พระพุทธสิริสุวรรณภูมิ...ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี.

นานๆจะนึกสนุกอยากไปเที่ยวใกล้ๆกรุงเทพฯ แต่ด้วยคำแนะนำของ “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้ต้องบึ่งรถออกนอกเมืองไปค้นหาความลับของอาณาจักรทวารวดี ที่ท่านปลัดฯยืนยันว่า น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าการไปเที่ยวอินเดีย หรืออินโดนีเซีย เลยทีเดียว

แรกเริ่มเดิมที ไม่มีใครรู้ว่าศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีจริงๆแล้วอยู่ที่ใดกันแน่ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งที่ ศรีเทพ เพชรบูรณ์ หรือแอ่งอารยธรรมสกลนคร แต่ที่ดูเหมือนจะปรากฏชัดมากที่สุด จากการขุดพบโบราณสถานและโบราณ วัตถุ เห็นจะเป็นในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง คือ สุพรรณบุรี ราชบุรี และ นครปฐม ดังปรากฏในบันทึกของหลวงจีนจี้ชิง ที่เรียกอาณาจักรแถบนี้เมื่อ 1,300 ปีก่อนว่า โต-โล-โป-ตี้ ซึ่งถ้าออกเสียงตามคำเรียกของหลวงจีนจี้ชิง ก็น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า “ทวารวดี” มากกว่าคำอื่นๆ

ว่าแล้ว...ก็แบกกล้อง ไปท่องทวารวดีกันเลย...

พระปฐมเจดีย์...เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย.
พระปฐมเจดีย์...เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย.

...

เริ่มต้นที่ วัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน องค์พระปฐมเจดีย์ มหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างในสมัยทวารวดี และเป็นพระเจดีย์เก่ากว่าพระเจดีย์อื่นๆ ในประเทศสยาม

เคยขับรถผ่านองค์พระปฐมเจดีย์หลายครั้ง ก็เห็นแค่ว่าเป็นเจดีย์ใหญ่ ดูสวยงาม ผู้คนพากันมา กราบไหว้ไม่ขาดสาย แต่เมื่อมากราบองค์พระปฐมเจดีย์ตามคำแนะนำของปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คราวนี้ กลับรู้สึกว่า องค์พระปฐมเจดีย์ที่อยู่เบื้องหน้านี้ ยิ่งใหญ่ กว่าที่เคยรู้สึกหลายเท่า

ค้นคว้าจากข้อมูลที่มีอยู่ บอกว่าพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้ มีต้นแบบมาจากเจดีย์สาญจิ ในประเทศอินเดีย ซึ่งพระโสณะเถระและพระอุตตรเถระ พระธรรมทูตที่เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ โดยเริ่มต้นที่นครปฐมเป็นที่แรก ราวพุทธศตวรรษที่ 3 ได้ สร้างเจดีย์ทรงระฆังคว่ำปากผาย มีโครงสร้างเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐถือปูน ต่อมาจึงมีการปูทับประดับด้วยกระเบื้อง ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

พระพุทธรูปศิลาขาว หรือ “หลวงพ่อประทานพร”.
พระพุทธรูปศิลาขาว หรือ “หลวงพ่อประทานพร”.

แต่สิ่งที่ยืนยันชัดว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีมาก่อน เห็นจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี โดย เฉพาะ พระพุทธรูปศิลาขาว หรือ “หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถของวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ขุดพบในจอมปลวกที่วัดทุ่ง–พระเมรุ และชาวบ้านช่วยกันอัญเชิญมาประดิษฐานที่นี่ ว่ากันว่าเป็นประพุทธรูปที่สามารถถอดได้เป็นส่วนๆ เมื่อมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายก็สามารถถอดออกได้

พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เห็นจะเป็น พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร เรียกพระนามสั้นๆ ว่า พระพุทธนรเชษฐ์ฯ หรือ “หลวงพ่อขาว” เป็น พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ ปางประทานปฐมเทศนา ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดีแท้ๆ ที่อะเมซซิ่งก็คือ พระพุทธรูปในลักษณะนี้ มีอยู่เพียง 6 องค์ในโลกเท่านั้น โดย 5 องค์ อยู่ในเมืองไทย ส่วนอีก 1 องค์อยู่ที่เมืองยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

พระพุทธนรเชษฐ์ฯ หรือ “หลวงพ่อขาว” 1 ใน 6 องค์ของโลก.
พระพุทธนรเชษฐ์ฯ หรือ “หลวงพ่อขาว” 1 ใน 6 องค์ของโลก.

...

แค่ได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ของพระพุทธรูปเก่าแก่ ทั้ง 2 องค์นี้ ก็ยิ่งตื่นเต้นและทำให้รู้สึกว่า วัดพระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมใกล้กรุงเทพฯแค่เอื้อมแห่งนี้ ไม่ธรรมดาเลย ยังไม่รวมความศักดิ์สิทธิ์ของ พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย ที่ใครๆก็ต้องมากราบไหว้ เพราะนอกจากจะเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครปฐมแล้ว ยังเป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคาร ในรัชกาลที่ 6 และพระอังคารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ด้วย

จากนครปฐมมุ่งหน้าสู่ราชบุรี เป้าหมายของเราอยู่ที่ วัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ อายุเกือบ 2,000 ปี สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ความโดดเด่นของวัดนี้ คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ สร้างด้วยศิลาแลง ตั้งตระหง่านอยู่กลางวัด ด้านบนสุดของพระปรางค์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทวารวดี เก่าแก่

พระพุทธรูปทวารวดี...บนยอดพระปรางค์.
พระพุทธรูปทวารวดี...บนยอดพระปรางค์.

...

จากหลักฐานทางโบราณคดี คาดว่าวัดนี้น่าจะสร้างในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 แต่มีการดัดแปลงขึ้นเป็นพระปรางค์ และสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลของเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในช่วงที่วัฒนธรรมเขมรจากราชอาณาจักรกัมพูชาได้แพร่เข้าสู่ดินแดนราชบุรี

กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง...วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี.
กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง...วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี.

นอกจากองค์พระปรางค์แล้ว ภายในวัดยังมี วิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐาน พระมงคลบุรี และ พระศรีนคร เป็นพระพุทธรูปประทับหันหลังชนกัน มีความหมายว่า การช่วยระวังภัยพิบัติหน้าหลัง จึงเรียกว่า พระรักษาเมือง ส่วนด้านหน้าวิหารมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบองค์พระปรางค์ทั้งสี่ด้าน

พระมงคลบุรี  และ พระศรีนคร...พระรักษาเมืองราชบุรี
พระมงคลบุรี และ พระศรีนคร...พระรักษาเมืองราชบุรี

...

ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุ เป็นที่ตั้งของ เมืองโบราณบ้านคูบัว ซึ่งเป็นสถานที่ที่ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก บ่งชี้ว่า เมืองราชบุรีแห่งนี้ เคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี เห็นได้จากสถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัว ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยราชวงศ์ คุปตะ ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ การขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่นี่ ทำให้มีหลักฐานยืนยันได้ว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมานานกว่า 1,000 ปีแล้ว

พระปรางค์ประธาน..วัดมหาธาตุ ราชบุรี.
พระปรางค์ประธาน..วัดมหาธาตุ ราชบุรี.

นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้ๆกัน ยังเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์โบราณสถานบ้านคูบัว หรืออีกชื่อหนึ่งว่า จิปาถะภัณฑสถานบ้านคูบัว ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชน ภายในจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และคติชนวิทยาของชาวไท-ยวน มีทั้งห้องแสดงศิลปวัตถุโบราณสมัยทวารวดี, ห้องแสดงวิถีชีวิตของชุมชนไท-ยวน ที่เคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงแสน มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2347 ภายในห้องแสดง เครื่องมืออุปกรณ์ประกอบอาชีพทำนา การดำรงชีวิต การร่วมคิดอ่านพัฒนาชุมชน การเกิด การกิน ฯลฯ ของชาวไท-ยวน อีกห้องหนึ่งเป็นห้องแสดงภูมิปัญญาการทอผ้าจกไท-ยวนเชียงแสน ซึ่งมีมานานกว่า 200 ปี จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมี ห้องแสดงการแต่งกายของชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี อาทิ ชาวไท-ยวน, ลาวโซ่ง, ลาวเวียง, มอญ, กะเหรี่ยง, จีน, ไทซงดำ ไทยพื้นถิ่น ฯลฯ

เรียกว่า มาที่เดียวได้ดูครบจบกระบวนความ แถมมาคราวนี้ ทำให้เชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่า ศูนย์ กลางของอาณาจักรทวารวดีเมื่อพันกว่าปีก่อน อยู่ที่นี่...ราชบุรี และ นครปฐม แน่นอน.