“เบาหวาน” เป็นโรคเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก มีรายงานจากสมาพันธ์เบาหวานโลก คาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 642 ล้านรายทั่วโลก และเป็นผู้หญิงถึง 313 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 หรือประมาณ 5 ล้านคน ความชุกในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย โดยพบว่าเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก และติดอันดับ 2 ของการเสียชีวิตของผู้หญิงในประเทศไทย “เบาหวาน” จึงเป็นโรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม

รู้จัก “โรคเบาหวาน”

“เบาหวาน” เป็นโรคของต่อมไร้ท่อโรคหนึ่ง เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังการอดอาหาร 6 ชั่วโมงมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เนื่องจากการขาดอินซูลิน การสร้างและหลั่งอินซูลินบกพร่อง หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน

“อินซูลิน” เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งถูกสร้าง และหลั่งจากตับอ่อน ทำหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เผาผลาญ และใช้เป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต

...


การขาดอินซูลิน การสร้าง และการหลั่งอินซูอินที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่มีน้ำตาลกลูโคสที่ร่างกายนำมาใช้เป็นพลังงาน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงทำให้มีอาการต่างๆ ของโรคเบาหวาน

อาการ

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ทำให้น้ำถูกขับออกมากขึ้น จึงมีอาการปัสสาวะบ่อย

ผู้ป่วยจะกระหายน้ำ ดื่มน้ำมากขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีความรู้สึกที่ปลายมือปลายเท้า สายตาพร่า มองเห็นไม่ชัดเจน น้ำหนักตัวลด เป็นแผลหายช้า เป็นต้น

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

- คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน

- คนที่อ้วนลงพุง

- ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม ขณะตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนจากรกที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน

- ถุงน้ำที่รังไข่ มักมีอาการประจำเดือนมาน้อย หรือไม่สม่ำเสมอ อ้วน มีสิว และหนวด

อาการเบาหวานที่พบบ่อยในผู้หญิง

@ ตกขาวผิดปกติ มีอาการคัน ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น มีสีแตกต่างไปจากเดิม เช่น สีเขียว สีเหลือง

@ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะขุ่น ขัด ปัสสาวะเป็นเลือด หากมีอาการเหล่านี้ควรไปตรวจอย่างละเอียดว่าเป็นเบาหวานหรือไม่

หากผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา จนอาจทำให้ตาบอดได้ โรคไต โรคหัวใจ แผลที่เท้า เป็นต้น

การป้องกัน

- อย่าปล่อยให้อ้วนลงพุง ควรรักษาระดับน้ำหนักของตนเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถเช็กว่าตนเองมีภาวะอ้วนลงพุงหรือไม่ง่ายๆ เพียงนำส่วนสูงมาหาร 2 เช่น สูง 160 เซนติเมตร รอบพุงจะต้องไม่เกิน 80 เซนติเมตร เริ่มจากการควบคุมอาหาร โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในแต่ละมื้อจะต้องมีผักและผลไม้อย่างน้อย 50% โปรตีน 1 ใน 4 โดยเลือกกินโปรตีนที่มีประโยชน์ ไม่มีไขมัน และกินข้าว 1 ใน 4 เลือกเป็นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต หรือข้าวโอ๊ตเพื่อให้มีใยอาหาร

ควรลดปริมาณความหวานในแต่ละวัน โดยใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา หรือถ้ากินได้น้อยกว่านั้นจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เลือกดื่มน้ำเปล่าเพราะดีต่อสุขภาพที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร เน้นเป็นการต้ม นึ่ง แทนการทอด ย่าง ลดการใช้น้ำมัน เพื่อให้ปริมาณแคลอรีลดลง

...


- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกออกกำลังกายตามที่ตนเองชอบหรือถนัด แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับอายุของตนเอง ที่สำคัญคือต้องออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อย่าหักโหม โดยเริ่มจากวันละ 10-20 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตามความสามารถของร่างกาย เมื่อร่างกายเริ่มคุ้นชินต่อการออกกำลังกายแล้ว ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และออกต่อเนื่อง 3-5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญพลังงาน

- เพิ่มกิจกรรมทางกาย ขยับร่างกายให้มากขึ้น ทุกๆ 1 ชั่วโมง ควรลุกมาเปลี่ยนอิริยาบถอย่างน้อย 5-10 นาที

- งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

- ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี โดยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะ

แม้ว่าโรคเบาหวานจะมีคนเป็นกันมากขึ้น และผู้หญิงอย่างเราๆ ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย แต่หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะทำให้ห่างไกล “โรคเบาหวาน” ได้แล้ว

-------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

พญ.ชุตินธร ศรีพระประแดง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.จุมพล วิลาศรัศมี และคนอื่นๆ. 2556. แผลเบาหวาน. กรุงเทพฯ : บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด.
ขอขอบคุณ : ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/