ผู้ปกครองหลายคนอาจเคยนึกสงสัยว่า ทำไมลูกเราไม่นั่งนิ่งเรียบร้อยเหมือนเด็กข้างบ้าน? หรือทำไมพี่น้องเลี้ยงมา ดูแลมาเหมือนกันถึงมีการแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว? ซึ่งทำให้ผู้ปกครองรู้สึกทั้งหนักใจทั้งกังวลใจ แต่ในความจริงแล้ว การที่เด็ก ๆ มีความแตกต่างหลากหลายนั้นคือความปกติที่เกิดจาก “พื้นอารมณ์ (Temperament)”

“พื้นอารมณ์” คือลักษณะ แบบแผน หรือวิธีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ติดตัวเด็กทุกคนมาตั้งแต่เกิด และแสดงให้เห็นตั้งแต่ช่วงไม่กี่เดือนแรกของชีวิต เด็กบางคนอาจมีลักษณะชอบเข้าหาสิ่งเร้า ในขณะที่เด็กอีกคนมีแนวโน้มถอยห่าง เด็กบางคนอาจร้องไห้ยาก แต่ร้องแล้วร้องดังร้องนาน ในขณะที่อีกคนร้องไห้ง่ายแต่ก็ร้องเบาปลอบหยุดได้เร็ว โดยจากการศึกษาของ Alexander Thomas และคณะ ในปี ค.ศ. 1970 พบว่า เราสามารถแยกพื้นอารมณ์ออกเป็นมิติต่าง ๆ ได้ 9 ด้านด้วยกัน ซึ่งองค์ประกอบของพื้นอารมณ์เหล่านี้ก็จะผสมผสานรวมกันออกมาเป็นบุคลิกของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน

ระดับพลังงานมากหรือน้อย (High and Low Activity Level) หมายถึง พลังในการเคลื่อนไหวร่างกายขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเด็กบางคนอาจชอบเคลื่อนไหวมาก วิ่ง กระโดด ขยับตัวได้ทั้งวัน ในขณะที่เด็กบางคนมักชอบอยู่นิ่ง ๆ ทำกิจกรรมนั่งโต๊ะที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย

ความสม่ำเสมอ (Regular and Irregular) หมายถึง ความสม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ของเด็ก ซึ่งเด็กบางคนจะมีการกิน การนอน การขับถ่าย ที่เป็นเวลามาก ในขณะที่เด็กบางคนมักจะไม่มีความสม่ำเสมอ ทำให้ปรับตัวเข้ากับตารางเวลาของกิจวัตรประจำวันได้ยากกว่า

การเบี่ยงเบนความสนใจ (Distractibility) หมายถึง การถูกเบี่ยงเบนความสนใจในขณะทำกิจกรรม โดยเด็กบางคนสามารถทำกิจกรรมได้ แม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าอื่นรบกวน ในขณะที่เด็กบางคนมักจะวอกแวกง่าย แม้จะมีสิ่งรบกวนเพียงเล็กน้อย

...

การเข้าหาหรือถอยหนี (Approach and Withdrawal) หมายถึง ลักษณะการตอบสนองต่อสิ่งเร้าใหม่ ๆ ที่เด็กไม่เคยเจอ เช่น คนแปลกหน้า สถานที่ใหม่ หรือของเล่นชิ้นใหม่ ซึ่งในเด็กบางคนมักจะกระตือรือร้นในการเข้าหา สนใจ อยากรู้อยากเห็น ในขณะที่เด็กบางคนมักจะถอยห่าง ระแวดระวัง

การปรับตัว (Adaptability) หมายถึง ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งเร้าใหม่ ๆ โดยในเด็กบางคนที่ปรับตัวยากมักจะนอนไม่หลับในสถานที่ใหม่ หรือปฏิเสธการเข้าห้องน้ำในที่สาธารณะ ในทางกลับกัน เด็กบางคนมักจะปรับตัวได้ไวและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

การจดจ่อและความต่อเนื่อง (Attention span and persistence) หมายถึง การมีสมาธิจดจ่อในการทำกิจกรรมและความต่อเนื่อง เด็กบางคนจะสามารถทำกิจกรรมเดิมได้ซ้ำ ๆ จนกว่าจะสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคมาขัดขวาง ก็ไม่เลิกล้มความตั้งใจ ในขณะที่เด็กบางคนมักจะท้อถอยง่ายกว่า

ระดับการตอบสนอง (Intensity of reaction) หมายถึง ระดับของการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเด็ก หรือการตอบสนองต่ออารมณ์ภายใน เช่น เด็กบางคนเวลาดีใจจะกระโดดโลดเต้น เวลาเสียใจก็จะร้องไห้ดัง อาละวาดรุนแรง ในขณะที่เด็กบางคนจะไม่ค่อยแสดงออกชัดเจน เช่น ยิ้มหรือหัวเราะเบา ๆ

ระดับรับรู้การตอบสนอง (Threshold of responsiveness) หมายถึง ระดับที่เด็กจะรับรู้การตอบสนองของสิ่งเร้าและสิ่งแวดล้อมจากประสาทสัมผัสต่าง ๆ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีระดับที่รับรู้ได้ต่างกัน เช่น เด็กบางคนจะถูกกระตุ้นให้ร้องไห้ได้จากสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย เช่น เสียงปิดประตูเบา ๆ หรือผ้าอ้อมที่เริ่มชื้นแฉะ ในขณะที่เด็กบางคนยังคงทำกิจกรรมต่อไปได้ แม้เสื้อผ้าจะเลอะเทอะมาก

ลักษณะอารมณ์ (Quality of mood) หมายถึง ลักษณะอารมณ์ของเด็กแต่ละคน เด็กบางคนมักจะดูอารมณ์ดีร่าเริงอยู่เสมอ ในขณะที่เด็กบางคนดูจะขี้กังวล หรือหงุดหงิดได้ง่าย

พื้นอารมณ์ของลูกน้อยและวิธีการตอบสนอง

มิติของพื้นอารมณ์ทั้ง 9 ด้านนี้ทำให้เด็ก ๆ มีลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่างกันได้ ตั้งแต่ในวัยทารก จึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองหลายคนจะรู้สึกสับสน เมื่อทำเหมือนเดิมกับลูก 2 คนแล้วได้รับการตอบสนองที่ต่างกัน นอกจากนี้ พื้นอารมณ์ที่แตกต่างกันนี้นอกจากจะทำให้เด็กตอบสนองต่างกันแล้ว ก็ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมตอบสนองกลับมาที่เด็กแตกต่างกัน เช่น ผู้ใหญ่ก็มีแนวโน้มจะพูดคุยหรือเล่นกับเด็กที่ชอบเข้าหาคน หรือเด็กที่ระแวดระวังก็จะเสี่ยงต่ออันตรายจากอุบัติเหตุที่น้อยกว่า ดังนั้นการที่ผู้ปกครองรู้จักและเข้าใจพื้นอารมณ์ของลูก ก็จะช่วยให้เข้าใจลูกและตอบสนองได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น นำไปสู่สมดุลความพอดี (Goodness of fit) ที่จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย พร้อมกับทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและรู้สึกมั่นใจในการดูแลลูก ซึ่งโดยทั่วไปจะสามารถจัดกลุ่มลักษณะพื้นอารมณ์ของเด็กออกได้เป็น 3 แบบด้วยกัน ได้แก่

...

เด็กพื้นอารมณ์ง่าย (Easy child) หมายถึง เด็กที่มีลักษณะกินง่าย นอนง่ายเป็นเวลา ปรับตัวง่าย อารมณ์ดี ไม่ถูกกระตุ้นง่าย และไม่ตอบสนองรุนแรง

การตอบสนองที่เหมาะสม: ผู้ปกครองสามารถกำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ ส่งเสริมความเชื่อมั่นในตัวเองของเด็กได้ด้วยการให้คำชมพฤติกรรมที่ดี และสนับสนุนสิ่งที่เด็กชอบ

เด็กพื้นอารมณ์ปรับตัวช้า (Slow to warm up child) หมายถึง เด็กที่มีลักษณะขี้กังวล มักถอยห่างจากสิ่งเร้าใหม่ และต้องใช้เวลาในการปรับตัว อย่างไรก็ตามเมื่อเด็กกลุ่มนี้มีเวลาปรับตัวที่มากพอ และมีความมั่นใจก็จะสามารถทำกิจกรรมใหม่ ๆ ได้ดีไม่ต่างจากเด็กกลุ่มอื่น

การตอบสนองที่เหมาะสม: ผู้ปกครองควรให้การเตรียมตัว และให้เวลาในการปรับตัวกับสิ่งเร้าใหม่ ๆ เช่น ก่อนไปเข้าเรียนครั้งแรกควรพาไปดูโรงเรียน อธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันเปิดเรียน เพื่อให้เด็กได้เตรียมพร้อม การช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง และให้ความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น โดยต้องไม่เร่งรัดหรือกดดันเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้เด็กถอยหนี และกังวลมากยิ่งขึ้น

เด็กพื้นอารมณ์ยาก (Difficult temperament) หมายถึง เด็กที่มีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มักจะมีอารมณ์ที่ไม่ค่อยคงที่ และอาจจะหงุดหงิดร้องไห้บ่อยครั้ง การดูแลเด็กในกลุ่มนี้ต้องการความอดทน และการปรับตัวที่ดีจากผู้ปกครอง

การตอบสนองที่เหมาะสม: ผู้ปกครองควรให้เวลาในการปรับตัว และช่วยจัดการกับสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้เด็กรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล เช่น เด็กที่ถูกกระตุ้นง่ายควรจัดบ้านให้เงียบสงบ เป็นระเบียบ เพื่อลดสิ่งเร้า เมื่อเด็กมีอารมณ์เชิงลบ ผู้ปกครองควรสะท้อนอารมณ์นั้นและเข้าใจในสิ่งที่เด็กเป็น รวมถึงหลีกเลี่ยงการตอบสนองที่รุนแรง หรือการลงโทษในกรณีที่เด็กมีอารมณ์ไม่ดี เนื่องจากอาจจะยิ่งทำให้เด็กยิ่งรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังควรเข้าใจว่า อารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้ปกครอง แต่เป็นเพียงลักษณะพื้นอารมณ์ของเด็กที่แสดงออกตามตัวตนของเขาเอง ไม่ปล่อยให้อารมณ์ของเด็กทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และรู้สึกมากเกินความเป็นจริง

...

อย่างไรก็ตาม นอกจากลักษณะพื้นอารมณ์ 3 แบบที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมาก (35%) ที่มีพื้นอารมณ์ไม่เข้ากับกลุ่มใด ๆ เนื่องจากมีรายละเอียดของมิติพื้นอารมณ์ 9 ด้านที่แตกต่างออกไป จึงต้องอาศัยความเข้าใจ และการตอบสนองในแต่ละด้านอย่างเหมาะสมในแต่ละรายบุคคล เพื่อหาจุดสมดุลความพอดีในแต่ละครอบครัว

พื้นอารมณ์ในเด็กเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกำหนดพฤติกรรมและการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าและสิ่งแวดล้อม การทำความเข้าใจพื้นอารมณ์ของเด็กแต่ละคน จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสมและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ส่งเสริมพัฒนาการ อารมณ์และพฤติกรรมของเด็กได้ และถึงแม้พื้นอารมณ์จะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่การตอบสนองจะช่วยให้เด็กสามารถปรับการแสดงออกได้เหมาะสมมากขึ้นตามวัย

@@@@@@

แหล่งข้อมูล
อ. พญ.กนกพรรน ชูโชติถาวร สาขาวิชาพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล