ความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนหนีไม่พ้น แต่จะมีสักกี่คนที่กล้าเผชิญหน้ากับความตาย และเตรียมตัวตายอย่างมีสติตั้งแต่เนิ่นๆเฉกเช่น “คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” และ “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อให้ โอกาสตัวเองได้วางแผนชีวิตกับความตาย ก่อนที่วาระสุดท้ายจะมาถึง

“มีใครรู้บ้างว่าจะตายที่ไหน ตายอย่างไร และตายเมื่อไหร่ พระสงฆ์รูปหนึ่งเล่าว่า ท่านเห็นร่างของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ สิ่งที่ปรากฏในใจท่านคือ เมื่อตอนที่เขาตายจะรู้ไหมว่าเสื้อที่สวมอยู่เป็นเสื้อตัวสุดท้าย ตัวป้าเองคุ้นเคยกับความตายมาแต่ไหนแต่ไร เพราะแม่ตายตั้งแต่ไม่ถึง 3 ขวบ แต่สัจธรรมของความตายจริงๆปรากฏชัดเมื่อ 8-9 ขวบ วิ่งเล่นกับหมาชื่อเจ้าแดง รถเลี้ยวเข้ามาชนมัน ยังจำได้ถึงวันนี้ ลิ้นชมพูที่ห้อยออกมา การต่อสู้เพื่อจะมีลมหายใจต่อ เราฉงนมากว่า ความมีชีวิตชีวาของมันหายไปไหน เหลือแต่ร่างปวกเปียกนอนแนบกับพื้นดิน จากวันนั้นถึงวันนี้ป้าเห็นความตายมาหลากหลาย มีความรู้สึกว่าชีวิตเราเหมือนเพลง มีโน้ตแรกและโน้ตสุดท้าย เราฉลองโน้ตแรกทุกปี แต่ป้าอยากพูดถึงโน้ตสุดท้ายของชีวิตเพื่อให้คนไทยกล้าเผชิญหน้ากับความตายอย่างมีสติ”...คุณหญิงจำนงศรีบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสตายดี และเตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรี

...

อะไรเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ลุกขึ้นต่อสู้เรื่องนี้

คุณหญิงจำนงศรี : ความทรงจำที่ฝังใจจนป้าต้องลุกขึ้นมาผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบที่เอื้อให้คนไทยได้ตายดี มีแรงบันดาลใจจากความตายของนายแพทย์วัย 90 ปีเศษท่านหนึ่ง ท่านนอนอยู่ในไอซียูมีท่อช่วยหายใจคาคออยู่ 1 เดือน มือเท้าถูกมัดกับเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ดึงท่อช่วยหายใจออกทุกครั้งที่ความดันตก หมอจะฉีดยากระตุ้นความดันให้หัวใจบีบตัวทำงานต่อ เวลาเราเข้าไปเยี่ยม ท่านมองด้วยสายตาวิงวอนมีน้ำตาไหล เหมือนจะถามว่าทำไมฉันต้องมาถูกจองจำอย่างไร้ศักดิ์ศรีแบบนี้ ลูกๆทุกข์มาก แต่ไม่กล้าพูดกับหมอให้หยุดยื้อชีวิตพ่อตัวเอง ป้าเป็นตัวแทนญาติพูดกับคุณหมอ หมอเจ้าของไข้ถามหมออีกคนหนึ่งว่าญาติจะให้หยุดยื้อชีวิต ควรทำอย่างไร คุณหมอท่านนั้นตอบว่าถ้าเป็นพ่อผม ผมจะหยุดยื้อชีวิต!! นั่นล่ะค่ะท่านถึงได้จากไปอย่างสงบตามกระบวนการธรรมชาติ

กิติพงศ์ : ภรรยาผมเพิ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเมื่อต้นปี 2558 หลังต่อสู้มานานกว่า 11 ปี แรกเริ่มเธอป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ แล้วแพร่กระจายจนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งที่ปอด การแพร่ของมะเร็งในระยะท้ายไปต่อมน้ำเหลืองและปอดรวดเร็วมาก ใช้เวลาเพียงปีเดียว ตอนนั้นผมและภรรยาพยายามหาวิธีรักษาทุกอย่างทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก แต่แพทย์วินิจฉัยว่าโรคได้ลุกลามเข้าสู่ระยะท้าย ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ ภรรยาผมจึงรับการรักษาดูแลแบบประคับประคองไปกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ขณะเดียวกัน ก็ทำพินัยกรรมชีวิตไว้ เพื่อปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิต ตามคำแนะนำของคุณหญิงจำนงศรี แต่สำหรับผมแล้วยังรู้สึกว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำอีกมาก

...

สิ่งค้างคาใจที่อยากย้อนเวลากลับไปแก้ไขคืออะไร

กิติพงศ์ : ผมรู้สึกว่าการดูแลแบบประคับประคองของผมยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากขาดความรู้ แม้ตัวผมและภรรยาจะเข้ารับอบรมปฏิบัติมรณานุสติกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แต่เราไม่มีโอกาสพูดคุยกันแบบเปิดอก หรือกล่าวลากันอย่างจริงจัง (น้ำเสียงเศร้า) ผมค้างคาใจว่ายังมีอะไรไหมที่เป็นความปรารถนาของเธอ แต่เธอไม่ได้บอกผม เพราะตลอดหลายปีที่ต่อสู้กับมะเร็ง เรามีความหวังลึกๆว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันนานกว่านี้ หรือรอให้ลูกทั้งสองเป็นฝั่งเป็นฝาก่อน แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วเหลือเกิน กระทั่งวาระสุดท้ายก็ไม่ได้เตรียมอะไรให้สมบูรณ์ ผมไม่อยากให้คนอื่นต้องมีสภาพเดียวกับผม เมื่อเจอใครมีญาติเป็นมะเร็ง อยากให้อ่านหนังสือ “ญาติจะช่วยดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร ให้ชีวิตมีคุณค่าในเวลาที่เหลืออยู่” เขียนโดย “ศ.แสวง บุญเฉลิม-วิภาส” จากประสบการณ์จริงในการดูแลน้องสาวที่เป็นมะเร็งรังไข่มา 10 ปี ตัวผมเองไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนภรรยาป่วย ทำให้ไม่เข้าใจอาการเจ็บป่วยและวิธีดูแลรักษา ตลอดจนการสื่อสารเพื่อบอกความจริงกับภรรยาให้เผชิญหน้าความตายอย่างมีสติและถ้าเราเลือกได้ก็ควรเลือกที่จะตายดี

...

ตายแบบไหนที่จะเรียกว่าตายดีคะ

คุณหญิงจำนงศรี : เราจะพูดถึงคุณภาพความตายที่อยากให้ผู้ป่วยตายดี หนึ่งกายต้องไม่ทุกข์ทรมาน ไม่อึดอัดไม่เจ็บป่วย ด้านจิตใจต้องไม่วิตกกังวลไม่หงุดหงิด และสำคัญที่สุดต้องไม่หวาดกลัวความตาย ด้านสังคมคือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ต้องไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ ไม่รอคอยไม่กังวลไม่เป็นห่วง ส่วนด้านจิตวิญญาณจะต้องตายด้วยความสุขสงบ มีอิสรภาพจากการยึดติดทางกายใจและสังคม

กิติพงศ์ : การแสดงเจตนาล่วงหน้าว่าควรได้รับการปฏิบัติอย่างไรในวาระสุดท้าย การกล่าวลาบุคคลที่ตนเองรัก และสะสางสิ่งที่ค้างคาในใจ เป็นเรื่องที่ควรกระทำที่สุด และเป็นสิทธิของผู้ป่วยเลือกว่าจะเตรียมตัวรับกับความตายอย่างไร นี่คือหลักการของการให้โอกาสผู้ป่วยได้ตายดี และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย

การทำพินัยกรรมชีวิต (Living Will) สำคัญ อย่างไรคะ

กิติพงศ์ : ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 พินัยกรรมชีวิตคือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ พินัยกรรมชีวิตมีไว้เพื่อสื่อสารกับครอบครัวให้เข้าใจถึงความต้องการในระยะสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวิธีรักษาในระยะสุดท้ายการจัดการงานศพ หรือคำสั่งเสียของผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต เพื่อให้หมดความกังวล ยอมรับความตาย และจากไปอย่างสงบ แต่พินัยกรรมชีวิตไม่ใช่การทำหนังสือเพื่อให้บุคคลที่เจ็บป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้จบชีวิตลงอย่างไม่ทุกข์ทรมาน ที่เรียกว่า “การุณยฆาต” ซึ่งทำไม่ได้ตามกฎหมายไทย

...

ทำไมเราต้องทำหนังสือปฏิเสธรับการรักษาไว้ล่วงหน้า

กิติพงศ์ : นอกจากเหตุผลเรื่องการตายดี หรือการตายอย่างมีสติแล้ว ยังมีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ควรทราบ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนราคาแพง ซึ่งมุ่งหาเงินจากการดูแลรักษาทั้งที่ทราบว่าอาจจะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ มีผู้ป่วยบางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 20 ล้านบาท เพราะโรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมให้กลับบ้าน หรือกรณีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีผู้ป่วยด้านสมอง ซึ่งมีโอกาสหายเพียง 3% แต่โรงพยาบาลเอกชนเก็บตัวไว้ และในที่สุดผู้ป่วยก็เสียชีวิต โดยมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเกือบ 400,000 บาท กระนั้น กรณีดังกล่าวไม่เกิดกับโรงพยาบาลรัฐ เพราะหมอพูดความจริงกับญาติ และให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ปัจจุบันระบบฮอสพิส สถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้ตายดี ยังไม่แพร่หลายในไทย จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ทุกฝ่ายเพื่อตระหนักถึงความต้องการแท้จริงของผู้ป่วย

สำหรับคนทั่วไปจะทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาได้อย่างไร

กิติพงศ์ : สามารถเข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ http://www.thailivingwill.in.th/ การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับญาติในการวางแผนรักษา เมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่แสดงเจตนาได้ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการใช้เครื่องมือการแพทย์ต่างๆ ที่สำคัญญาติผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องสิ้นเนื้อ ประดาตัวหาเงินมารักษาทั้งๆที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่จะฟื้นได้

การไม่ยื้อชีวิตบุพการีจนถึงที่สุด ขัดต่อหลักกตัญญูของสังคมไทยไหมคะ

คุณหญิงจำนงศรี : มีญาติผู้ป่วยจำนวนมากต้องหมดเนื้อหมดตัวและเผชิญกับคุณภาพชีวิตแหลกสลาย เพราะการยื้อความตายบุพการี แต่ในนามของความกตัญญู ป้าขอตั้งคำถามเรื่องนี้ ป้าได้ยินบ่อยมากว่ารักบุพการีเหลือเกิน ทนไม่ได้ที่จะไม่มีท่าน จึงต้องยื้อท่านเอาไว้...แล้วบาปไหมที่จะไม่ทำทุกอย่างให้บุพการีหายใจอยู่ยาวที่สุด...คนอื่นเค้าจะว่าเรายังไง ป้าอยากให้พิจารณาว่านี่คือความกตัญญูแท้จริงหรือเปล่า?! ถ้ามันไม่ใช่เจตนารมณ์ของบุพการี มีเคสหนึ่งที่อังกฤษ คนแก่นอนโคม่าในโรงพยาบาล 4 ปี ไม่มีการสื่อสารเลย วันหนึ่งแพทย์บอกว่าต้องผ่าตัดเพื่อยื้อชีวิตท่าน แต่ลูกหลานปฏิเสธการผ่าตัดและยืนกรานว่าจะขอปล่อยไปตามธรรมชาติ รู้ไหมว่าท่านลืมตาขึ้นมองลูก แล้วบอกขอบคุณ ก่อนจะเสียชีวิตในอีก 3-4 วันต่อมา

“ไม่ว่าเราจะมีระบบยังไงก็ตาม ลูกหลานจะดูแลอย่างไรก็ตาม คุณภาพความตายเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเจ้าของชีวิตไม่พร้อมที่จะตาย มันก็เหมือนนักดนตรีที่บรรเลงมาจนถึงวรรคสุดท้ายของชีวิตอย่างงดงามที่สุด ทุกคืนก่อนนอนป้าจะหลับตาคิดถึงภาพคนที่เรารักที่สุด และบอกลาพวกเขาทีละคน นึกถึงว่าพรุ่งนี้จะไม่ตื่นมีชีวิตอีกแล้ว สิ่งที่ค้างคาอยู่ไม่มีโอกาสทำแล้ว หมดสิ้นแล้วซึ่งอำนาจจะควบคุมสิ่งใดให้เป็นไปตามปรารถนา แม้กระทั่งร่างกายนี้ที่คิดว่าเป็นของเรา ป้าเตรียมตัวตายทุกวัน”.

ทีมข่าวหน้าสตรี