ท่านปองพล อดิเรกสาร เจ้านายเก่าของครูเคท เคยพูดไว้ว่ามีคำไทยที่หาคำแปลตรงๆ ในภาษาอังกฤษไม่ได้อยู่สองคำ คือ คำว่า “เกรงใจ” กับ “หมั่นไส้” ซึ่งครูเคทก็ได้ไปค้นหาคำแปลจากดิกชันนารีต่างๆ และสอบถามอาจารย์ฝรั่งเจ้าของภาษาที่จบด้านภาษาศาสตร์มาโดยตรง ก็ไม่ได้คำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความหมายในภาษาไทยอย่างชัดเจน บางแหล่งก็แปลว่า thoughtful consideration for other people’s needs หมายถึง การใส่ใจกับความต้องการของผู้อื่น ซึ่งดูจะใกล้เคียงกับการคิดรอบคอบในการสำรวจตรวจตราความต้องการของผู้อื่น เช่น เห็นฝนทำท่าจะตก เขาจึงนำเอาร่มไปเผื่อทุกๆ คน He is thoughtful (He is considerate) to bring umbrellas for everyone. ในกรณีที่เรารู้สึกเกรงใจใครเพราะเห็นบุญคุณ เห็นความมีน้ำใจ หรือกลัวเขาเสียน้ำใจ จึงไม่กล้าปฏิเสธเขา ก็อาจใช้คำว่า I felt obliged to his offer therefore, I accepted it. หรือ He gave us a present because he might feel a little obligated after what we did for him. เขาให้ของขวัญเราเพราะเขาอาจรู้สึกเกรงใจ (ที่ต้องตอบแทน) ในสิ่งที่เราทำให้เขา ในบางสถานการณ์ก็อาจพูดง่ายๆ ไปเลยว่า I feel bad to have bother you. ฉันรู้สึกไม่ดีที่รบกวนคุณ ซึ่งกรณีนี้ใกล้เคียงกับเกรงใจในภาษาไทยมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่า bad แปลตรงตัวว่า เกรงใจ

...

ที่หยิบเรื่องคำว่า “เกรงใจ” มาคุยกันในตอนนี้ก็เพราะว่าความเกรงใจเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังลงไปในจิตสำนึกของคนไทยมาช้านานรุ่นแล้วรุ่นเล่า และเริ่มๆ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกเกรงใจของคนไทยจากรุ่นก่อนสู่รุ่นปัจจุบัน สมัยโบราณ ผู้หลักผู้ใหญ่จะสอนลูกหลานถึงขนาดมีเพลงที่ร้องว่า “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี...” คำว่าเกรงใจตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ไม่อยากให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจ คนสมัยก่อนจะทำอะไรจึงต้องนึกถึงใจเขาใจเรา ระมัดระวังทั้งคำพูดและการกระทำเพื่อไม่ให้ไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจ (เป็นการมองที่เอาผู้อื่นเป็นที่ตั้ง) แต่คนในยุคปัจจุบัน กลับเข้าใจคำว่า “เกรงใจ” ในมิติของอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายมากขึ้น คือ นอกจากไม่อยากให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจแล้ว คนในยุคนี้เกรงใจผู้อื่นด้วยความรู้สึกด้อยค่ารวมไปด้วย เช่น เมื่อฟังคำบรรยายแล้วไม่เข้าใจ ไม่กล้ายกมือขึ้นถามในห้องเรียน หรือฟังคำสั่งนายไม่เข้าใจแต่ไม่กล้าถาม เพราะ “เกรงใจ” กลัวผู้อื่นรำคาญ ซึ่งความคิดนี้ ไม่ใช่การเกรงใจว่าตนจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจ แต่เป็นการเกรงใจเพราะตนรู้สึกด้อยกว่าผู้อื่น หรือกลัวผู้อื่นเห็นว่าตนด้อยกว่า จึงไม่กล้าทำสิ่งนั้น แล้วพยายามปลอบใจตัวเองว่า “เกรงใจ”

เมื่อคนยุคนี้เข้าใจคำว่า “เกรงใจ” ในความหมายในมิติของความรู้สึกกลัว หรือไม่กล้า (ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง กลัวคนอื่นมองตัวเองไม่ดี กลัวเกิดผลลบกับตนเอง) เมื่อคนเกิดความกลัวโดยไม่รู้ตัวขึ้นมา ก็อาจทำอะไรบางอย่างที่ไม่เกรงใจใคร เช่น กลัวต้องรอนาน ก็เลยแซงคิวโดยไม่ได้นึกถึงคนที่เขาเข้าคิวรออยู่ก่อน หรือมีความอยากที่ไม่รู้สึกตัว ก็เลยหยิบของคนอื่นไปใช้โดยไม่เกรงใจ หรือ มีความโกรธแค้นอะไรบางอย่างที่ตนเองไม่รู้สึกตัว ก็อาจกระแทกอารมณ์นั้นใส่ผู้อื่นโดยไม่เกรงใจ เป็นต้น ดังนั้น เวลาที่เรารู้สึก “เกรงใจ” หรือ “ไม่เกรงใจ” ใคร ลองค่อยๆ รู้สึกตัวแล้วมองให้เห็นว่าความรู้สึกนั้นเกิดจากการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือเอาผู้อื่นเป็นที่ตั้ง หากเป็นอย่างหลังก็แสดงว่าคุณเป็นคนที่มีความเกรงใจที่เป็นสมบัติของผู้ดีค่ะ

ใครมีปัญหา ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ