ใครๆ ก็ล้วนอยากพัฒนาตัวเองเพราะมักรู้กันว่าการอยู่เฉยไปเรื่อยๆ นั้นคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ หลายๆ คนจึงมักมองหาลู่ทางต่างๆ หาทางเลือก หรือหาวิธีการในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง บางธุรกิจก็มองเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อที่จะให้ “อยู่รอด” และ “ก้าวหน้า” ไปกว่าเดิม

แต่เราก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นกันง่ายๆ มีคนจำนวนมากที่บอกว่า “อยากเปลี่ยนแปลง” แต่น้อยคนที่จะทำได้จริง หลายคนถามผมว่ามันเป็นเพราะเรื่องความรู้หรือเปล่า ในบางทีมันก็ใช่ว่าหลายๆ คนอาจจะไม่รู้วิธีการแต่หลายๆ ครั้งก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะทีเดียว หากแต่เป็นเรื่องเกิดขึ้น “ในใจ” ต่างหาก

1. กลัวและไม่กล้าเสี่ยง

ปัญหาใหญ่มากสำหรับหลายๆ คนคือการเปลี่ยนแปลง หรือการจะก้าวไปข้างหน้านั้นย่อมหมายถึงการออกจากจุดเดิมที่เราอยู่ ซึ่งแนวคิด Comfort Zone เป็นสิ่งที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างดี ทั้งนี้เพราะการได้ทำอะไรใหม่ๆ การต้องออกไปลองในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ คน เพราะมันนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะผิดพลาด เสี่ยงที่จะล้มเหลว จนหลายๆ คนเลือกจะกลับไปทำอะไรแบบเดิม ทำในสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยดีกว่าเพราะอย่างน้อยๆ ก็ยัง “อยู่สบาย” อยู่

อย่างไรก็ตาม การทำแบบนี้นั้นก็เป็นการเสี่ยงในระยะยาวเช่นกัน ผมมักพูดเสมอว่าถ้าเรายังทำงานอะไรเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ ไม่คิดจะเพิ่มความสามารถใหม่ๆ มันก็อาจจะทำให้เราอยู่ในวิกฤติในระยะยาวเมื่อสิ่งที่เราทำนั้นไม่เหมาะกับอนาคต และเมื่อถึงตอนนั้นจะมาปรับเปลี่ยนอะไรก็อาจจะไม่ทันแล้ว อย่าลืมว่าต้นทุนเรื่อง "เวลา" นั้นสำคัญกับชีวิตของเรามากและมันไหลไปแล้วไม่หวนคืนกลับ ถ้าเราเผลอเมื่อไรเราอาจจะพลาดท่ากันได้ง่ายๆ ฉะนั้นแล้วเราอาจจะต้องวางความกลัวต่างๆ ไว้แล้วไปลองเสี่ยงกับอะไรบางอย่างใหม่ๆ เพื่อดูลู่ทางที่จะก้าวต่อไปจากวันนี้นั่นแหละครับ

...

2. ยึดติดกับอดีต

อีกปัจจัยหนึ่งที่หลายๆ คนมักไม่อยากเปลี่ยนแปลงคือการยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่าดีอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะหลายๆ คนคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จดีและสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมานั้นเป็นเรื่องที่ดีพออยู่แล้วทำไมจะต้องไปทำอะไรใหม่ๆ อีก

การพอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น การคิดว่าวิธีการในอดีตเดิมของตัวเองนั้นเป็นบทพิสูจน์ของความสำเร็จและควรทำมันต่อไปอาจจะเป็นเรื่องอันตรายมากๆ เพราะมันก็ไม่เคยมีอะไรมาการันตีว่าสิ่งที่เคยเวิร์กเมื่อก่อนนั้นจะเวิร์กสำหรับวันพรุ่งนี้ เผลอๆ อาจจะได้ผลตรงกันข้ามก็ได้

ด้วยเหตุนี้แล้ว สิ่งที่นักพูดหลายๆ คนมักจะเตือนคนฟังคือมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ถ้าเราไม่ปล่อยมือจากมันแล้ว มันอาจจะทำให้เราไม่ได้ไปข้างหน้าในขณะที่บางคนอาจจะนำหน้าเราไปแล้วเพราะเขาไม่ต้องห่วงพะวงอดีตแบบเรา และนั่นเท่ากับทำให้เราเสียโอกาสเอาได้ ทางที่ดีคือเรายินดีกับมันได้ เรียนรู้จากมันได้ แต่ถึงเวลาที่บางอย่างมันไม่เหมาะ ไม่เข้ากับบริบทก็ต้องปล่อยมันไปให้เป็นอดีตและไม่เอามาตัดสินปัจจุบันกับอนาคตเพราะมันอาจจะไม่เข้าท่าเลยมากๆ

3. ไม่เดือดร้อน

กรณีนี้อาจจะแตกต่างจากสองข้อแรก เพราะมันคือคนที่ไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนว่าตัวเองจะต้องทำอะไรใหม่ๆ ทำแบบต่อไปมันก็ดีอยู่แล้วนี่ ทั้งนี้เพราะตัวเองไม่ได้มองเห็นหรือรู้สึกว่ามันมีโอกาสอยู่ข้างนอกนั่น ไม่ได้เดือดร้อนว่าตัวเองจะต้องดิ้นรนอะไรเพราะทุกอย่างก็ดูสบายๆ อยู่ในทุกวันๆ

แต่เคสนี้นั้นมักจะพบกับความบรรลัยเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงและมาถึงในวันที่เราไม่ได้ตั้งตัว หลายๆ คนเลยถึงกับน็อกเอาได้ ด้วยเหตุนี้เขาถึงมักเตือนกันเสมอว่าให้เปิดใจและมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่รอบตัวเราพร้อมผลักตัวเองไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ "ไม่ตกขบวน" หรือกลายเป็น “คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นั่นเองแหละครับ