เพราะเชื่อมั่นว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ขาดโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง ผู้บริหารหญิงไฟแรงแห่งวงการเทรนนิ่ง “อริญญา เถลิงศรี” จึงมุ่งมั่นทำทุกวิถีทางเพื่อดึงศักยภาพของคนไทยให้ฉายแววโดดเด่นที่สุด ยิ่งโลกกำลังเข้าสู่ยุค Disruption ที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความปั่นป่วน การพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรยุคใหม่ ซึ่งเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องรีบเดินเครื่องเต็มสูบก่อนจะสายเกินแก้
“รู้สึกมาตลอดว่าคนไทยเก่ง และเรามีหน้าที่ต้องดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาให้ได้ การนำเครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วยประเมินศักยภาพทำให้ได้เห็นถึงโพรเทนเชียลที่ซ่อนอยู่ในตัวทุกคน จากประสบการณ์ 25 ปี ที่ได้ทำงานกับลูกค้าหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจขนาด 500 ล้านบาท ถึงแสนล้านบาท ทำให้พบว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ใคร แต่สิ่งเดียวที่ขาดคือโอกาส เพราะการศึกษาในเมืองไทยไม่ได้เอื้อให้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ และเมื่อเข้าไปทำงานตามองค์กรต่างๆ บริษัทก็ไม่ได้มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ดึงศักยภาพคนออกมาอย่างเต็มที่ แถมหลายๆองค์กรยังกดคนไว้ ไม่มีพื้นที่ให้เติบโต”...เอ็มดีสาวคนเก่งแห่ง SEAC ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง บอกเล่าถึงภารกิจการเจียระไนคนไทยให้เป็นเพชรน้ำงาม
...
เริ่มเข้าสู่วงการเทรนนิ่งได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ตอนไปเรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ ที่แคนาดา สิ่งที่รู้สึกมากๆคือ ตอนอยู่เมืองไทยเราไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่ไปเรียนที่แคนาดากลับทำคะแนนได้ดี ก็เลยรู้ว่ามันเป็นเพราะวิธีการสอนที่ดี อาจารย์ที่แคนาดามีวิธีสอนให้นักเรียนสนใจ และสามารถถ่ายทอดเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่าย อีกหนึ่งแรงบันดาลใจคือ คุณพ่อจะพูดเสมอว่า อยากพัฒนาคนไทยให้เก่งขึ้น ทุกครั้งที่มีเวลาว่างจากการทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ คุณพ่อจะเรียกลูกน้องมาที่บ้านเพื่อโค้ชชิ่งให้พัฒนาตัวเอง และยังแบ่งเวลาไปสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ด้วย พอเราเรียนจบกลับเมืองไทย จึงตั้งใจว่าจะบุกเบิกด้านการพัฒนาคน และได้เปิดบริษัทเทรนนิ่งชื่อ APM Group
ใช้เวลานานไหมกว่าจะได้รับการยอมรับ
ตอนแรกๆทุกอย่างยากมาก ลูกค้า 20 รายที่วอล์กอินเข้าไปหา ปฏิเสธเราหมด!! ทำให้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ จากที่วิ่งเข้าไปหาลูกค้าตามองค์กรต่างๆ ก็เปิดเป็นการเทรนนิ่งแบบพับบลิคโปรแกรม เปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้าร่วมอบรม โดยเสียค่าใช้จ่ายครั้งละไม่มาก เพื่อสร้างชื่อเสียงให้บริษัท เราไปเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาพูด เพราะเชื่อว่าคนไทยจะไม่เชื่อในคนไทยด้วยกันเอง แต่ถ้าเป็นฝรั่งพูดกลับเชื่อ คราวนี้ประสบความ สำเร็จ พอคนเริ่มรู้จักเราก็ถามว่าจัดเทรนนิ่งแบบนี้ทำเป็นภาษาไทยได้ไหม จากนั้นธุรกิจก็ค่อยๆเติบโตขึ้น ใช้เวลา 3-4 ปี กว่าคนจะยอมรับบริษัทเราว่ามีคุณภาพพอที่เขาจะจ่ายเงิน
จุดขายของ APM ในยุคนั้นคืออะไร
หลังทำเทรนนิ่งผู้บริหารระดับล่างได้ 7 ปี ก็มามองว่าเราหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ ปัญหาใหญ่ที่พบคือ คนที่มาอบรมไม่รู้ว่าศักยภาพของตัวเองอยู่ตรงไหน APM จึงเป็นที่แรกที่นำเครื่องมือแอสเซสเมนต์เข้ามาเมืองไทย เพื่อประเมินศักยภาพของบุคลากร โดยบินไปคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ฟินแลนด์ เรายังเป็นบริษัทแรกที่นำคำว่าออร์แกไนเซชั่น เดเวลอปเมนต์ มาใช้กับบริษัท SCG เพื่อตั้งหน่วยงานพัฒนาองค์กร และก็เป็นคนแรกที่นำคอนเซปต์โค้ชชิ่งเข้ามาเมืองไทยเพื่อเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาศักยภาพของบุคลากร สิ่งเหล่านี้ทำให้ตลาดเทรนนิ่งพัฒนาตามเราไปด้วย และทำให้คนไทยเก่งขึ้น จะดีใจที่สุดเวลาลูกค้ามาบอกว่า ตอนนี้ได้รับการโปรโมตแล้วนะ
งานที่ทำอยู่คือการเจียระไนเพชร ทำยังไงให้คนอบรมเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นเพชรได้
รู้สึกมาตลอดว่าคนไทยเก่ง และเรามีหน้าที่ต้องดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาให้ได้ การนำเครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วยประเมินศักยภาพสามารถวัดโพรเทนเชียลที่ซ่อนอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะแอสเซสเมนต์เหล่านี้หลอกเราไม่ได้ การอบรมจึงช่วยสร้างความมั่นใจ เช่น ผลของแบบสอบถามแอสเซสเมนต์ออกมาว่า คุณมีแนวโน้มจะคิดเชิงกลยุทธ์ผู้นำได้ หน้าที่ของเราคือเพิ่มทักษะด้านการวางกลยุทธ์ให้คุณ
คร่ำหวอดอยู่วงการนี้มา 25 ปี ธุรกิจเทรนนิ่งเปลี่ยนโฉมหน้าไปทิศทางไหน
การเทรนนิ่งแบบเดิมไม่มีประสิทธิผลแล้ว เพราะการอบรมผู้บริหารระดับล่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายองค์กรได้ ทางออกคือ ต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยเราได้เปลี่ยนโฉมหน้าตัวเองมาเป็น “ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง” (SEAC) เพื่อเป็นเซ็นเตอร์ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำในอาเซียน ก่อนจะเปิดศูนย์นี้ ได้ไปเชิญโปรเฟส-เซอร์ชื่อดังของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา มาทำรีเสิร์ชลงลึกว่า แท้จริงแล้วคนไทยและคนอาเซียนขาดศักยภาพอะไร ผลวิจัยพบว่า พวกเราขาดนวัตกรรม ซึ่งถ้าพวกเราไม่มีอะไรใหม่ๆออกมาในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไปเร็วมาก ต่อไปคนไทยจะอยู่ไม่ได้และถูกทิ้งรั้งท้าย เราถามตัวเองว่า ทำไมมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกสามารถสร้างคนที่ไม่ธรรมดา แล้วถ้าเราอยากจะทำให้เกิดแบบนั้นในบ้านเรา จะดึงมหาวิทยาลัยเหล่านี้เข้ามาในเมืองไทยอย่างไร เมื่อรู้ว่าปัญหาของเราคือนวัตกรรม จึงติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อขอให้เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับเรา ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะสำเร็จ
...
ความร่วมมือกับสแตนฟอร์ดจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ภาคธุรกิจเมืองไทย
เป้าหมายของเราคือ ทำยังไงให้คนไทยและคนอาเซียนมีนวัตกรรมใหม่ๆออกมาให้ได้ สแตนฟอร์ดบอกว่าเราจำเป็นต้องพาผู้บริหารระดับเจ้าของกิจการบินไปที่สแตนฟอร์ด เพื่อรับฟังว่าสถานการณ์โลกตอนนี้เปลี่ยนไปเร็วขนาดไหน SEAC ได้พาผู้บริหารระดับสูงของไทยไปอบรมมาแล้ว 2 รุ่น คนที่ไปกับเราก็เช่น คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ซีอีโอค่ายเอพี ไทยแลนด์, คุณยุทธชัย จรณะจิตต์ จากอิตัลไทยกรุ๊ป, คุณจอห์น ไฮเนคกี้ จากไมเนอร์กรุ๊ป และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารหลายแห่ง หลักสูตรนี้ชื่อว่า “Leading in a Disrup-tive World” ใช้เวลาอบรม 3 เดือน ต้องไปอยู่ที่สแตนฟอร์ด 5 วันเต็มๆ โดยทางสแตนฟอร์ดจะคัดเฉพาะอาจารย์เก่งๆระดับร็อกสตาร์โปรเฟสเซอร์ 6-7 คน มาพูดให้พวกเราฟัง เพื่อให้เห็นภาพว่าโลกใบนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว จากนั้นทุกคนจะต้องเขียนแอคชั่นแพลนว่าจะปรับเปลี่ยนองค์กรยังไง แล้วกลับมาเวิร์กต่อว่าควรปรับเปลี่ยนองค์กรไปในทิศทางไหน
สถานการณ์โลกตอนนี้น่ากลัวขนาดไหน
...
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้น่ากลัวมาก สแตนฟอร์ดบอกเลยว่าของที่มีอยู่มันจบยุคแล้ว และให้เปิดใจหาของใหม่ แล้วคุณจะอยู่ได้!! การพึ่งสตาร์ทอัพก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ผู้นำองค์กรต้องคิดแล้วว่าจะนำธุรกิจแบบใหม่ยังไง จะขายแบบใหม่ยังไง จะทำการตลาดแบบใหม่ยังไง ทุกธุรกิจโดนผลกระทบหมดไม่มีเว้น อย่าไปคิดว่าเรายังมีเจนแก่ๆเป็นลูกค้า สแตนฟอร์ดบอกเลยว่าเจนแก่ๆก็เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปตามลูกหลาน ต้องถามตัวเองว่าลูกค้าเคยซื้อของแบบนี้ ทุกวันนี้ยังซื้ออีกไหม วันนี้ไม่ใช่แค่มองคู่แข่ง แต่ต้องมองทุกอย่างรอบตัว ยุคของความปั่นป่วนจะไม่จบภายในเวลา 5-8 ปี ตอนนี้อเมริกาโดนเขย่าแรงมาก เมืองไทยยังไม่โดน แต่สปีดของเทคโนโลยีจะทำให้กระทบเมืองไทยแรงๆภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจรีเทลจะโดนหนักสุด รองมาคือธนาคาร, ธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจโรงแรม, เอเจนซี่ท่องเที่ยว และธุรกิจร้านอาหาร
เราจะรอดจากสงครามความปั่นป่วนนี้ไปได้อย่างไร
ถ้าธุรกิจไหนไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆออกมา ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะอยู่ไม่ได้ สปีดของความปั่นป่วนมาเร็วขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เราคิดว่ารู้แล้ว เผลอแป๊บเดียวก็เป็นของเก่าใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าอยากเอาตัวรอดให้ได้ต้องแกะเทรนด์ให้ออกว่าลูกค้าของเราต้องการอะไร วันนี้ไม่มีบริษัทไหนไม่ต้องหาวิธีขายใหม่ทำการตลาดใหม่ ผู้นำองค์กรต้องบอกตัวเองว่ายายังมีวันหมดอายุ บริษัทก็ต้องหมดอายุเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่มีมาต้องถูกทำลาย แต่โจทย์ใหญ่คือต้องหาให้ได้ว่าหน้าตาแบบใหม่ของธุรกิจเราต้องเป็นยังไง จะมาปรับนิดๆหน่อยๆมันไม่เวิร์ก หลอกผู้บริโภคไม่ได้ ต้องเปลี่ยนชนิดพลิกโฉมหน้ากันไปเลย
“นอกจากจะอยากเห็นคนไทยเก่งขึ้นและไปยืนบนเวทีโลก ตอนนี้อยากเห็นประเทศไทยยืนหยัดได้ ไม่ล้าหลัง อยากให้องค์กร ใหญ่ๆของไทยตื่นจากความฝัน แล้วลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อความอยู่รอดของประเทศ เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ประเทศไทยต้องถูกทิ้งรั้งท้ายแน่ๆ ตอนนี้เรานำก็แต่เขมรกับลาวเท่านั้น”.
...
ทีมข่าวหน้าสตรี