วันก่อน ไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงาน ประกาศผลสุดยอดนักออกแบบรุ่นใหม่ โครงการ RUBBERLAND Desing Contest จากการสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุโฟมยางพารา ภายใต้คอนเซ็ปต์ Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน โชคดีมากๆ ที่ทางเราได้เจอกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในกรรมการการตัดสินในโครงการนี้

โชคดีแบบนี้ทางเราก็ไม่พลาดที่จะขอเทคนิคการปลูกบ้านที่รักษาสิ่งแวดล้อมมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทางดร.สิงห์ ได้บอกไว้ดังนี้เลย

1.ขนาดของบ้าน และคุณภาพการใช้งาน

“การสร้างบ้านที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อย่างแรกเลยผมคิดคนเราไม่ได้ต้องการบ้านขนาดใหญ่มากๆ คือลดให้มันพอดีๆ คือเราเริ่มมองว่า เราอยู่ในบ้านเยอะมั้ย? ถ้าอยู่ในบ้านเยอะดูคุณภาพอากาศในบ้านหน่อยได้มั้ย? ไม่ใช่ ปูพรม โดยที่ไม่รู้ว่ามันปล่อยสารเคมีอะไรออกมาบ้าง หรือว่าทาสีโดยไม่คิดว่าสีบางอย่าง มันปล่อยพวกสารไอระเหย”

2.เรื่องสุขภาวะ

“คุณดูเรื่องสุขภาวะของคุณด้วย ไม่ใช่เลือกอะไรใส่เข้าไป โดยที่ลืมไปว่า เดี๋ยวนี้คนเป็นโรคภูมิแพ้เยอะเพราะว่าคนอยู่ในห้องแอร์เยอะ ปิดหน้าต่างหมด เปิดแอร์ แล้วทุกอย่างมันก็จะมาอัดอยู่ในนั้น โดยไม่รู้ตัว เพราะเย็นฉ่ำแล้วสบายใจ ให้ดูเรื่องคุณภาพอากาศ ดูมลภาวะอากาศที่มาจากวัสดุเป็นหลักและก็ระบายอากาศเป็นหลัก”

3.ในเรื่องของพลังงาน

“ดูด้วยว่าเราประหยัดพลังงานได้แค่ไหน เช่น หมุนบ้านให้ถูกทิศรึปล่าว หรือว่ามันมีเซนเซอร์อะไรมั้ย เช่น บอกว่าตอนนี้ไม่มีใครใช้ห้องนี้แล้ว ทำไมไม่ให้มันดับไปเองถ้าคุณขี้เกียจ ซึ่งคนทั่วไปทำได้ไม่ยากเลย แต่บางทีคนรู้สึกว่าอยากเปิดทิ้งไว้ มันสวยดี ก็เป็นการสิ้นเปลืองอย่างหนึ่ง นี้คือเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน อากาศ แสง”

...

4.เรื่องขยะโดยรวม

“ต้องมองเรื่องวัสดุโดยรวม การจัดการขยะในบ้าน เพราะบ้านทุกคนทิ้งขยะกันเกือบกิโล ทำไมทุกบ้านในอนาคตไม่มีถังคัดแยกให้เลย ฝึกไปเลยให้คัดแยก ไม่ต้องไปสนใจว่าเขาจะไปรวมกันหรือไม่รวมกัน ฝึกเราไว้ก่อนว่าลูกหลานเราให้เขาแยกเป็น สำคัญมาก ฝึกอะไรได้ฝึกแต่ไม่ต้องเครียด”

5.การปลูกต้นไม้

“การปลูกต้นไม้นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคำนึงด้วยว่าปลูกต้นไม้ไป ต้นไม้บางอย่างก็สามารถจะดูดซับสารพิษได้ดี ต้นไม้บางอย่างให้ร่มเงา ต้นไม้บางอย่างเอามากินได้ด้วย เลือกที่เหมาะกับเรา”

เห็นไหม เรื่องง่ายๆ ที่เราควรให้ความสำคัญ เพราะบ้านก็คือที่อยู่อาศัยของเรา และสิ่งแวดล้อมก็เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่ให้พื่นที่เราได้อยู่อาศัยเหมือนกัน รักบ้านก็ต้องรักสิ่งแวดล้อมด้วย ช่วยกันไม่ยากเกินใจหรอก