วันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันวัณโรคสากล” ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ ที่มีผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ และทำให้มีการเพิ่มความพยายามในทุกภาคส่วนให้หยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคในระดับสากลอีกด้วย
“วัณโรค” เป็นชื่อโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า Mycobacterium tuberculosis (ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลสิส) หรือเรียกย่อว่า TB (ทีบี) โรคนี้มักเกิดการติดเชื้อในปอด และอาจไปที่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้เกือบทุกส่วน เช่น ตับ ไต ทางเดินปัสสาวะ ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไขสันหลัง ผิวหนัง กระดูกและข้อ วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากไม่เข้ารับการรักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และยังแพร่กระจายเชื้อให้คนรอบตัวได้
อุบัติการณ์ของโรควัณโรค
วัณโรคจัดเป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี ในช่วงที่ผ่านมา
ระยะของวัณโรค มี 3 ระยะ ดังนี้
หากได้รับเชื้อวัณโรค บางรายมีอาการหลังจากได้รับทันที เป็นการติดเชื้อครั้งแรก (Primary infection)
ถ้าได้รับเชื้อแล้วมีอาการ ร่วมกับสามารถแพร่เชื้อได้ เรียกว่า เป็นระยะแสดงอาการ หรือระยะแพร่เชื้อ (active tuberculosis) หรือระยะการเป็นโรควัณโรค (TB disease) จำเป็นต้องรักษาทันที
บางรายไม่มีอาการ วัณโรคยังคงอยู่ในร่างกาย ไม่ได้หายไป แต่แฝงตัวอยู่ในร่างกาย เรียกว่า เป็นระยะแฝง (latent tuberculosis) ในระยะนี้ควรได้รับการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นระยะ
วัณโรคติดต่อกันได้อย่างไร
เราสามารถติดเชื้อได้จากผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแสดงอาการหรือระยะแพร่เชื้อ ผ่านทางอาการจากการไอ จาม พูดคุย ร้องเพลง หรือแม้แต่การหัวเราะ โดยเมื่อเชื้อออกมาในอากาศ จะเกิดการสูดดมเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้ บางรายที่ไม่มีอาการเกิดเป็นระยะแฝง เพราะร่างกายสามารถควบคุมแบคทีเรียเหล่านี้ไม่ให้เพิ่มปริมาณมากจนมีอาการ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น แต่อย่างไรก็ดี เชื้อวัณโรคยังคงสามารถแฝงอยู่ในตัวเราได้ตลอดชีวิต เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานที่ต่ำลงจากสาเหตุอื่น ๆ หรือผ่านไปเป็นเวลานาน ทำให้ภูมิต้านทานลดตามวัย อาจทำให้เกิดระยะการเป็นวัณโรคได้
...
อาการและอาการแสดง
มีอาการไอมากกว่า 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด มีไข้ ไอมีเสมหะ หรือมีเลือดปน เหงื่อออกกลางคืน เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย กินไม่ได้ เบื่ออาหาร หนาวสั่น
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรค
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง สัมผัสใกล้ชิด หรือมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค ควรหมั่นตรวจสอบอาการของตนเอง หากเข้าได้กับอาการของวัณโรคดังกล่าวข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาเสมหะ ภาพถ่ายรังสี และตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมตามอวัยวะที่น่าจะมีเชื้อ เช่น ตรวจปัสสาวะ ในผู้ที่มีอาการสงสัยวัณโรคในทางเดินปัสสาวะ
ในห้องปฏิบัติการ เมื่อได้สิ่งส่งตรวจมาแล้ว จะมีการใช้การย้อมสีเพื่อหาเชื้อวัณโรค การเพาะเชื้อ วิธีการทางโมเลกุล (พีซีอาร์) และการเจาะเลือดเพื่อหาเชื้อ หรือปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน หากได้รับการยืนยันว่าเป็นวัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะแพร่เชื้อ ควรเข้าสู่ระบบการรักษาให้ทันท่วงที

การวินิจฉัยวัณโรคแฝง มี 2 วิธี ดังนี้
การตรวจทางผิวหนัง โดยการใช้เข็มขนาดเล็กที่มีน้ำยาทดสอบทูเบอร์คูลิน (Tuberculin) จิ้มที่บริเวณแขนแล้วฉีดน้ำยาเข้าใต้ผิวหนัง แล้วมาอ่านผลใน 48-72 ชั่วโมง ว่ามีความบวมนูนขึ้นมามากน้อยเท่าใด ซึ่งต้องอ่านโดยแปลผลร่วมกันกับสภาวะภูมิคุ้มกันและโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย จึงควรอ่านโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเข้าใจและมีความชำนาญ ข้อดี คือราคาถูก แต่ข้อเสีย คือต้องมาสถานพยาบาลมากกว่า 1 ครั้ง
การตรวจด้วยเลือด เรียกว่า ควอนติเฟียรอนสำหรับวัณโรค (Quantiferon for tuberculosis) ซึ่งเป็นการตรวจครั้งเดียว ทำให้ไม่เสียเวลา และมีประสิทธิภาพสูง แต่มีข้อเสีย คือ ราคาแพง
การรักษา
การรักษาวัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะแพร่เชื้อ หากเป็นการติดเชื้อในปอดแห่งเดียว การรักษามักเป็นการกินยา โดยจะมียาปฏิชีวนะหลัก 4 ตัว (ได้แก่ Isoniazid, Rifampicin, Ethambutol, Pyrazinamide) พร้อมกับวิตามินบีหก หากพบว่าไม่ดื้อยาและตอบสนองได้ดี มักจะกินทั้ง 4 ตัวใน 2 เดือนแรกก่อน หลังจากนั้น จะลดเป็นกินเพียง 2 ตัวในอีก 4 เดือนถัดมา รวมทั้งหมดเป็น 6 เดือน แต่หากติดเชื้อที่บริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย ติดเชื้อทั่วร่างกาย ผลการตอบสนองไม่ดี ยังมีฝีหนอง หรือเสมหะยังคงมีเชื้อจากการย้อมหลังจากรักษาแล้ว อาจต้องใช้การรักษาที่นานกว่าเดิม
หากพบว่ามีการดื้อยา ไม่ว่าจะพบด้วยการเพาะเชื้อ หรือวิธีการทางโมเลกุล จะมีสูตรยาที่แตกต่างกันไป ทั้งยาแบบระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจประกอบด้วยยากินทั้งหมด หรือบางสูตรอาจมียาฉีดร่วมด้วย ซึ่งต้องรักษากับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอต่อไป
กินยาแล้วจะมีผลข้างเคียงไหม
ยาวัณโรคอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในแต่ละบุคคลขึ้นกับสูตรยา เช่น บางรายอาจมีผื่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและอาจมีการปรับเปลี่ยนการรักษา
การป้องกันการแพร่เชื้อ
เลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการสงสัยวัณโรค โดยเฉพาะไข้เรื้อรัง ไอมีเสมหะ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือหากสัมผัสควรสวมหน้ากากป้องกัน ลดการสัมผัสของที่ผู้สงสัยเป็นวัณโรค แล้วมาสัมผัสหน้า ปาก จมูก และควรหมั่นล้างมือสม่ำเสมอ
วัณโรคมีวัคซีนป้องกันไหม
...
ในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย มีวัคซีนที่เรียกว่า บีซีจี ซึ่งเป็นตัวย่อของ Bacillus Calmette-Guerin (BCG) มักให้ในเด็กแรกเกิด โดยวัคซีนนี้ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อทั่วไป แต่จะป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น วัณโรคในเยื่อหุ้มสมอง หรือวัณโรคที่กระจายไปหลายจุดทั่วปอด ซึ่งทำให้การตรวจวัณโรคแฝงด้วยวิธีการทางผิวหนังในกลุ่มผู้ที่ได้วัคซีนบีซีจีนี้แปลผลได้ยากขึ้น
หากท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยง หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นวัณโรค ไม่ว่าจะเป็นระยะใด ควรปรึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัย และรักษาต่อไป อย่าลืมว่าวัณโรคหายขาดได้ โดยเฉพาะหากรู้เร็ว รักษาทันท่วงที จะทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนและป้องกันการแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้นะคะ
@@@@@@
แหล่งข้อมูล
อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล