พักนี้มีคนมาทำ counseling กับครูเคทเรื่องเซ็งเจ้านายเพื่อนร่วมงาน เซ็งบรรยากาศในที่ทำงานกันมากขึ้น และกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนยุคนี้เปลี่ยนงานกันบ่อยขึ้น หรือบางคนก็ลาออกมาอยู่บ้านตั้งหลักก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่ได้งานใหม่กันมากขึ้น วันนี้เราลองมาวิเคราะห์ความหมายของคำว่า “เซ็ง” กันดีกว่า
คำว่าเซ็ง ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึงความรู้สึก ชืด จืด หมดรส (กรณีของอาหาร) หรือ หมดสนุก หมดความตื่นเต้น กร่อย (ในกรณีของอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ) ถ้าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ ก็อาจจะใช้บ่นๆ ว่า I’m bored. ก็ได้ (ระวังอย่าพูดว่า I’m boring. เพราะไม่ได้แปลว่า ฉันรู้สึกเบื่อหรือเซ็ง แต่จะแปลว่า ฉันเป็นคนน่าเบื่อค่ะ) กรณีที่รู้สึกหมดสนุกอาจจะพูดว่า I have no fun talking to him. ฉันเซ็งเวลาพูดกับเขา หรือเวลาคุยกับเขาแล้วไม่สนุกเลย กรณีที่เจอปัญหาอะไรซ้ำๆ ซากๆ คนเราก็อาจจะรู้สึกเซ็งก็ได้ เช่น I’m sick and tired of this relationship. ฉันเซ็ง หรือเบื่อกับความสัมพันธ์นี้จังเลย ถ้าหากจะอธิบายอารมณ์ความรู้สึกเซ็ง ก็อาจจะใช้คำว่า lose all enthusiasm หรือ feel flat หรือ low mood ก็ได้ค่ะ
นานๆ ทีคนเราก็รู้สึกเซ็งนู่นนี่ขึ้นมาบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่หากว่าพักนี้เริ่มรู้สึกเซ็งบ่อยมากขึ้น หรือ มักจะพูดคำว่าเซ็งบ่อยมากขึ้น หรือ บางคนพูดจนติดปาก อย่างนี้เริ่มไม่ค่อยปกติแล้วล่ะค่ะ เพราะเวลาคนเรารู้สึกเซ็ง แม้จะรู้ตัวว่าเซ็งเรื่องอะไร เช่น เซ็งเจ้านาย เซ็งเพื่อนร่วมงาน เซ็งความสัมพันธ์กับคนรักที่ไม่ราบรื่น เซ็งที่ไม่มีอะไรทำ ฯลฯ แต่ความเซ็งจริงๆ แล้วสะท้อนให้เห็นถึง ความรู้สึกท้อแท้ที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรๆ ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ เช่น เจ้านายไม่เข้าใจสิ่งที่เราพยายามทำ แม้จะอธิบายไปหลายหนแล้ว เจ้านายก็ยังเห็นต่างอยู่ หรือ พยายามเอาอกเอาใจคนรัก แต่เขาก็ไม่เห็นสนใจอะไรมากมาย ความรู้สึกอย่างนี้ทำให้เราอาจเกิดคำถามในใจ (แบบไม่รู้ตัว) ว่า สิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ความคิดและการกระทำของเรานั้นเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นหรือไม่ ผู้อื่นชื่นชอบเรา หรือเห็นด้วยกับเราหรือไม่ ฯลฯ เมื่อทุกอย่างไม่ชัดเจนในใจ และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเรากังวลอะไรหรือคิดอะไร จึงทำให้เราอยากหลีกหนีจากสถานการณ์หรือบุคคลที่ก่อให้เกิดอารมณ์อย่างนั้น แต่ไม่รู้จะหลีกหนีอย่างไร ความรู้สึกท้อแท้ ถอดใจ ที่ไม่รู้ตัวจึงมักทำให้คนเราบ่นว่า “เซ็ง” “เบื่อ” “อีกแระ” “ทั้งปี” “เอาที่สบายใจ” ฯลฯ
...
ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกเซ็งกับอะไรหรือกับใคร ลองค่อยๆ สำรวจความรู้สึกและความต้องการของตัวเองดูค่ะ ว่าลึกๆ แล้วคุณกำลังคาดหวังอะไร อยากให้เขาทำอย่างไรกับคุณ แล้วมันไม่เป็นไปตามที่คาดหวังบ่อยๆหรือไม่ ถ้าชักจะบ่อยไปแล้ว วิธีแก้เซ็ง ก็คือ ลองลดหรือเปลี่ยนความคาดหวังในใจของคุณให้น้อยลง และอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงให้มากขึ้น ก็จะพบว่าความเซ็งจะลดลง การพูดบ่นติดปากก็จะลดลงค่ะ หรือหากเซ็งอะไรมากๆ จนไม่อยากจะพูดแล้ว ซึ่งมักจะคิดอะไรไม่ออกด้วย อาจลองยิ้มหรือหัวเราะกับสถานการณ์ที่สุดเซ็งนั้น ก็อาจช่วยลดความเซ็งลงได้เหมือนกันค่ะ
ใครมีปัญหา ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ