หนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก นอกจากโรคมะเร็งชนิดต่างๆ แล้ว โรคเส้นเลือดหัวใจตีบก็เป็นอีกหนึ่งโรคภัยที่ไม่ควรมองข้าม และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและโรคประจำตัวบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดโรคดังกล่าว

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดไม่สามารถส่งเลือดไปยังหัวใจได้อย่างปกติเนื่องจากการตีบแคบของหลอดเลือด ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากคราบหินปูน (Plaque) จากไขมันในเลือดเกาะตัวกันจนขวางทางไหลของเลือด เมื่อเลือดส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลงก็ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก

โรคหลอดเลือดหัวใจสามารถอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานโดยที่เจ้าตัวไม่ทันสังเกต ก้อนหินปูนจากไขมันในเลือดจะเกาะตัวกันเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย และเสียชีวิตได้ในที่สุด

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. โรคเส้นเลือดหัวใจชนิดเฉียบพลัน

มีโอกาสทำให้เสียชีวิตสูงถ้าไม่รีบมาพบแพทย์ คนไข้อาจมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอกช่วงกึ่งกลางหน้าอก เป็นถี่ขึ้น รุนแรงมากขึ้นแม้ขณะไม่ได้ออกกำลัง อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่สะดวกร่วมด้วย

เมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน อาจทำให้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงว่านานเท่าไหร่ จึงควรรีบนำคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ภายในเวลา 6-12 ชั่วโมง หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการครั้งแรก เพื่อทำการเปิดหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ โดยการให้ยาสลายลิ่มเลือด หรือทำบอลลูนขยายหลอดเลือด

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

2. โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันชนิดเรื้อรัง

จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นๆ หายๆ ซึ่งอาการมักสัมพันธ์กับการออกกำลัง เช่น การเดิน การออกกำลังกาย หรือการขึ้นบันได อาจมีอาการเจ็บแน่นบริเวณกึ่งกลางหน้าอกแต่พอได้นั่งพักอาการก็จะหายไป และบางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปหัวไหล่ซ้ายขึ้นไปถึงกรามด้วย หากเกิดอาการเหล่านี้จะต้องรีบมาพบแพทย์

10 อาการเตือนโรคหัวใจและหลอดเลือด

เมื่อเกิดคราบหินปูนภายในหลอดเลือดจะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ดี ส่งผลให้มีอาการต่างๆ ดังนี้

  1. เจ็บหน้าอก หรือปวดแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องออกแรงหรือออกกำลังกาย อาการเจ็บหน้าอกมักจะบรรเทาลงเมื่อหยุดทำกิจกรรมไปสักระยะ
  2. หายใจถี่ หรือรู้สึกหายใจติดขัด
  3. เหนื่อยหอบ จากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดได้ยากขึ้น
  4. วิงเวียนศีรษะ
  5. ในบางคนอาจมีอาการที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย เช่น เจ็บหน้าอก และอาจปวดร้าวลามไปที่คอ ขากรรไกร แขน หลัง
  6. ปวดแสบปวดร้อนตรงลิ้นปี่หรือท้องส่วนบน (Heartburn)
  7. คลื่นไส้
  8. อาเจียน
  9. เหงื่อออกมาก
  10. หมดสติ

ปัจจัยเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่มักจะพบในคนที่อายุมาก ในเพศชาย เพศหญิงวัยหมดประจำเดือน และในกลุ่มคนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคหรือภาวะบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเราควรใส่ใจเพื่อรักษาสุขภาพหัวใจเอาไว้ เช่น

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock
  1. โรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure) ความดันโลหิตสูงบ่งบอกว่าหัวใจทำงานหนักมากขึ้นในการสูบฉีดเลือด ความดันเลือดสูงในระยะยาวจะทำความเสียหายต่อหลอดเลือดโดยตรง ทำให้รอยโรคก่อตัวง่ายขึ้น
  2. โรคเบาหวาน (Diabetes) เบาหวานเกิดจากการสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเนื้อเยื่อไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไปจนไปทำลายหลอดเลือดและเส้นประสาท
  3. ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) ไขมันในเลือดสูงหรือมีค่าคอเลสเตอรอลรวมในเลือดสูงเกินไป เป็นสาเหตุหนึ่งของ Plaque ที่เกาะกันในหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  4. โรคอ้วน (Obesity) คนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งการมีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ซึ่งหลายๆ ปัจจัยของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีจุดเริ่มต้นมาจากโรคอ้วน

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดลงได้ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การพักผ่อนที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีลดความเสี่ยงโรคและภาวะต่างๆ ได้อีกมากไม่ใช่แค่โรคหลอดเลือดหัวใจ