตรวจระบบประสาทสั่งการ เพื่อประเมินระดับกำลังของกล้ามเนื้อมัดหลัก ข้างละ 10 มัด ทั้ง 2 ข้างของร่างกายในท่านอนหงาย 2.การตรวจระบบประสาทรับความรู้สึกส่วนที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทไขสันหลังทั้ง 2 ข้างของร่างกาย 3.การตรวจทวารหนัก เพื่อประเมินการทำงานของประสาท ของผู้ป่วยว่ายังสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักได้หรือไม่ ในกรณีที่มีการกดทับไขสันหลังหรือกระดูกสันหลังแตกหักเคลื่อน ไม่มั่นคง จะเกิดการกดทับไขสันหลัง การรักษาที่เหมาะสม คือ แก้ไขการกดทับ และ ยึดตรึงให้กระดูกสันหลังมั่นคง ไม่กลับมากดทับไขสันหลังซ้ำอีก ผู้ป่วยจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยไม่รอช้า เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน

...

ทั้งนี้ ในวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายปี 2563 ที่จะลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บที่รุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกๆ ภาคส่วนตระหนักถึงสภาพปัญหาความ สูญเสียและผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน

โดยในช่วง 7 วันอันตรายนี้ ทางสถาบันโรค กระดูกสันหลังกรุงเทพ และศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ ได้เตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาลสหสาขา และเทคโนโลยีในการตรวจรักษาที่ทันสมัย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกรูปแบบ รวมทั้งแนะนำวิธีการช่วยดูแลรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุหนักจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ เพราะแต่ละวินาทีที่ผ่านไปอาจหมายถึงชีวิต หรือความพิการ ของผู้บาดเจ็บ

โดยสามารถแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์โทร. 1724 หรือ 1719 โดยศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ (Bangkok Trauma Center) พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบกและทางอากาศด้วย และนอกจากการรักษาแล้ว ยังมีระบบดูแล รักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้มากที่สุดในการทำกิจวัตร ประจำวันหรือกลับเข้าทำงานประกอบอาชีพตามศักยภาพของตนเอง ที่เรียกว่า Return to work as work functional capacity ด้วย.

...