“จู่ๆ ดิฉันก็มีอาการปัสสาวะไม่ออก เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวัน เลยไปหาหมอ เพราะกลัวเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คุณหมอก็สวนปัสสาวะให้ แล้วให้แอดมิทเพื่อรอดูอาการ แต่พอตอนเช้าตื่นขึ้นมา กลับพบว่าขาท่อนล่างขยับไม่ได้ ไม่มีความรู้สึก ตามองเห็นเป็นภาพซ้อน ยอมรับว่าตอนนั้นกลัวไปหมด ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เราเป็นอะไร พอตอนหลังจึงรู้ว่าเป็น ‘โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง’ หรือโรค ‘Multiple Sclerosis (MS)’ นี่เป็นคำบอกเล่าของคนไข้คนหนึ่งที่เป็นโรค MS”

โรค Multiple Sclerosis (MS) คือ โรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดหนึ่งที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมองและไขสันหลัง ตามปกติ สมองมีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว พฤติกรรม และรักษาสมดุลต่างๆ ภายในร่างกาย โดยอาศัยชนวนของเส้นประสาทที่เรียกว่า “ปลอกประสาท” ในการนำกระแสคำสั่งจากสมองไปยังปลายประสาทอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าปลอกประสาทเสื่อม เพราะถูกทำลายจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ จะส่งผลให้ระบบประสาท สมองและไขสันหลังทำงานได้ช้าลง

โรค “MS” เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด มักพบในประเทศแถบยุโรป ประเทศไทยพบคนไข้โรคนี้เพียง 500 คนเท่านั้น ส่วนมากพบในคนอายุ 20-40 ปี และเพศหญิงเสี่ยงมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่คนเป็นกันน้อย แต่อันตรายของโรคนี้น่ากลัวมาก หากตรวจพบช้าและรักษาไม่ทัน คนไข้อาจพิการไปตลอดชีวิต ทั้งยังพบบ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน ทำให้สูญเสียคนสำคัญของครอบครัวไป จึงเป็นโรคที่เราควรทำความรู้จักไว้ หากพบว่ามีอาการจะได้รีบมารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

อาการ

...

คนไข้โรค MS มักจะมีอาการผิดปกติแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ตามัว เห็นภาพซ้อน พูดเสียงเปลี่ยน พูดไม่ชัด อาเจียนไม่หยุดโดยไม่มีสาเหตุ แขนขาอ่อนแรง มีอาการชาครึ่งตัว อุจจาระ ปัสสาวะลำบาก ถ่ายไม่ออกหรือกลั้นไม่ได้

การวินิจฉัยโรค

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค MS ได้จากการซักประวัติ ตรวจประเมินความสามารถของระบบประสาท และตรวจละเอียดอีกครั้งโดยการตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จึงจะสามารถสรุปได้ว่าคนไข้เป็นโรค MS ซึ่งเมื่อตรวจพบแล้วจะต้องรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้พิการ

แนวทางการรักษา แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. เมื่อโรคกำเริบหรืออักเสบ จะต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อให้ระบบประสาทกลับมาทำงานอย่างรวดเร็วและป้องกันไม่ให้คนไข้พิการ

2. ป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำอีก โดยใช้ยากดภูมิ เพื่อไม่ให้ภูมิผิดปกติมาทำลายเนื้อเยื่อ เป็นยากลุ่ม Interferon-beta เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการปลอดโรคให้นานที่สุด ทำให้คนไข้ไม่มีอาการ ลดจำนวนรอยโรค หากป้องกันได้ดี ก็ไม่ต้องรับยากลุ่มสเตียรอยด์เพิ่ม ลดการเข้านอนในโรงพยาบาลและลดโอกาสในการพิการ

3. อาการร่วมของโรคต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของชีวิตคนไข้โรค MS ด้อยลง จึงต้องดูแลควบคู่กันไปด้วย ซึ่งได้แก่

@ ความเหนื่อยล้า หมดแรง ไม่อยากทำอะไร เมื่ออาการนี้กำเริบควรพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เหนื่อยง่าย

@ ท้องผูก เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีแรงเบ่งไม่พอ คนไข้ควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ร่างกายก็จะค่อยๆ ปรับตัว และควรกินอาหารที่มีกากใยสูง

@ ปัสสาวะลำบาก คนไข้ต้องฝึกให้กล้ามเนื้อท้องและอุ้งเชิงกรานแข็งแรง โดยฝึกการหายใจ โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จะทำให้ปัสสาวะออกได้ดีขึ้น และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น

@ อาการซึมเศร้า ช่วยเหลือได้โดยคนใกล้ชิดต้องคอยพูดคุย ให้คำแนะนำและให้กำลังใจ

ความน่ากลัวของโรคนี้คือไม่หายขาด คนไข้จะต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยซ้ำๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ จู่ๆ แขนก็อ่อนแรง หยิบจับอะไรไม่ได้ หรือกำลังเดินอยู่ ขาอาจจะเกร็งขึ้นมา เดินต่อไม่ได้ หรือบางทีความจำก็หายไปชั่วขณะ ขึ้นอยู่กับว่าปลอกประสาทส่วนใดกำลังเสียหาย ครอบครัวและเพื่อนร่วมงานควรให้กำลังใจและคอยดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดเมื่ออาการของโรคกำเริบ แต่เมื่อใดที่โรคสงบ คนไข้โรค MS ก็สามารถใช้ชีวิตและทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ดูแลตัวอย่างไร เมื่อเป็นโรค MS

คนไข้ควรดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดอาหารที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทุกชนิด เช่น ปลาร้า อาหารสุกๆ ดิบๆ และไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ หากมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อน เพื่อรีบทำการรักษา หรือทำกายภาพบำบัด หรือบำบัดทางจิตเวช เป็นต้น

“โรค MS” เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ควรหมั่นสังเกตร่างกายของตนเอง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้รีบรักษาได้อย่างทันท่วงที ป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้นจากโรคนี้

แหล่งข้อมูล

จรุงไทย เดชเทวพร. 2560. เข้าใจโรคเอ็มเอส. ใน: การประชุมวิชาการเพื่อประชาชนเรื่อง “เข้าใจ เชื่อใจ และให้กำลังใจคนไข้เอ็มเอส เนื่องในวัน World MS Day. โดยชมรมเอ็มเอสไทย มูลนิธิรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ณ ห้อง 611 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์ และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

...