นาจา หรือหน่าจาซาไท้จื้อ เทพเด็กผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เกินเด็กของจีนองค์นี้ คงจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีของแฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน รวมถึงผู้ที่นิยมดูซีรีส์จีน โดยมีทั้งเรื่องที่สร้างจากตำนานของนาจาเอง หรือปรากฏเป็นตัวละครในตำนานอันโด่งดังอย่างไซอิ๋ว นอกจากนี้ ในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนก็ศรัทธานาจาอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากศาลเจ้าของเทพองค์นี้ที่พบได้หลายแห่ง

ทางฝั่งไทยเองก็มีนิทานพื้นบ้านที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากตำนานของนาจา โดยได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องโกมินทร์ ครั้งหนึ่งในปี 2546 จากต้นฉบับวรรณกรรมวัดเกาะ เรื่องพระโกมินทร์ เริ่มตีพิมพ์ตอนแรกในปี 2463 คนไทยบางส่วนก็รู้จักนาจาในนาม “เจ้าพ่อโกมินทร์” ซึ่งมีศาลบูชาในบางแห่งด้วยเช่นกัน

ตำนานเกี่ยวกับนาจานั้นมีอยู่ถึง 4 สำนวนด้วยกัน ดังนี้

สำนวนแรก ย้อนกลับไปสมัยปลายราชวงศ์เซียง คาบเกี่ยวต้นราชวงศ์จิว ในรัชสมัยของจิวบุ้นอ้วงเป็นฮ่องเต้ ตำนานกล่าวถึงเทพหน่าจาซาไท้จื้อว่าเป็นบุตรคนที่ 3 ของแม่ทัพหลี่จิ้ง มีกำเนิดที่ไม่ปกติเพราะอยู่ในครรภ์มารดานานถึง 3 ปี 6 เดือนกว่าจะคลอด และเมื่อคลอดออกมาก็มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อหุ้มด้วยรก จนบิดาต้องใช้กระบี่ฟันก้อนเนื้อจึงปรากฏทารกเพศชายพันด้วยผ้าสีแดง ในมือถือห่วงทองคำ นั่น สร้างความปีติแก่ครอบครัวอย่างมาก นักพรตไท้อิกจิงยิ้งได้มาร่วมแสดงความยินดีกับแม่ทัพหลี่ และเห็นลักษณะนาจาว่าเป็นผู้มีบุญบารมีสูง จึงได้รับไว้เป็นศิษย์และถ่ายทอดวิชาให้ เมื่อนาจาอายุได้ 7 ขวบ ได้ออกไปท่องเที่ยวจนเกิดการวิวาทกับบุตรชายเจ้าสมุทร และพลั้งมือจนบุตรชายเจ้าสมุทรเสียชีวิต เจ้าสมุทรจึงมาแก้แค้นบิดาของนาจาโกรธเคืองบุตรของตนเป็นอย่างยิ่งจนนาจาต้องยอมผ่าท้องควักไส้ตนเองเพื่อชดใช้ความผิดด้วยชีวิต ต่อมาเทพไท้อิกจิงยิ้งได้ชุบชีวิตนาจาขึ้นมาใหม่ ตัวนาจาเองก็ได้ปฏิบัติธรรมจนเง็กเซียนแต่งตั้งให้เป็นขุนพลแห่งสวรรค์ มีอิทธิฤทธิ์ในการปราบภูตผีปีศาจ

...

เทพนาจา.
เทพนาจา.

สำนวนที่สอง ปรากฏในตำนานสมัยราชวงศ์หยวน (มองโกล) ในส่วนของการถือกำเนิดนั้นเหมือนกับสำนวนแรก แตกต่างกันตรงรายละเอียดการกระทำความผิดของนาจา ซึ่งกล่าวว่า นาจาในวัย 7 ขวบ ได้ไปท่องเที่ยวที่ทะเลตะวันออกและได้สร้างความวุ่นวายให้กับวังบาดาล เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับองค์ชายสาม บุตรของพญามังกรจนฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต พญามังกรโกรธมากและทูลต่อเง็กเซียนให้จับพ่อกับแม่ของนาจามาลงโทษ นาจาจึงชดใช้ความผิดด้วยการแล่เนื้อตนคืนแม่และตัดกระดูกคืนพ่อ สำหรับสำนวนนี้มีรายละเอียดความขัดแย้งระหว่างนาจากับบิดาเพิ่มจากสำนวนแรก ภายหลังนาจาคืนชีพ บิดาไม่พอใจที่ผู้คนต่างพากันกราบไหว้บุตรของตนเอง จึงสั่งให้ทำลายรูปปั้นนาจาทิ้งเสีย เป็นเหตุให้ผู้วิเศษไท่อี่ต้องชุบชีวิตขึ้นมาใหม่โดยใช้ก้านบัวแทนกระดูก รากบัวแทนเนื้อ ใยบัวแทนเอ็น และใบบัวแทนอาภรณ์ จากนั้นนาจาจึงได้กลับไปถล่มวังมังกรอีกหนหนึ่ง

สำนวนที่สาม ปรากฏในตำนานวัดและเทพเจ้าจีนของต้าฟู้ เป็นตำนานที่เท้าความถึงเรื่องราวก่อนการกำเนิดของนาจา ที่แม่ของนาจาฝันว่ามีนักบวชลัทธิเต๋ามาเข้าฝันแล้วบอกว่า เธอจะให้กำเนิดบุตรชายของสัตว์เหมือนม้ามีเขาเดียวกลางศีรษะ เมื่อนางให้กำเนิดนาจา เขามีความสูงถึง 2 เมตร สำหรับเรื่องราวของนาจาต่อจากนี้จะพ้องกับสำนวนที่หนึ่ง แต่จะกล่าวถึงบทบาทแม่ของนาจาในฐานะผู้สร้างวัด เพื่อให้ผู้คนมาสักการะเทพนาจา

นาจาปราบมังกร.
นาจาปราบมังกร.

สำนวนสุดท้าย เท้าความถึงเมื่อครั้งที่นาจาเป็นราชรถเทียมม้าของเง็กเซียนฮ่องเต้ มีลักษณะที่โดดเด่นด้วยความสูง 9 เมตร มี 3 เศียร 9 เนตร 8 กร เป็นเทพที่มีฤทธิ์เดชมาก เง็กเซียนจึงมีบัญชาให้ไปจุติเพื่อปราบปีศาจ เนื้อเรื่องในส่วนการกำเนิด ปมปัญหาในชีวิต และการฟื้นคืนชีพจะคล้ายคลึงกับสำนวนที่สอง ทว่าในตอนท้ายมีรายละเอียดว่า ผู้ที่ชุบชีวิตนาจาจากที่วิญญาณต้องสิงสถิตอยู่ในดอกบัวคือ เจ้าแม่กวนอิม จนได้กลับมาเป็นเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์อีกครั้งหนึ่ง โดยในภายหลังเง็กเซียนได้แต่งตั้งให้นาจาเป็นขุนพลของเหล่าเทพ ทำหน้าที่รักษาประตูสวรรค์ (ข้อมูลอ้างอิงทั้ง 4 สำนวนจากบทความวิจัยเรื่อง “เทพนาจา” : ความหมายขององค์เทพผ่านตำนานและพิธีกรรมในบริบทสังคมร่วมสมัย ของกฤตยา ณ หนองคาย)

...

ย้อนกลับมาพิจารณาประเด็นเรื่องต้นกำเนิดของตำนานเทพนาจา เมเออร์ ชาฮาร์ (Meir Shahar) นักวิชาการชาวอิสราเอลแห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ผู้สนใจศึกษาวรรณกรรมและศาสนาของจีน ได้ศึกษาเปรียบเทียบตำนานเทพนาจาของจีนกับเรื่องราวในมหากาพย์เอาไว้ในบทความเรื่อง Indian Mythology and the Chinese Imagination : Nezha, Nalakubara, and Krshna อย่างน่าสนใจ

ชาฮาร์กล่าวถึงนาจาในฐานะเทพเด็กที่ชาวจีนจำนวนมากบูชา ถึงขั้นจัดว่าเป็นหนึ่งในหมู่เทพยอดนิยมของจีนเลยก็ว่าได้ กระนั้นก็ตาม การจะจัดจำแนกเทพองค์นี้ว่าอยู่ในศาสนาใดก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะเรื่องราวของนาจาปรากฏในตำนานของทั้งลัทธิเต๋าและพุทธศาสนานิกายตันตระ และยังปรากฏในวรรณกรรมจีนหลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่ บทละครงิ้วในสมัยราชวงศ์หยวน นวนิยายเรื่องไซอิ๋ว (แต่งขึ้นประมาณ ค.ศ.1592) และนวนิยายจีนสมัยราชวงศ์หมิงอย่างห้องสิน (ประมาณ ค.ศ.1620) นอกจากนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ตำนานมุขปาฐะเกี่ยวกับนาจายังถูกบอกเล่าต่อกันโดยทั่วไป

เห้งเจียต่อสู้กับนาจา.
เห้งเจียต่อสู้กับนาจา.

...

ชาฮาร์ศึกษาเรื่องราวของนาจาโดยใช้แนวคิดเรื่องปมออดิปุส (Oedipus Complex) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันระหว่างนาจากับบิดา และก่อนที่ชาฮาร์จะเสนอแนวคิดเกี่ยวกับต้นกำเนิดของนาจา เขาได้สรุปลักษณะสำคัญของทั้งตัวนาจาเองและเรื่องราวในชีวิตของนาจาเอาไว้ 5 ประเด็น ดังนี้ 1.เขาเป็นเด็กผู้ชาย 2.เขามีปมความขัดแย้งกับบิดา 3.เขาสามารถง้างคันธนูอันแสนหนักที่ไม่มีใครสามารถง้างได้ และ 4.เขาเป็นผู้กำราบมังกร

ชาฮาร์เสนอแนวคิดว่าแท้จริงแล้วตำนานนาจานั้น ชาวจีนได้รับมาจากทางอินเดีย เนื่องจากลักษณะเด่นของตำนานนาจานั้นพ้องกันกับตัวละครในมหากาพย์สำคัญของอินเดีย นั่นก็คือ มหาภารตะ โดยเฉพาะในส่วนของคัมภีร์ภควัทคีตา โดยนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า เทพเด็กของจีนนี้แท้จริงแล้วก็คือ นลกุเวร (Nalakubara of Nalakuvara) ซึ่งเป็นบุตรของท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ (Kubera or Vaisravana) สำหรับแนวคิดนี้แพร่หลายในหมู่นักวิชาการจีนพอสมควร

ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ.
ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ.

...

แม้กระทั่งชื่อ “Nezha” ก็ไม่ใช่ภาษาจีน แต่เป็นคำที่แผลงมาจากภาษาสันสกฤตของคำว่า Nalakubara นั่นเอง หลักฐานยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างคำทั้งสองนี้ปรากฏในพระสูตร มหามยุรีวิทยาราชาสูตร (The Great Peacock-Queen Spell) ของพุทธศาสนาในนิกายตันตระ ที่ต้นฉบับภาษาสันสกฤตได้รับการแปลเป็นภาษาจีน โดยในแต่ละช่วงเวลามีการถอดชื่อนี้ออกมาแตกต่างกัน ได้แก่ Naluojiupoluo (ประมาณ ค.ศ.635-713) Naluojubaluo (ประมาณ ค.ศ.705-774) และ Nazhajuwaluo ที่เป็นการถอดเสียงครั้งหลังสุดและเป็นที่มาของ Nezha ในขณะที่คัมภีร์มหามยุรีวิทยาราชาสูตรในภาษาจีนเรียก นลกุเวร สั้นๆ ว่า “Nazha”

ตำนานนาจาของจีนยังรับมาจากอินเดียผ่านทางพุทธศาสนานิกายตันตระ ดังจะเห็นได้จากการที่ภิกษุนาม อโมฆวัชระ (Amoghavajra) มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.705-774 ในสมัยราชวงศ์ถังของจีน ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเทพเจ้าของจีน ชาฮาร์จึงเชื่อว่าพุทธศาสนานิกายตันตระเป็นตัวกลางในการนำลัทธิการบูชานลกุเวรจากอินเดียมาสู่การบูชาเทพนาจาในจีน

พระกฤษณะในวัยเยาว์กับนลกุเวรและมณิครีวะ .
พระกฤษณะในวัยเยาว์กับนลกุเวรและมณิครีวะ .

จีนรับเอาเรื่องราวของอินเดียเข้ามาสวมทับกับประวัติศาสตร์โบราณของตนเอง กล่าวคือ ท้าวกุเวรถูกระบุว่าเป็นนักรบของจีนนามว่า แม่ทัพหลี่จิ้ง (Li Jing) ที่มีชีวิตอยู่ใน ค.ศ.571-649 ผู้ที่นำกองทัพของราชวงศ์ถัง เข้าพิชิตเอเชียกลางได้สำเร็จ ภายหลังเสียชีวิตเขาได้รับการบูชาประหนึ่งเทพ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1729) เรื่องราววีรกรรมของแม่ทัพหลี่จิ้งก็ได้กลายเป็นตำนานบอกเล่าและวรรณกรรม ในช่วงเวลานี้เองที่หลี่จิ้งถูกนำไปเชื่อมโยงกับท้าวเวสสุวรรณ โดยระบุว่าเป็นแม่ทัพสวรรค์ ชาฮาร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ที่แม่ทัพท่านนี้จะเป็นผู้ที่เลื่อมใสในท้าวเวสสุวรรณอย่างมากในเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ นั่นทำให้ชาวจีน บูชาตัวเขาเป็นตัวแทนของท้าวเวสสุวรรณเสียเอง

เมื่อตามตำนานนาจาเป็นบุตรชายของแม่ทัพหลี่จิ้ง ดังนั้น นาจาย่อมจะต้องเป็นบุตรคนใด คนหนึ่งของท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งท้าวเวสสุวรรณเองมีบุตรชาย 2 คน คือ มณิครีวะ และนลกุเวร ชาฮาร์เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้นักวิชาการระบุว่า นาจา คือนลกุเวร นั่นเป็นเพราะด้วยวีรกรรมของนาจานั้นมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี เขาจึงอยู่ระหว่างสภาวะของเทพ (god) กับมาร (demon) ซึ่งสภาวะดังกล่าวนี้เป็นสภาวะของพวกยักษ์ (yaksha) อันเป็นเผ่าพงศ์ของนลกุเวร ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างนาจากับบิดา ชาฮาร์เปรียบเทียบว่าอาจนำมาจากความขัดแย้งระหว่างนลกุเวรกับลุงของเขาซึ่งก็คือ ทศกัณฐ์ เนื่องจากทศกัณฐ์ได้กระทำการล่วงละเมิดภรรยาของนลกุเวร ทำให้เขาโกรธมากแต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับทศกัณฐ์ได้ ซึ่งเรื่องราวตรงนี้อาจไม่สอดคล้องกับปมความขัดแย้งของนาจากับบิดาตามตำนานจีน แต่ชาฮาร์ก็ยังมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างคนต่างยุคต่างรุ่น (generation conflicts)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตำนานจีนมี แต่มหากาพย์ ทางฝั่งอินเดียขาดหายไปคือ วีรกรรมการฆ่ามังกรและการง้างคันธนูของนาจา ตรงนี้เองที่ชาฮาร์ต้องพยายามหาคำอธิบายเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องราวในส่วนนี้ของนาจากลับไปพ้องกับชีวิตวัยเด็กของพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ในมหากาพย์มหาภารตะ ที่ในวัย 7 ขวบ ได้ต่อสู้และฆ่าพญานาค และเช่นเดียวกับนาจา พระกฤษณะในวัยเด็กก็มีปมออดิปุสด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ พระกฤษณะยังสามารถที่จะง้างธนูที่ไม่มีใครง้างได้ ซึ่งน่าจะเป็นต้นเค้าให้กับตำนานของนาจา

ศาลบูชาเทพเจ้านาจา.
ศาลบูชาเทพเจ้านาจา.

แต่การจะระบุว่านาจาคือ นลกุเวร หรือพระกฤษณะในวัยเด็กนั้น ยังเป็นเรื่องที่สับสนอยู่มาก ตัวชาฮาร์เองก็ไม่เชิงเห็นด้วยกับบรรดานักวิชาการที่สรุปเอาว่า นาจา คือนลกุเวร เนื่องจากความที่เป็นบุตรของท้าวเวสสุวรรณ ที่ในตำนานจีนระบุว่าเป็นแม่ทัพหลี่จิ้ง และด้วยความเลื่อมใสในท้าวเวสสุวรรณ ทำให้ชาวจีนผูกเรื่องราวของเขาเข้ากับเรื่องราวของพระกฤษณะในวัยเด็ก ชาฮาร์จึงสร้างข้อสรุปโดยที่ไม่อาจระบุได้ว่านาจาเป็นใครกันแน่ นั่นเพราะนาจาเป็นการผนวกรวมระหว่างนลกุเวรกับพระกฤษณะ แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนของชาฮาร์ก็คือ “เทพนาจามีต้นกำเนิดมาจากอินเดียอย่างแน่นอน”.


โดย : ศาสน์ธิว

ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน