ภาพวาดของชาวตะวันตก แสดงแนวคิดเรื่องการใช้ทาสอย่างทารุณในอียิปต์โบราณ.
เมื่อพูดถึง “ทาส” ในอียิปต์โบราณ ภาพของกลุ่มชายที่มีเพียงผ้าผืนน้อยปกคลุมส่วนล่างของลำตัวกำลังชักลากก้อนหินขนาดยักษ์บนแคร่เลื่อนทำจากไม้ไปยังองค์พีระมิดโดยมีผู้คุมสุดโหดคอยกวัดแกว่งแส้ไปมาคงแวบขึ้นมาในห้วงความคิดเป็นสิ่งแรก
จริงๆแล้วก็คงไม่แปลกหรอกครับที่บางท่านอาจจะมี “ภาพจำ” เช่นนั้นปรากฏอยู่ในหัวเมื่อพูดถึงอียิปต์โบราณและทาส นั่นก็เป็นเพราะว่าเรา “เชื่อ” กันมานานนมแล้วว่าพีระมิดสร้างขึ้นมาโดยใช้แรงงานทาส ในพระคัมภีร์ไบเบิลบทอพยพ 1 : 11 (Exodus 1 : 11) พูดถึงฟาโรห์ที่เกณฑ์แรงงานทาสชาวยิวมาสร้างอภิมหาโปรเจกต์ต่างๆมากมาย พวกเขาต้องทำงานตรากตรำ อีกทั้งยังต้องสร้างเมืองที่มีชื่อว่า “พิธม” (Pithom) และราอัมเสส (Raamses) เพื่อเป็นคลังเก็บเสบียงอาหาร นำมาซึ่งเหตุการณ์ที่โมเสสต้องพาชาวยิวออกจากดินแดนของฟาโรห์ไปยังแผ่นดินแห่งพันธสัญญา ส่วนเฮโรโดตัส (Horodotus) บิดาแห่งประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลก็ได้บันทึกเอาไว้ว่าฟาโรห์คูฟู (Khufu) เจ้าของมหาพีระมิดองค์ใหญ่ที่สุดในกิซา (Giza) ได้เกณฑ์แรงงานทาสมาสร้างสุสานของพระองค์ถึงหนึ่งแสนคนเลยทีเดียว!
...
แนวคิดเรื่องทาสของอียิปต์โบราณในความเข้าใจของคนในหลายทศวรรษก่อนจึงวนเวียนอยู่กับกลุ่มคนที่ไร้ซึ่งอิสรภาพแถมยังถูกบังคับให้มาใช้แรงงานอย่างโหดร้าย แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการค้นพบหมู่บ้านของคนงานสร้างพีระมิด ในหมู่บ้านมีโรงขนมปัง มีหลักฐานทางโบราณคดีมากมายที่บ่งบอกว่ากลุ่มคนที่สร้างมหาพีระมิดแห่งกิซานั้น ไม่ใช่ทาสอย่างแน่นอน แต่พวกเขาคือกลุ่มชาวนาที่เว้นว่างจากการเพาะปลูกในช่วง 4 เดือนของฤดูน้ำหลากมาช่วยกันขนหินไปสร้างพีระมิด ซึ่งก็เปรียบเสมือนการ “จ่ายภาษี” ให้กับรัฐด้วยแรงงานนั่นเอง แถมพวกเขายังได้รับค่าจ้างเป็นขนมปังสิบก้อนและเบียร์สองเหยือกต่อวันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการค้นพบหลักฐานว่ากลุ่มคนงานสร้างพีระมิดมีการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก มิโรสลาฟ เวอร์เนอร์ (Miroslav Verner) นักอียิปต์วิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านพีระมิดเสนอว่า กลุ่มคนงานเหล่านี้จะแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 2,000 คน ในกลุ่มใหญ่นี้จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย เหลือกลุ่มละ 1,000 คน หนึ่งกลุ่มย่อยถูกซอยออกเป็น 5 แก๊ง (Gang) แก๊งละ 200 คน และในช่วงเวลาหนึ่งๆจะมีคนทำงานสร้างพีระมิดเพียงแค่ไม่เกิน 3 แก๊ง หรือไม่เกิน 600 คนเท่านั้นเองครับ
แต่ถึงอย่างนั้นแนวคิดนี้ก็ไม่ค่อยตรงกับที่มาร์ค เลห์เนอร์ (Mark Lehner) อีกหนึ่งนักอียิปต์วิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านพีระมิดที่เสนอว่าคนงานสร้างพีระมิดในหนึ่งช่วงเวลาควรจะมีราวๆสองพันคนมากกว่า ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร เอาเป็นว่าตอนนี้เราสรุปได้แล้วว่า “ทาสไม่ได้สร้างพีระมิด” อย่างแน่นอน
คำถามต่อมาก็คือ ถ้าทาสไม่ได้สร้างพีระมิดและคนที่มาใช้แรงงานในการขนย้ายก้อนหินขนาดยักษ์มาจัดเรียงที่พีระมิดคือเหล่าชาวนา นั่นหมายความว่าอียิปต์โบราณจะไม่มีทาสเลยใช่หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ใช่” ครับ อียิปต์โบราณก็มี “ทาส” เหมือนกัน เพียงแต่ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นทาสอย่างที่พวกเราเข้าใจกันมาในอดีต แต่ทาสในไอยคุปต์จะเป็นอย่างไร เราลองมามองมุมใหม่เรื่อง “ทาส” ในไอยคุปต์กันเลยครับ
อันดับแรกคงต้องทำความเข้าใจถึงนิยามของ “ทาส” ในอียิปต์โบราณกันก่อนครับ ในภาษาอียิปต์โบราณคำว่า “ทาส” (slave) กับ “คนรับใช้” (servant) นั้น ใช้อักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิก (Hieroglyphs) คำเดียวกันก็คือคำว่า “เฮม” (Hm) นักบวชแห่งเทพเจ้าองค์ต่างๆจะถูกเรียกขานว่า “เฮม-เนเชร” (Hm-nTr) หมายความโดยตรงถึง “ผู้รับใช้แห่งเทพเจ้า”
...
แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่านักบวชนั้นไม่ใช่ “ทาส” ที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนักดุจกรรมกรแบกหาม นั่นหมายความว่าคำว่า “เฮม” ที่หมายถึงคนรับใช้นั้นไม่ได้หมายความถึงทาสที่ถูกกดขี่ หรือจำกัดอิสรภาพเสมอไปหรอกครับ ทว่าหมายถึง “บุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้านาย เจ้านายมีสิทธิที่จะใช้งานบุคคลนี้ได้ทุกเมื่อ นอกจากนั้น เจ้านายยังสามารถส่งต่อ หรือมอบบุคคลนี้เป็นของขวัญให้ใครก็ได้ตามที่จะประสงค์” ซึ่งในกรณีของนักบวช เจ้านายของนักบวชก็คือเหล่าเทพเจ้า และนักบวชก็เป็น “ผู้รับใช้” ของเทพเจ้าที่มีหน้าที่ทำให้เทพเจ้าพึงพอใจด้วยการถวายเครื่องบรรณาการแด่พระองค์นั่นเองครับ
จะเห็นว่าถ้ามองในมุมนี้ “เฮม” หรือ “คนรับใช้” นั้น มีอยู่เกลื่อนอาณาจักรอียิปต์โบราณเลยทีเดียวล่ะครับ โดยเฉพาะเหล่าคนรับใช้ที่คอยทำหน้าที่ปรนนิบัติเจ้านายและกลุ่มชนชั้นสูงที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์อันแสนโอ่อ่า แต่ถึงอย่างนั้น “เฮม” ที่หมายถึง “ทาส” ที่ถูกจำกัดอิสรภาพและต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างโหดร้ายก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน
การจะตกเป็นทาส วิธีแรกเลยคือ “ติดหนี้” ครับ ซึ่งนอกจากติดหนี้จนตกเป็นทาสแล้ว บางคนก็ยินดีที่จะ “ขาย” ตัวเองไปเป็นทาส เพื่อปลดตัวเองออกจากความยากจนด้วยนะครับ ทาสที่มาจากการ “ติดหนี้” เช่นนี้ถือว่าไม่ค่อยเลวร้ายเท่าไร เจ้านายที่เป็นเจ้าของทาสเหล่านี้ยังคงมีสวัสดิการให้และทาสยังคงมีสิทธิพลเมืองตามปกติ และเมื่อทำงานเก็บเงินใช้หนี้ตามที่ติดไว้ได้หมดแล้วก็จะได้รับอิสรภาพกลับคืนมา แต่ถึงอย่างนั้น นักอียิปต์วิทยาก็ทราบจากหลักฐานทางโบราณคดีว่าทาสเช่นนี้มีอยู่เพียงแค่ถึงในช่วงปลายๆยุคราชวงศ์ของอียิปต์เท่านั้น หลังจากนั้นก็ถูกล้มเลิกไปในที่สุด
...
ประการต่อมา ถ้าอยากเป็นทาสในอียิปต์โบราณก็ให้ “ก่ออาชญากรรม” ครับ หนึ่งในบทลงโทษของการกระทำผิดก็คือจับไปเป็นทาสนี่เอง โดยที่วิเซียร์ (Vizier) หรือผู้ปกครองสูงสุดที่มีอำนาจรองลงมาจากฟาโรห์จะมีอำนาจเต็มในการตัดสินคดี และถ้าวิเซียร์ตัดสินให้ผู้ต้องหาคนนั้นต้องตกเป็นทาสแล้วล่ะก็เตรียมใจเจองานสุดหินเอาไว้ได้เลยครับ เพราะทาสที่เกิดจากการถูกลงโทษส่วนใหญ่แล้วมักจะถูกส่งไปใช้แรงงานอย่างหนัก
วิธีต่อไปในการเป็นทาสก็คือ “สมัครใจ” เสียเลยครับ แต่การสมัครใจแบบนี้ บทบาทหน้าที่ของการเป็นทาสค่อนข้างจะเป็นไปในทางของการเป็น “ผู้รับใช้” เสียมากกว่า เพราะตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นสตรีคนหนึ่งที่ยอมเสียเงินเพื่อเข้าไปเป็นผู้รับใช้ในวิหารของเทพเจ้า โดยสตรีคนนี้ถึงกับเขียนบอกเอาไว้เลยว่า “ข้าคือผู้รับใช้ของท่าน รวมทั้งลูกและหลานของข้าด้วย ข้าจะอยู่ในโอวาทของท่านตลอดไป ขอท่านโปรดดูแลข้า ปกป้องข้า ขอให้ท่านคุ้มครองข้าจากเหล่าภูตร้ายทั้งหลาย แล้วข้าจะจ่ายท่านด้วยทองแดงน้ำหนัก 1.25 คิเท (Kite : หน่วยน้ำหนักของไอยคุปต์) จนครบ 99 ปี และข้าจะมอบมันให้กับนักบวชของท่านทุกเดือน” จากข้อความที่สตรีผู้นี้ได้เขียนไว้ก็พอจะเดาได้ว่าเป็นการซื้อตำแหน่งงานพ่วงกับความปลอดภัยจากเจ้านายเสียมากกว่าล่ะนะครับ
...
นอกจากวิธีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทาสส่วนใหญ่มักจะมาจาก “เชลยศึก” ในสงครามครับ โดยเฉพาะในช่วงราชอาณาจักรใหม่ที่อียิปต์โบราณมีความเข้มแข็งทางการทหารเป็นอย่างมาก เชลยเหล่านั้นจะได้ไปทำงานอะไรหรือได้รับหน้าที่อันหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ขึ้นกับความสามารถของเชลยแต่ละคนด้วยครับ ถ้าไม่ได้มีความสามารถพิเศษอะไรที่โดดเด่นเลย หน้าที่เดียวที่จะส่งเชลยเหล่านี้ไปทำได้ก็คือการใช้แรงงานอย่างหนักที่เหมืองทองคำและทองแดงอันร้อนระอุตามทะเลทรายต่างๆ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกบันทึกเอาไว้ว่า คนงานที่เหมืองหลายคนทำงานหนักจนสิ้นลม บ้างก็ขาดน้ำจนตาย แต่ถึงอย่างนั้นใครที่พอจะมีแววด้านการรบหน่อยก็อาจจะถูกเกณฑ์มาเป็นทหาร
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้เราได้ทราบว่าหน้าที่ของเชลยศึกไม่ได้มีเท่านี้ เพราะคนที่เก่งหน่อยก็อาจจะได้มีโอกาสไปเป็นคนรับใช้ในวังหลวงของฟาโรห์เลยทีเดียวครับ เชลยบางคนถูกส่งไปทำงานที่วิหาร ซึ่งในกรณีนี้ต้องบอกเลยครับว่าคุณภาพชีวิตดีกว่าชาวนาทั่วไปในไอยคุปต์เสียอีก เรียกได้ว่าเชลยศึกคนไหนที่มีความสามารถอันโดดเด่นก็มักจะเป็นที่ต้องตาต้องใจของเจ้านาย บางครั้งพวกเขาถูกเลื่อนขั้นขึ้นไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น แถมบางคนที่โชคดีสุดๆถึงขั้นได้รับโอกาสในการแต่งงานกับสมาชิกในครอบครัวของเจ้านายก็ยังมี และทาสเหล่านี้ก็จะสามารถปลดแอกตัวเองจากการเป็นทาสออกมาใช้ชีวิตอิสระได้ในที่สุด
อีกหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับทาสที่หลายๆท่านอาจจะมีคำถามคาใจอยู่คือเรื่องของ “ตลาดค้าทาส” แต่อย่างที่ได้เล่าไปแล้วว่าการเป็นทาสของอียิปต์โบราณนั้นส่วนใหญ่มาจากสาเหตุส่วนบุคคล เช่นการติดหนี้ หรือขายตัวเองเป็นทาส หรือทาสจากสงคราม นั่นจึงไม่แปลกเลยครับที่นักอียิปต์วิทยาจะไม่พบหลักฐานของตลาดค้าทาสในอียิปต์โบราณมาก่อนเลย แต่ถึงจะไม่มีตลาดค้าทาสที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนแรงงานเหล่านี้อย่างชัดเจน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการซื้อขายทาสกันแต่อย่างใด โดยเฉพาะในสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) นั้น มีการซื้อขายทาสปรากฏให้เห็นในเอกสารโบราณหลากหลายครั้งเลยล่ะครับ เมื่อซื้อทาสมาแล้ว บางครั้งทาสก็จะถูกสักเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น จารึกจากสมัยราชวงศ์ที่ 27 ของอียิปต์โบราณระบุว่า บนมือข้างขวาของสตรีนามว่า “แทปมุต” (Tapmut) ซึ่งเป็นทาสของเจ้านายชื่อ “เมชูลลัม” (Meshullam) นั้น มีรอยสักเขียนว่า “เป็นของเมชูลลัม” เอาไว้ด้วย
ด้วยว่า “เฮม” ส่วนใหญ่ของชาวอียิปต์โบราณนั้นไม่ใช่ทาสที่ถูกใช้งานอย่างโหด ร้ายดังเช่นเหล่าเชลยศึกที่ถูกส่งออกไปทำเหมืองอันร้อนระอุกลางทะเลทราย ดังนั้น คุณภาพชีวิตของเฮมที่อยู่ในบทบาทของคนรับใช้จึงอยู่ในฐานะดีถึงขั้นดีมากเลยล่ะครับ เจ้านายต้องดูแลคนรับใช้เป็นอย่างดี เป็นข้อกำหนดทางศีลธรรมของชาวอียิปต์โบราณเลยก็ว่าได้
แต่ก็มีหลักฐานว่าเฮมในอียิปต์โบราณบางคนอดรนทนไม่ไหวกับเจ้านายที่ไร้เมตตา พวกเขาจึงต้องหนี มีบันทึกว่าเฮมสองคนที่หลบหนีไปถูกจับมาโบยตีอย่างโหดร้าย ถึงอย่างนั้นก็ยังพบว่าทาสหลายคนก็ยังตัดสินใจที่จะหนี ซึ่งถ้าจะหนีกันจริงๆก็มีให้เลือกสองทางครับ ทางแรกคือหนีไปให้ไกลที่สุด ข้ามทะเลทรายออกไปถึงดินแดนข้างเคียงได้เลยยิ่งดี ซึ่งวิธีแรกนี้ไม่ค่อยได้ผลเท่าไร เพราะอาจไม่รอดในทะเลทราย หรืออาจจะถูกจับเป็นเชลยในต่างแดนก็เป็นได้ ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการหนีไปพึ่งใบบุญของวิหารและขอเป็น “เฮม” ในวิหารแห่งนั้นเสีย วิธีนี้อาจจะปลอดภัยและมีความเป็นไปได้มากกว่าอยู่พอสมควรเลยครับ
สำหรับวิธีปลดแอกตัวเองจากการเป็นทาสก็ขึ้นกับว่าตกเป็นทาสด้วยสาเหตุใด เช่น ถ้าเป็นหนี้แล้วทำงานใช้หนี้จนหมด ก็สามารถเป็นอิสระได้อีกครั้ง หรือถ้าโชคดีจับพลัดจับผลูได้แต่งงานกับครอบครัวของเจ้านายก็อาจจะทำให้ได้รับอิสระเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วการจะปลดตัวเองออกจากภาระหนักอึ้งนี้ก็ต้องพึ่งพาความสามารถของตนเองเป็นหลัก จะมีบ้างเป็นบางครั้งที่จะมีคนใจดีมาซื้อทาสให้เป็นอิสระ แต่ก็คงจะไม่บ่อยนัก
ส่วนกลุ่มทาสและเชลยศึกจากสงครามที่ถูกส่งไปทำงานในเหมืองอันร้อนระอุนั้น บางทีทางออกสุดท้ายในการหลบหนีจากความทรมานนี้คงจะมีเพียงแค่ความตายเท่านั้นเอง.
โดย :สืบ สิบสาม
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน