นักต้มตุ๋น โกหกเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทุกวันนี้ แฟรงก์ อาบักเนล, จูเนียร์ เป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยซึ่งมีคนนับหน้าถือตา แต่การต้มตุ๋นอย่างโจ๋งครึ่ม สมัยหนุ่มๆ ของเขาคือที่มาของภาพยนตร์เรื่อง จับให้ได้ ถ้านายแน่จริง (Catch Me if You Can) อาบักเนล ผู้หนีออกจากบ้านตอนอายุ 16 ปี และเอาตัวรอดด้วยไหวพริบปฏิภาณ กลายเป็นนักปลอมแปลงเช็ค นักโทษ และนักต้มตุ๋น “ผมต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเอาตัวรอดครับ” เขาบอก “ผมเสียใจและจะเสียใจเรื่องนี้ไปตลอดชีวิต”
ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเต็มไปด้วยคนลวงโลกที่เหลี่ยมจัดและโชกโชน บ้างเป็นอาชญากรที่แต่งเรื่องต้มตุ๋นเพื่อหลอกเอาเงินโดยมิชอบ เช่น นักการเงินชื่อ เบอร์นี เมดอฟฟ์ ผู้หลอกให้นักลงทุนจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่หลายปี จนธุรกิจแชร์ลูกโซ่ของเขาพังครืนลง บ้างเป็นนักการเมืองที่โกหกเพื่อให้ได้อำนาจหรือไม่ก็เพื่อรักษามันไว้ เช่น ข่าวฉาว ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้ปฏิเสธว่า เขาไม่มีส่วนพัวพันกับคดีวอเตอร์เกต
จอมลวงโลกเหล่านี้โด่งดังเพราะผลอันเลวร้าย ไร้ยางอาย และความเสื่อมเสียจากพฤติกรรมที่พวกเขาก่อขึ้น แต่การหลอกลวงไม่ได้ทำให้พวกเขาผิดปกติอย่างที่เราอาจคิด เพราะการโป้ปดมดเท็จหล่อหลอมพฤติกรรมมนุษย์มาเนิ่นนาน
กลายเป็นว่าการโกหกคือสิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่ทำได้ช่ำชองยิ่ง เราโกหกคล่องปากทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก ทั้งกับคนแปลกหน้า เพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และคนที่เรารัก ความสามารถในการคิดไม่ซื่อคือรากฐานของชีวิตมนุษย์พอๆ กับความจำเป็นที่ต้องไว้ใจคนอื่น และนั่นก็ทำให้เราจับโกหกได้แย่อย่างน่าหัวร่อ การโป้ปดถักทออยู่ในสายใยวัฒนธรรม ของเรามากเสียจนพูดได้เต็มปากว่า การโกหกคือธรรมชาติของมนุษย์
...
พฤติกรรมโกหกที่พบทุกหนแห่ง ได้รับการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบครั้งแรกโดย เบลลา เดเปาโล นักจิตวิทยา สังคมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนตาบาร์บารา ย้อนหลังไป 20 ปีก่อน เดเปาโลกับเพื่อนร่วมงานพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยพูดไม่จริงเฉลี่ยวันละหนึ่งถึงสองครั้ง การพูดไม่จริงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรง โดยมีเจตนาจะซ่อนความบกพร่องของตนหรือถนอมน้ำใจผู้อื่น
บางครั้งก็เป็นข้อแก้ตัว คนหนึ่งบอกว่า ที่ไม่เอาขยะไปทิ้งเพราะไม่รู้ว่าต้องทำแบบนั้น แต่บางครั้งก็ทำเพื่อสร้างภาพจอมปลอม เช่น อ้างตัวเองว่าเป็นลูกชายนักการทูต ผลการศึกษาต่อมาของเดเปาโล ชี้ว่า ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิต คนส่วนใหญ่ “โกหกจริงจัง” หนึ่งหรือหลายเรื่อง เช่น ปิดบังความไม่ซื่อสัตย์ของตนจาก คู่สมรส หรือส่งหลักฐานเท็จเพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย
เราไม่ควรแปลกใจที่มนุษย์ทุกหนแห่งมีพรสวรรค์ในการหลอกลวงกันเอง นักวิจัยสันนิษฐานว่า การโกหกเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่นานหลังภาษาถือกำเนิดขึ้น ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากบุคคลอื่นโดยไม่ต้องใช้กำลังขู่ บังคับน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการแย่งชิงทรัพยากรและคู่ครอง “การโกหกเป็นเรื่องง่ายมาก เมื่อเทียบกับวิธีแสวงหาอำนาจอื่นๆ” ซิสเซลา บ็อก นักจริยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกและเสริมว่า “การโกหกเพื่อหลอกเอาเงินหรือสมบัติ จากใครสักคนนั้นง่ายกว่าการตีหัวเขาหรือปล้นธนาคารมากทีเดียว”
การโกหกไม่ต่างจากการหัดเดินและหัดพูดตรงที่เป็นหมุดหมายหนึ่งของพัฒนาการ ขณะที่พ่อแม่มักกังวลกับการโกหกของลูก หลี่คัง นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต กลับเห็นว่า การโกหกของเด็กวัยหัดเดินคือสัญญาณยืนยันว่า สมองส่วนการคิดของพวกเขากำลังพัฒนา
หลี่กับเพื่อนร่วมงานศึกษาพฤติกรรมโกหกในเด็กโดยใช้การทดลองง่ายๆ พวกเขาขอให้เด็กๆ ทายชื่อของเล่นที่ซ่อนอยู่จากเสียงบอกใบ้ คำใบ้ของของเล่นชิ้นแรกๆ นั้นชัดเจน เช่น เสียงเห่าแทนสุนัข เสียงร้องแทนแมว และเด็กๆ ก็ตอบได้ทันที จากนั้นเสียงบอกใบ้เริ่มไม่เกี่ยวกับของเล่น “เราเปิดเพลงเบโทเฟน แต่ของเล่นคือรถครับ” หลี่อธิบาย ผู้ทำการทดลองแกล้งเดินออกจากห้องโดยบอกว่าจะไปรับโทรศัพท์ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และห้ามเด็กๆ แอบดู เมื่อกลับเข้ามา พวกเขาจะขอคำตอบหลังจากถามเด็กๆ ก่อนว่า “หนูแอบดูหรือเปล่าจ๊ะ”
...
จากกล้องที่ซ่อนอยู่ หลี่กับทีมวิจัยพบว่า เด็กส่วนใหญ่อดใจไม่ไหวที่จะแอบดู อัตราร้อยละของเด็กที่แอบดูและโกหกขึ้นอยู่กับอายุ ในกลุ่มเด็กสองขวบที่แอบดู มีเพียงร้อยละ 30 ที่พูดไม่จริง ส่วนเด็กสามขวบพูดไม่จริงร้อยละ 50 แต่พออายุแปดขวบ เด็กที่อ้างว่าไม่ได้แอบดูมีสูงถึงร้อยละ 80
เด็กๆ ยังโกหกเก่งขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นด้วย ในการเดาคำตอบของเล่นที่ตนแอบดู เด็กสามและสี่ขวบจะพูดโพล่งคำตอบที่ถูกต้องออกมาโดยไม่ตระหนักว่า คำตอบนั้นเผยความผิดและการโกหกของตน ส่วนเด็กเจ็ดหรือแปดขวบรู้จักอำพราง การโกหกด้วยการจงใจตอบผิด หรือพยายามทำให้คำตอบนั้นดูคล้ายการคาดเดาอย่างมีเหตุมีผล
เด็กอายุห้าและหกขวบอยู่ตรงกลางในการศึกษาครั้งหนึ่ง หลี่ใช้ตุ๊กตาไดโนเสาร์บาร์นีย์เป็นของเล่น เด็กหญิงห้าขวบ ที่ปฏิเสธว่าไม่ได้เปิดดูของเล่นซึ่งมีผ้าคลุมอยู่ ขออนุญาตจับของเล่นก่อนทาย “แกสอดมือเข้าไปใต้ผ้าคลุม หลับตาลงและบอกว่า ‘อา หนูรู้ว่านี่คือบาร์นีย์’ ”หลี่เล่า “ผมถามว่า ‘ทำไมล่ะ’ แกตอบว่า ‘เพราะมันให้ความรู้สึกถึงสีม่วงค่ะ’” [จริงๆ หนูน้อยแอบดู แต่ยังโกหกได้ไม่แนบเนียนพอ คำตอบจึงดูขัดแย้งกัน เพราะการสัมผัสไม่น่าจะสามารถบอกหรือระบุสีได้]
การโกหกที่แนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ นี้ได้แรงผลักดันจากพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีจิต (theory of mind) ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความเชื่อ ความตั้งใจ และความรู้ของคนอื่นๆ นอกจากนี้ พื้นฐานของการโกหกคือทักษะการบริหารจัดการของสมองอันเป็นความสามารถที่จำเป็นต่อการวางแผน การเอาใจใส่ และการควบคุมตนเอง เด็กสองขวบที่โกหกในการทดลองของหลี่ทำแบบทดสอบทฤษฎีจิตและการบริหารจัดการของสมองได้คะแนนสูงกว่าเด็กที่ไม่โกหก กระทั่งในวัย 16 ปี คนโกหกเก่งก็ทำแบบทดสอบได้ดีกว่าคนโกหกไม่เก่ง ในทางกลับกัน เด็กในกลุ่มโรคออทิซึมซึ่งเป็นที่ทราบว่ามีพัฒนาการของทฤษฎีจิตล่าช้า โกหกไม่เก่งนัก
...
...
ความรู้ส่วนใหญ่ที่เราใช้ดำเนินชีวิตในโลกมาจากคำบอกเล่าของผู้อื่น หากปราศจากความไว้วางใจอย่างไร้ข้อกังขา ที่จะสื่อสารกับมนุษย์คนอื่น เราคงอยู่ในสภาพเหมือนเป็นอัมพาตในฐานะปัจเจกบุคคลและสิ้นสุดการมีความสัมพันธ์ทางสังคม “เราได้อะไรมากมายจากการเชื่อในคำพูดของคนอื่น เทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายน้อยนิดที่เกิดจากการถูกหลอกนานๆ ครั้ง” ทิม เลวีน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา วิทยาเขตเบอร์มิงแฮม บอก
การถูกตั้ง “โปรแกรม” ให้ไว้ใจคนอื่น ทำให้มนุษย์เชื่อคนง่ายโดยธรรมชาติ “ถ้าคุณบอกใครสักคนว่า ‘ผมเป็นนักบิน’ จะไม่มีใครมัวนั่งสงสัยว่า ‘เอ ไม่น่าจะใช่หรอกมั้ง เขาบอกเราทำไมว่าเป็นนักบิน’ ผู้คนไม่สงสัยอะไรแบบนั้นครับ” แฟรงก์ อาบักเนล, จูเนียร์ บอก เขาเป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย ผู้เคยทำผิดกฎหมายสมัยยังหนุ่มด้วยการปลอมแปลงเช็คและปลอมตัวเป็นนักบินของสายการบินแห่งหนึ่ง จนเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง จับให้ได้ ถ้านายแน่จริง (Catch Me if You Can) เมื่อปี 2002 “นี่ละครับที่ทำให้แผนต้มตุ๋นได้ผล
โรเบิร์ต เฟลด์แมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ เรียกสิ่งนี้ว่า ข้อได้เปรียบของคนลวง “ผู้คนไม่คาดคิดว่าจะเจอเรื่องโกหก เราไม่ได้มุ่งเสาะหาคำลวงครับ” เขาบอก “และบ่อยครั้งที่เราอยากเชื่อเรื่องที่เราได้ยิน” เรามีความต้านทานต่ำมากต่อเรื่องโกหกที่ฟังแล้วชื่นใจและปลอบประโลม ไม่ว่าจะเป็นคำยกยอปอปั้นหรือคำสัญญาถึงผลตอบแทน การลงทุนที่สูงเกินจริง ยิ่งเป็นคำโกหกของผู้มีฐานะ อำนาจ และสถานะทางสังคม ก็ยิ่งน่าเชื่อถือกว่าปกติ
นักวิจัยชี้ว่า เรามีแนวโน้มจะยอมเชื่อคำลวงที่ตรงกับทรรศนะการมองโลกของเราเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ โพสต์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความ ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และอื่นๆ ที่เผยแพร่ “ข้อเท็จจริงทางเลือก” (alternative fact) ตามที่ ที่ปรึกษาของทรัมป์เรียกคำกล่าวอ้างของเขาเรื่องจำนวนฝูงชนที่เข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี จึงแพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ การหักล้างข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถทำลายพลังอำนาจของข้อมูลเหล่านั้น เพราะผู้คนประเมินหลักฐานต่างๆ ที่นำเสนอผ่านกรอบความเชื่อและอคติที่มีอยู่เดิม จอร์จ เลคอฟฟ์ นักภาษาศาสตร์ปริชานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ บอกว่า “หากข้อเท็จจริงที่เข้ามาไม่สอดคล้องกับกรอบความคิดของคุณ คุณจะไม่มองมัน ไม่แยแสมัน หัวเราะเยาะมัน หรือฉงนไปกับมัน หรือไม่ก็เล่นงานมัน ถ้ามันคุกคามคุณ”
เรื่อง ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ
ภาพถ่าย แดน วินเทอร์ส