ตอนที่แล้ว อธิบายคำว่า “เกรงใจ” คำไทยที่หาคำแปลตรงๆ ในภาษาอังกฤษไม่ได้ ตอนนี้ขออธิบายอีกหนึ่งคำคือคำว่า “หมั่นไส้” ซึ่งก็ไม่มีคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความหมายในภาษาไทยอย่างชัดเจน บางตำราก็แปลว่า despise หมายถึง มองด้วยความรู้สึกชิงชัง ดูถูก เช่น She was despised by all colleagues for her selfishness. เธอถูกเพื่อนร่วมงานรังเกียจหรือเหม็นขี้หน้าเพราะความเห็นแก่ตัวของเธอ ซึ่งคำว่า despise นี้ ไม่ใช่หมั่นไส้ในความหมายของคนไทย คนไทยเวลาหมั่นไส้ใคร ไม่ได้แปลว่าเกลียดชังคนๆ นั้น ผู้เชี่ยวชาญภาษาบางคนแนะนำว่า อาจจะใช้คำว่า dislike ที่แปลว่าไม่ชอบแทนก็ได้ เช่น They dislike her because of her selfishness. พวกเขาไม่ชอบเธอเพราะความเห็นแก่ตัวของเธอ จะสังเกตได้ว่าเวลาคนเราไม่ชอบใจใครก็ต้องมีเหตุผลที่จับต้องได้จึงรู้สึกไม่ชอบ แต่ หมั่นไส้ นี่แปลก คือเป็นความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย คือไม่มีเหตุผล อยู่ดีๆ พอเห็นหน้าหรือเห็นคนๆ นั้นทำอะไร ก็หมั่นไส้ขึ้นมาเสียอย่างนั้น
ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกหมั่นไส้ใครสักคนขึ้นมา ลองค่อยๆ สังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ณ ขณะนั้น จะพบว่าเราไม่ได้เกลียดเขา แต่จริงๆ แล้ว เรากำลังอิจฉาอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเขาหรือพฤติกรรมเขาอยู่ลึกๆ (และเรามักจะไม่ยอมรับว่าเราเกิดความรู้สึกอิจฉาเขาขึ้นในใจ เราจึงเลือกใช้คำว่า หมั่นไส้ แทนคำว่าอิจฉา เพื่อที่เราจะได้ไม่มองตนเองในแง่ลบว่ากำลังอิจฉาริษยาใครเขาอยู่) มาลองดูประโยคที่นางอิจฉาหรือลูกขุนพลอยพยักในละครน้ำเน่าชอบพูดกัน เช่น “แหม.. น่าหมั่นไส้ ทำเป็นไม่สนใจ ที่แท้ก็อยากได้จนตัวสั่น” แม้ดูเหมือนว่านางอิจฉาจะเกลียดนางเอก ทั้งๆ ที่นางเอกผู้ใสซื่อไม่ได้ทำอะไรนางอิจฉาเลย ความเกลียดชังที่แสดงออกมานั้น จริงๆ แล้วคือความอิจฉา ไม่ใช่ความไม่ชอบหรือเกลียดชัง แต่ที่คนเราไม่ค่อยจะยอมรับว่าอิจฉาใครก็เพราะว่ามันจะทำให้ดูไม่ดี แต่หากเลี่ยงไปใช้คำว่าเกลียดหรือไม่ชอบ มันจะดูดีมีเหตุผลมากกว่า ความอิจฉานี่แหละจึงถูกแทนที่ด้วยคำที่ดูน่ารักกว่า คือ “หมั่นไส้” ในประโยคตัวอย่างที่ยกขึ้นมาจะเห็นได้ชัดว่า นางอิจฉาได้เปรียบเทียบตัวเองกับนางเอก และเมื่อเห็นนางเอกได้รับความสนใจจากพระเอก ในขณะที่ตัวเองไม่ได้รับหรือได้รับน้อยกว่า นางอิจฉาไม่สามารถยอมรับกับตนเองว่า “ชั้นอิจฉามัน” ได้ จึงกลายเป็นว่า “ชั้นหมั่นไส้มัน” แทน
...
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านจึงบอกว่า คำว่า “หมั่นไส้” น่าจะตรงกับคำว่า “jealous” มากที่สุด แต่ครูเคทก็ยังว่าไม่ตรงซะทีเดียว เพราะเวลาฝรั่งพูดว่า jealous นั้น คนพูดจะรู้ตัวดีว่ากำลังอิจฉาริษยาใคร ด้วยเรื่องอะไร และรู้ตัวว่าตนเองกำลังเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ตนกำลังอิจฉา เช่น เพื่อนเอาของขวัญสุดหรูที่เพิ่งได้รับมาอวด ฝรั่งอาจพูดว่า I’m jealous. ซึ่งก็หมายความตรงๆ ว่าน่าอิจฉาจังเลยที่เธอ..อะไรก็ว่าไป แต่คนไทยจะพูดว่า “แหม.. หมั่นไส้ ไม่เห่อเลยนะยะหล่อน” ซึ่งจริงๆ ก็อิจฉานั่นแหละ แต่ลึกๆยอมรับตัวเองไม่ได้ ก็เลยใช้คำว่า หมั่นไส้ แทน ทีหน้าทีหลัง เวลาจะพูดว่าหมั่นไส้ใคร อย่าลืมตั้งสติ มองให้เห็นความอิจฉาในใจของเรา จะได้หมั่นไส้ใครๆ เขาน้อยลงนะคะ
ใครมีปัญหา ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ