ตระการตา “วิหารหลวงพ่อเพชร” วัดท่าถนน จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยเรือนหรือตึกที่มีรูปทรงแบบหลังคาศาลาจีน...ก่อด้วยอิฐผสมผสานไปกับงานไม้เป็นเก๋ง เพื่อประโยชน์ใช้สอย

ลักษณะเป็นห้องหับชัดเจน มีรั้วรอบขอบชิด มีทางปิด...เปิด สำหรับเข้าออกได้สะดวก ใช้เป็น ศาสนสถาน และยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร” ที่ผู้คนเคารพศรัทธา

แรงศรัทธามานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะพ่อค้า...แม่ค้าชาวจีน นับรวมไปถึงชาวบ้านในเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อครั้งเริ่มต้นก่อสร้างก็ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคคนละนิดละน้อย นับเป็นเงินได้จำนวน 5,185.85 บาท...ราวๆปี 2473 และต่อเติมครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อปี 2541

“หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ ในบริเวณวัดมีอาคารศิลปะแบบตะวันตก สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2474 เป็นโรงเรียนปริยัติธรรมและภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรในเมือง ใครผ่านไปผ่านมามองดูแล้วก็เห็นตรงกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามน่าชื่นชม

ภายในพระอุโบสถยิ่งน่าสนใจด้วยมีจิตรกรรมฝาผนัง ที่ได้รับยกย่องว่าสวยงามที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์...โดยชาวอุตรดิตถ์นั้นต่างถือว่า “หลวงพ่อ เพชร” เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง

...

ทุกปีจะมีงานใหญ่...นมัสการประจำปีในวันกลางเดือนสี่

วิสุทธิ์ ราชพลแสน ผู้ดูแลวิหารหลวงพ่อเพชร เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่มาบนบานหลวงพ่อเพชร ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเรื่องการงาน การเรียน ธุรกิจการค้าการขาย ซึ่งแต่ละปีจะมีคนมาแก้บนเป็นจำนวนมาก ทั้งหัวหมู ไก่ต้ม ไข่สด ไข่ต้ม จำนวนมากมาย

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงหลวงพ่อเพชร เสียงร่ำลือในเรื่องต่างๆ...โดยเฉพาะแรงศรัทธาที่ทำให้สมหวังตามที่ตั้งใจ เมื่อมีการมาขอให้หลวงพ่อช่วยเหลือ

ประวัติความเป็นมา “วัดท่าถนน” เดิมทีมีชื่อว่า “วัดวังเตาหม้อ” ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่าน ถนนเกษมราษฎร์ ตำบลท่าอิฐ เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสัมฤทธิ์เก่าแก่ นั่งขัดสมาธิเพชร

กล่าวกันว่าในปี 2436 ขณะหลวงพ่อด้วง เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เดินทางกลับมาจากรับนิมนต์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล...เมื่อผ่านวัดสะแกที่เป็นวัดร้างได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่ มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่มีลักษณะงดงามมาก

หลวงพ่อด้วงเห็นว่าวัดหมอนไม้ไม่มีพระอุโบสถที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับมีประชาชนจำนวนมากทราบข่าวก็พากันมากราบไหว้สักการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ...เมื่อเสียงลือเสียงเล่าอ้างดังไปทั่วก็อาจเป็นที่หมายปองของโจรผู้ร้ายจะมาฉกชิงไปเสีย

จึงตัดสินใจนำมาประดิษฐานไว้ที่...วัดท่าถนน

วัดท่าถนนมีพระอุโบสถพร้อม ตั้งอยู่ในที่ชุมนุมชน สะดวกแก่การไปนมัสการ วันเวลาผ่านไปผู้คนต่างพากันมากราบไหว้ เป็นที่ศรัทธาเสมอมานับแต่นั้น ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร จึงพากันเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร”

ช่วงปีพุทธศักราช 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ได้มีการรวบรวมพระพุทธรูปที่เก่าแก่และสวยงามที่อยู่ตามหัวเมืองต่างๆมาประดิษฐาน พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรมีพุทธลักษณะงามก็ได้รับการเลือกสรรให้อัญเชิญมาพร้อมกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆจากทั่วราชอาณาจักร

...

การที่ต้องนำหลวงพ่อเพชรไปจากวัดวังเตาหม้อทำให้เจ้าอาวาสเสียใจมาก จึงได้ออกจากวัดธุดงค์ไปในที่ต่างๆ สุดท้ายได้มรณภาพบนภูเขาในป่า บ้านนาตารอด ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

กระทั่งในปีพุทธศักราช 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรกลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อตามคำขอของชาวเมืองอุตรดิตถ์ และในปี 2473 พระครูธรรมกิจจาภิบาลร่วมกับประชาชนชาวเมืองอุตรดิตถ์ได้ช่วยกันสร้างพระวิหารขึ้นมาใหม่...อัญเชิญหลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสักการบูชาได้สะดวก

“หลวงพ่อเพชร”...อีกหนึ่งตำนานศรัทธา เป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนทั่วไป.


รัก-ยม