องค์การอนามัยโลกได้แสดงความกังวลต่อภาวการณ์ป่วยด้วยโรคไตของประชากรโลก โดยระบุว่าเป็นปัญหาใหญ่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และได้ออกมาตรการเตือนประเทศสมาชิกให้ลดการบริโภคเกลือลงอย่างน้อย 30% เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตลง
สำหรับประเทศไทย ตัวเลขล่าสุดในปี 2559 คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 17.6% ของประชากร หรือราว 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายมากถึง 2 แสนราย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย
ขณะที่ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียงแค่ 400 ราย เท่านั้น นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยโรคไตในแต่ละปียังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 10,000 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการกินเค็มและสาเหตุจากโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งเฉพาะแค่เบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็น 2 โรคที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการป่วยด้วยโรคไตในระยะต่อมา และมีคนไทยป่วยด้วย 2 โรคนี้มากถึง 15 ล้านคน
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากภาวะไตวาย เป็นการตายก่อนวัยอันควร คือ เสียชีวิตในช่วงที่อายุน้อยกว่า 60 ปี
...
นอกเหนือจากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้ว การล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยโรคไตได้ ผศ.นพ.โอภาส ไตรตานนท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้ข้อมูลว่า การล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) เป็น 1 ใน 3 วิธีในการรักษาบำบัดทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยหลักการของการล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยจะได้รับการวางสายเพื่อใส่น้ำยาฟอกเลือดที่ผนังหน้าท้อง วิธีการคือผู้ป่วยจะใส่น้ำยาฟอกเลือดเข้าไปในช่องท้องและเปลี่ยนถ่ายน้ำยาเข้าออกวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งสามารถทำได้เองที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
“ที่น่ากังวลก็คือ ผู้ป่วยบางรายยังมีความเข้าใจหรือความเชื่อผิดๆว่าการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย หรือมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่าย ซึ่งไม่เป็นความจริง และทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากปฏิเสธการรักษา หรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้มากกว่า” คุณหมอโอภาสบอก พร้อมกับแนะนำว่า การล้างไตทางช่องท้อง เป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ดีวิธีหนึ่งที่ให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นการรักษามาตรฐานที่มีมานานแล้ว และในบางประเทศก็ใช้เป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต บอกด้วยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้รักษาด้วยวิธีนี้แล้วกว่า 20,000 ราย และมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี จนในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารับการล้างไตทางช่องท้องในปริมาณใกล้เคียงกับผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องด้วยตัวเองที่บ้านหลายคนมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ และที่สำคัญคือไม่น่ากลัวอย่างที่คิดหรือเคยได้ยินมา ส่วนเรื่องการติดเชื้อขึ้นอยู่กับเทคนิคการทำและวิธีการปฏิบัติตัว ซึ่งโดยปกติแล้วทางโรงพยาบาลจะมีแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญทำการสอนผู้ป่วยอย่างละเอียดถึงขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งทำให้ดูว่าทำได้ถูกต้องและสะอาดจริง มีการกำชับและติดตามขั้นตอนวิธีการทำสม่ำเสมอ ถ้าผู้ป่วย ใส่ใจและตั้งใจทำตามที่หมอและพยาบาลบอกอย่างเคร่งครัด โอกาสติดเชื้อมีน้อยมาก
...
กาญจนา เมืองแสน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง วัย 42 ปี เล่าว่า รักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้านมานานกว่า 10 ปี ยังไม่เคยเจอปัญหาการติดเชื้อ สิ่งสำคัญคือต้องทำตามที่หมอสั่งอย่างตั้งใจไม่ให้ขาด โดยเฉพาะ เรื่องการรักษาความสะอาด สำหรับตัวเองรู้ว่าเป็นโรคไตตั้งแต่อายุ 29 ซึ่งเป็นช่วงที่ตั้งท้องลูกคนที่สอง ปัจจุบันอายุ 42 ปี รักษามาสิบกว่าปีชีวิตก็ยังอยู่ดี และจะอยู่ต่อไปอีกนานๆ ดูลูกของเราเติบโต เหตุที่ตัดสินใจเลือกการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง เพราะว่าต้องทำงาน ต้องเลี้ยงลูก ไม่อยากมาเสียเวลาฟอกเลือดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 วัน ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
“เลือกการล้างไตทางช่องท้อง ไม่ต้องมาหาหมอบ่อยด้วย 2-3 เดือนครั้ง แล้วแต่คุณหมอจะนัด ดูแลรักษาตามอาการ เราก็มีหน้าที่บันทึกการรักษาต่างๆที่ได้ทำเองมาให้คุณหมอดู กินยาอย่างไร ล้างแผลอย่างไร โชคดีที่สามีช่วยทำแผลให้เราทุกวัน ดูแลกันก็ให้กำลังใจกันทุกวัน ความรู้สึกว่าเป็นคนป่วยมันก็หายไป ตื่นเช้าอาบน้ำแต่งตัวให้ลูก ทำกับข้าว ส่งลูกไปโรงเรียน ล้างไตตอนเช้าแล้วก็ออกไปขายของ นั่งรถกระบะไปขายหอมกระเทียมทั้งวัน ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ถึงเวลาต้องล้างไตก็ไปจอดรถในที่เงียบๆ แล้วก็ล้างไตด้วยตัวเองตามปกติ เสร็จแล้วก็ไปขายของต่อ กลับบ้านไปก็เตรียมอาหารให้ลูกๆ ล้างไตก่อนนอนอีกที ชีวิตก็มีความสุขดี ช่วงวันหยุดก็ไปเที่ยวได้ สนุกสนานกับลูกๆในทุกช่วงเวลาของชีวิตได้” กาญจนา เล่าอย่างมีความสุข
...
ผศ.นพ.โอภาส ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า เมื่อป่วยเป็นโรคไตแล้วควรต้องรีบรักษาและพบแพทย์เป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจติดตามการทำงานของไตเป็นระยะ ต้องมีการควบคุมอาหารอย่างใกล้ชิด ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็น อย่านิ่งนอนใจ เพราะโรคไตเป็นได้ทุกช่วงอายุ และปกติโรคไตจะพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่เป็นมานาน และไม่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม โรคไตบางชนิดเมื่อรู้ตั้งแต่แรกเริ่มอาจจะรักษาได้หายเป็นปกติ หรือชะลอไม่ให้ไตเสื่อมลงรวดเร็วจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย.