ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมีการเติบโตสูงในตลาดเครื่องสำอาง.

ในวิถีชีวิตคนไทยเรามีพืชพันธุ์หลายชนิดที่ผูกพันกับความเป็นอยู่และวัฒนธรรมประเพณีมาแต่ครั้งโบราณกาล เช่น ข้าว กล้วย มะพร้าว ข้าวนั้นเป็นอาหารหลักที่ทุกคนย่อมทราบดีถึงความสำคัญ กล้วยนั้นก็เป็นอาหารชนิดแรกๆ รองจากนมแม่ที่ทารกได้กิน แม้ว่าในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปรไปเป็นอาหารเสริมสำเร็จรูปกันมากแล้วก็ตาม

สำหรับมะพร้าว ซึ่งเป็นหัวข้อที่คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนยกมาเล่าถึงในสัปดาห์นี้นั้น ก็เป็นหนึ่งในพืชสารพัดประโยชน์ที่คนไทยได้กินได้ใช้กันอยู่เป็นประจำ แม้ว่าบางคนที่อยู่ในเมืองอาจไม่ได้พบเห็นต้นมะพร้าวกันเท่าไรนัก แต่ในอาหารหลากหลายชนิดที่กินกันอยู่ทุกวันก็มีมะพร้าวเป็นส่วนผสมอยู่ไม่น้อย ทั้งจากกะทิในอาหารคาวหวาน จากน้ำตาลปี๊บ เนื้อมะพร้าวในขนมบางชนิด เนื้อและน้ำมะพร้าวอ่อนก็เป็นที่นิยมดื่มกัน หากสังเกตให้ดีรอบตัวเราจะมีสิ่งที่เกี่ยวพันกับพืชชนิดนี้อยู่มากมายเลยครับ

มะพร้าวนั้นใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน ตั้งแต่ใต้ดินขึ้นไปถึงยอดเลยก็ว่าได้ ในตำรายาไทยกล่าวว่า รากมะพร้าวมีรสฝาดหวานใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ หรือต้มน้ำอมแก้ปากเจ็บ เนื้อไม้จากลำต้นมะพร้าวใช้ในการก่อสร้างได้ แต่ควรใช้ในที่ร่ม ไม่โดนน้ำ สามารถอยู่ทนนานหลายสิบปี

...

ทางมะพร้าวใช้เป็นเชื้อเพลิง และตรงส่วนโคนของทางมะพร้าวนั้นยังเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการทำหน้ากากของผีตาโขนด้วยนะครับ โดยนำตรงส่วนโคนทางมะพร้าวมาเจาะช่องตา ใส่จมูก และนำหวดนึ่งข้าวมาทำเป็นส่วนของหมวกด้านบน จากนั้นก็ลงสีให้สวยงาม ถ้าไม่บอกก็ยากจะรู้ได้ว่าหน้ากากผีตาโขนอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวด่านซ้าย จังหวัดเลยนั้น ทำมาจากทางมะพร้าวธรรมดาๆนี่เอง

ใบมะพร้าวใช้เป็นส่วนประกอบในการห่อขนม เช่น ขนมใส่ไส้ นิยมนำใบมะพร้าวมาคาดทับใบตองเป็นเหมือนหูหิ้ว เรียกว่า “เตี่ยว” และยังนำมาสานเป็นของเล่นเด็กได้อีกหลายอย่าง อาทิ ปลาตะเพียน ตะกร้อ ตั๊กแตน ก้านใบก็ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว ทำไม้กลัดได้ นี่พูดถึงแบบคร่าวๆนะครับ เพราะถ้าจะเขียนประโยชน์ของมะพร้าวให้ครบทุกประการคงได้หนังสือเป็นเล่มแน่นอน

ยอดมะพร้าวนำไปทำอาหารได้หลากหลาย สมัยก่อนต้องรอจนกว่าจะถึงคราวจำเป็นต้องตัดต้นมะพร้าวทิ้งจึงจะได้กินยอด เพราะมะพร้าวที่ถูกตัดยอดจะตาย แต่ปัจจุบันมีการปลูกมะพร้าวเพื่อตัดยอดขาย ทำเราให้ได้กินของอร่อยกันง่ายขึ้น รกมะพร้าวซึ่งเป็นแผ่นเยื่อหุ้มผิวหยาบๆตรงส่วนคอมะพร้าว หรือช่วงกาบใบแถวๆยอดมะพร้าวนั่นแหละครับก็มีการนำไปทำเป็นสินค้าหัตถกรรมได้ ส่วนของจั่นหรือช่อดอกมะพร้าวก็สร้างอาชีพให้ชาวสวนได้ทำ น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลแว่น หรือทำเป็นน้ำตาลสดสำหรับดื่มก็หอมหวานชื่นใจ

มาถึงผลมะพร้าว ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่มีประโยชน์สารพัน ตั้งแต่เปลือกหรือกาบมะพร้าวใช้เป็นวัสดุเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะชาวสวนกล้วยไม้ถือว่าเป็นของจำเป็นมาก เพราะอุ้มน้ำ รักษาความชื้นได้ดี เส้นใยกาบมะพร้าวใช้เป็นวัสดุยัดไส้ในเฟอร์นิเจอร์ ทำเชือก ทำแปรงขัด กะลามะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนสูง ใช้ทำงานศิลปหัตถกรรม เครื่องประดับ ตะปิ้งที่เด็กหญิงยุคอดีตใช้ปิดบังกันโป๊ในระดับชาวบ้านก็ยังนำกะลามะพร้าวมาตัดเป็นแผ่นใช้กันเลยครับ รวมถึงหลายๆคนก็ได้หัดว่ายน้ำด้วยการใช้มะพร้าวสองลูก เอามาฉีกเปลือกเป็นเส้นผูกติดกันเหมือนลูกตุ้มใช้แทนห่วงยางได้แบบง่ายๆ

น้ำตาลมะพร้าว.
น้ำตาลมะพร้าว.

แฟนานุแฟนทราบไหมครับว่า คำว่านาฬิกาที่เราใช้ดูเวลาก็มีที่มาจากกะลามะพร้าวนี่เอง เพราะคำว่า นาฬิกามาจากคำภาษาบาลีว่า“นาฬิเกร” (นา-ลิ-เก-ระ) แปลว่า มะพร้าว เนื่องจากสมัยก่อนนั้นมีการใช้กะลามะพร้าวเจาะรูลอยน้ำ เมื่อกะลานั้นจมครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่านาฬิกาหนึ่ง หรือคำว่า “ทะนาน” ที่เป็นมาตราชั่งตวงวัดสมัยโบราณก็มีที่มาจากชื่อเครื่องตวงที่ทำด้วยกะลามะพร้าวครับ เทศกาลลอยกระทงสายเราก็ได้กะลามาทำเป็นกระทงใส่เทียน ถ่ายทอดความงามของประเพณีไทย แถมกะลามะพร้าวยังกินได้อีกด้วยนะครับ กะลาของมะพร้าวที่ยังอ่อน ยังไม่มีเนื้อมะพร้าว ทางภาคใต้เรียกกันว่า “เหมงพร้าว” นิยมนำมาแกงกะทิ เคี้ยวกรุบๆ อร่อยดี แบบนี้ดูถูกกะโหลกกะลาไม่ได้เลยนะครับ

...

เนื้อมะพร้าวกินได้ตั้งแต่ยังอ่อนเคี้ยวนุ่มหวานมัน มะพร้าวทึนทึก เนื้อเกือบแข็งก็นำมาทำขนม มะพร้าวแก่เนื้อแข็งขูดมาผสมในอาหารจำพวกผัดเผ็ดบางชนิด หรือคั่วใส่ในยำหนังหมูก็อร่อย เมี่ยงคำก็ใช้มะพร้าวซอยเป็นชิ้นเล็กคั่วให้หอม นอกจากจะนำไปคั้นกะทิไว้ทำอาหารคาวหวานแล้ว เนื้อมะพร้าวยังเอาไปเคี่ยวทำน้ำมันมะพร้าวได้อีก หรือจะผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซลก็ยังได้ ยุคนี้ผู้ที่รักสุขภาพรักสวยรักงามก็หันมาใช้ประโยชน์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นกันอย่างแพร่หลาย

น้ำมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มที่ชาวต่างชาตินิยมกัน มะพร้าวน้ำหอมของไทยเรานั้นขึ้นชื่อเรื่องความหอมหวานโดนใจ จะดื่มแบบสดหรือทำเป็นมะพร้าวเผาก็อร่อย มีแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด นำน้ำมะพร้าวไปแปรรูปเป็นวุ้นมะพร้าวก็ได้ จาวมะพร้าวภายในผลจะกินเล่นก็อร่อย หรือนำไปทำเป็นฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืชก็ได้ผลดี

ประโยชน์ของมะพร้าวนั้นมากมายยากจะสาธยายให้หมดสิ้น มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของพวกเราอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่เล็กจนโต จนถึงวันตายก็ว่าได้ เพราะคนไทยเราแต่โบราณใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ ด้วยถือว่าน้ำมะพร้าวนั้นสะอาดปราศจากมลทิน เนื่องจากมีทั้งกะลาและเปลือกหนาห่อหุ้มอยู่ ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ก็กำหนดให้ปลูกมะพร้าวบริเวณทิศตะวันออกของบ้านเพื่อให้เป็นสิริมงคลคนที่เกิดปีชวด ปีเถาะ ก็จัดให้มะพร้าวเป็นมิ่งขวัญของคนที่เกิดในปีดังกล่าว ในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ฮินดูมักจะจัดให้มีมะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องสังเวย ด้วยเชื่อว่ามะพร้าวเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์เหมาะแก่การชำระล้างและใช้ดื่มเพื่อเป็นสิริมงคล

...

แต่ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกมะพร้าวในบ้านเรานับวันมีแต่จะลดน้อยลงไป ทั้งที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้กันอีกมาก ทุกวันนี้ไทยเราต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศปีละมากๆ ฟังดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมครับ

ในภาวะที่ภายหน้าเราอาจจะขาดแคลนมะพร้าว รวมถึงเสียโอกาสที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ทางภาครัฐจึงได้ดำเนิน “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว” ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างเครือข่าย และยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตให้แก่กลุ่มเป้าหมายทั้ง “ต้นน้ำ” ได้แก่ ภาคเกษตรกร โดยสนับสนุนให้มีการเพิ่มผลผลิต ด้วยการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก และพันธุ์มะพร้าวคุณภาพดีแก่ผู้ปลูกเดิม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ สนับสนุนให้เกิดเกษตรกรผู้ปลูกใหม่ในพื้นที่เป้าหมาย รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และอีกหลายอำเภอใน จ.นครสวรรค์ และ จ.สตูล เพื่อบรรเทาการขาดแคลนมะพร้าวในประเทศ และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมกรณีปลูกมะพร้าว

...

แซมที่นา “กลางน้ำ” ได้แก่ ผู้ประกอบการ SME หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว โดยเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมของแต่ละกลุ่ม ทั้งทางด้านคุณภาพ มาตรฐานการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และ “ปลายน้ำ” โดยเพิ่มพูนความรู้ด้านการตลาด ส่งเสริมด้านการเพิ่มช่องทางจำหน่าย สร้างโอกาสการตลาดใหม่ๆ ด้านการส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยการพาสมาชิกเครือข่ายไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในงานมหกรรมอาหารระดับโลก ณ ประเทศจีน และไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับดี มียอดสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งการจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับห้างค้าปลีก-ค้าส่งที่มีชื่อเสียงในประเทศ และการทำตลาดออนไลน์ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดโลกที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปีแรกนี้ จะเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการต้นน้ำเป็นหลัก เนื่องจากผลผลิตมะพร้าวในปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยขณะนี้ได้มีการรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวไว้แล้วรวม 26 เครือข่าย มีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการ 3,300 ราย ในพื้นที่เป้าหมายรวม 17 จังหวัดที่มีสภาพเหมาะสมกับการปลูกมะพร้าว ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา สตูล ปัตตานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก นครสวรรค์ เลย ขอนแก่น หนองคาย นครราชสีมา และร้อยเอ็ด

สำหรับการส่งเสริมในส่วนอื่นๆ ทางภาครัฐก็กำลังดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มมูลค่า การยืดอายุสินค้า การลดกลิ่นของมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอาง มีการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรมต่างๆ รวมไปถึงสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจที่จะมีช่องทางการสร้างอาชีพเพิ่มขึ้น และยังน่าดีใจที่มะพร้าว พืชคู่บ้านคู่ครัวไทยจะไม่หายไปไหน ยังคงอยู่ให้เราได้ใช้ประโยชน์กันต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมาโดยตลอดครับ.

โดย : รายทาง
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน