- ออทิสติกสเปกตรัม คือโรคที่มีความบกพร่องของทักษะทางสังคมและการสื่อสาร ร่วมกับมีความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมซ้ำๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีความไวต่อประสาทสัมผัสบางอย่าง เป็นต้น
- การปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติก จะมุ่งเน้นที่การเพิ่มทักษะการเข้าสังคมและการสื่อสารให้สมวัย รวมถึงลดพฤติกรรมซ้ำๆ พฤติกรรมยึดติดบางอย่าง และปรับประสาทสัมผัสให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถเข้าสังคมและใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด
ทำความรู้จักกับออทิสติกสเปกตรัม
ออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder, ASD) คือโรคที่มีความบกพร่องของทักษะทางสังคมและการสื่อสาร ร่วมกับมีความผิดปกติทางพฤติกรรม โดยเด็กจะมีการทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ มีความสนใจเฉพาะบางเรื่อง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รวมถึงอาจมีความไวต่อประสาทสัมผัสมากหรือน้อยกว่าปกติอีกด้วย
ที่มาของคำว่า ‘Spectrum’ มาจากความแตกต่างของอาการหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน ความรุนแรงของอาการจะมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง
ทั้งนี้ เด็กออทิสติกบางคนมีพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารล่าช้าตั้งแต่ 1 ขวบแรก และในบางกลุ่มอาจยังไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน แต่พบภาวะถดถอยในด้านพัฒนาการเมื่ออายุได้ประมาณ 1 ขวบถึง 2 ขวบ ซึ่งในกลุ่มนี้นอกจากภาวะออทิสติกที่ต้องรักษาร่วมกับการปรับพฤติกรรมออทิสติกแล้ว อาจจะต้องตรวจประเมินเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทร่วมด้วย
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกกำลังมีภาวะออทิสติก ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และวางแผนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
...
ออทิสติกแท้และออทิสติกเทียมต่างกันอย่างไร
ออทิสติกสเปกตรัมเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ส่งผลให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ผิดปกติ และสามารถรักษาให้อาการน้อยลงได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคของแต่ละคน
แต่สำหรับออทิสติกเทียมมักมีสาเหตุเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม และขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น การที่ผู้เลี้ยงดูไม่เล่นกับเด็กอย่างเหมาะสม ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวนานๆ หรือ ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน ทำให้เด็กค่อยๆ มีอาการที่คล้ายคลึงกับออทิสติกได้ เช่น เรียกไม่หัน ไม่สบตา พูดน้อยลง มีโลกส่วนตัวสูง ฯลฯ ซึ่งภาวะออทิสติกเทียมไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดเช่นเดียวกับออทิสติกสเปกตรัม สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ร่วมกับเด็กได้รับเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด
การตรวจวินิจฉัยออทิสติกสเปกตรัม
แพทย์จะทำการตรวจประเมินพัฒนาการ และพฤติกรรม ผ่านการสอบถามข้อมูลจากผู้ปกครอง ทั้งในด้านพัฒนาการที่ผ่านมา การเลี้ยงดู ร่วมกับตรวจประเมินพัฒนาการและพฤติกรรมผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ปกครอง
ในกรณีที่เด็กมีพัฒนาการถดถอยในด้านพัฒนาการและสังคม สงสัย มีภาวะลมชัก หรือมีความบกพร่องทางระบบประสาทร่วมด้วย แพทย์จะปรึกษาให้กุมารแพทย์ระบบประสาทดูแลร่วมกัน เพื่อหาสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาทเพิ่มเติม
ทำไมต้องมีการปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติก
การปรับพฤติกรรมออทิสติกเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กสามารถเข้าสังคมและใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เนื่องจากเด็กออทิสติกจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร พฤติกรรม และการเข้าสังคม กรณีที่เด็กไม่ได้รับการรักษาและปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้และเข้าสังคม ได้ตามวัย ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือใช้ชีวิตได้ตามลำพังในอนาคต
ออทิสติกสเปกตรัมรักษาอย่างไรได้บ้าง
ออทิสติกสเปกตรัม เป็นโรคที่สามารถรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้นได้ โดยจะเน้นไปที่การปรับพฤติกรรม และเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ที่บกพร่องไป
การเพิ่มทักษะสำหรับเด็กออทิสติก
- การฝึกพูด
- การฝึกกระตุ้นพัฒนาการ
- การฝึกกิจกรรมบำบัด เช่น การฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือ การเขียน การอ่าน การเคลื่อนไหวร่างกาย
- การฝึกปรับประสาทสัมผัส เนื่องจากเด็กออทิสติกมันมีประสาทสัมผัสที่ไวหรือช้ากว่าปกติ
- การฝึกทักษะทางสังคม เช่น การสื่อสาร การเข้ากลุ่ม การเล่นกับเพื่อน การแบ่งปัน การรอคอย
- Therapeutic day dare เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ
- การเข้าสังคม/เข้าโรงเรียน โดยเป็นการฝึกทั้งในด้าน
- การช่วยเหลือตนเอง การเข้าสังคม และพัฒนาการรอบด้าน
- ในวัยเรียนก็ต้องประสานงานกับทางโรงเรียนในการดูแล
- เด็กกลุ่มออทิสติก โดยการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม และดูแลด้านการเข้าสังคมกับเพื่อน
...
การปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติก
เพื่อให้เด็กออทิสติกสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติมากขึ้น มี เทคนิคที่ใช้ในการปรับพฤติกรรม มีหลายแบบ แพทย์ ร่วมกับทีม นักจิตวิทยาและนักแก้ไขการพูด จะทำการประเมิน ทำการฝึกและให้คำแนะนำ ให้เหมาะสมเป็นรายๆไป เทคนิคที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ เทคนิค ABA (Applied Behavioral Analysis) และเทคนิค DIR (Developmental Individual Difference, Relationship-based) หรือ Floor time เป็นต้น
การใช้ยารักษา
มีการใช้กลุ่มยารักษา เพื่อช่วยลดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กออทิสติก เช่น กลุ่มยาที่ช่วยรักษาอาการอารมณ์แปรปรวน อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น ยึดติด หรือพฤติกรรมการทำร้ายตนเองและผู้อื่น เป็นต้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมออทิสติก
การรักษาปรับพฤติกรรมออทิสติก ควรจะเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไร
ปกติแล้วเด็กควรจะได้รับการประเมินพัฒนาการอย่างละเอียดในช่วงอายุ 9 เดือน 18 เดือน และ 24-36 เดือน หากการตรวจพัฒนาการแล้วพบว่า เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า หรือพบความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการผิดปกติ ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ยิ่งรับการรักษาเร็ว เด็กก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมีพัฒนาการใกล้เคียงกับเด็กทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น
...
เด็กกลุ่มไหนที่มีโอกาสเป็นออทิสติกและต้องเข้ารับการปรับพฤติกรรมออทิสติก
โดยอาการที่บ่งบอกว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมมีดังนี้
- เด็กอายุครบ 12 เดือนแล้ว แต่ยังคงไม่เล่นเสียง ไม่มีการออกเสียงธรรมชาติ ไม่มองหน้าสบตา เรียกไม่หัน ไม่ชี้บอกความต้องการ
- เด็กอายุครบ 18 เดือนแล้ว แต่ยังไม่พูด หรือไม่พูดคำที่มีความหมายออกมาเลยสักคำเดียว ไม่พยายามที่จะสื่อสาร รวมถึงไม่ทำตามคำสั่ง
- ไม่มีการเล่นเลียนแบบ หรือเล่นบทบาทสมมติ
- ไม่สนใจเล่นกับคนอื่น ชอบเล่นคนเดียว
- สนใจเล่นของเล่นซ้ำๆ เช่น ชอบของหมุนๆ ชอบเรียงของ ชอบมองไฟ และความชอบเหล่านี้สำหรับเด็กออทิสติกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ยาก จะมีการปฏิบัติพฤติกรรมซ้ำๆ แบบนี้เสมอ
- มีการพูดและการเข้าสังคมที่ถดถอยลงไปจากเดิม เช่น มีพัฒนาการตามปกติจนกระทั่งอายุ 1 ขวบ แต่เมื่ออายุ 2 ขวบกลับหยุดพัฒนา และมีพัฒนาการ พฤติกรรมถดถอยลงกลับไปเป็นเด็กเล็ก
ทั้งนี้หากมีคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ญาติ หรือพี่คนโตเป็นโรคออทิสติก เด็กก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นออทิสติกมากขึ้น จากความผิดปกติทางพันธุกรรม
อาการที่บ่งบอกว่าการปรับพฤติกรรมออทิสติกจะดีขึ้นได้หรือไม่ ใช้เวลาเท่าไร
โดยทั่วไปภายหลังจากได้รับการรักษาที่เหมาะสม เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซี่งแตกต่างกันในแต่ละคน ระยะเวลาในการฝึก และความก้าวหน้าในการฝึก ก็ขึ้นอยุ่กับความรุนแรงของโรคเช่นกัน แต่ทั้งนี้ หากตรวจพบความบกพร่องและได้รับการรักษาที่อายุน้อย ก็จะมีโอกาสที่จะพัฒนา ได้มากขึ้น
ปรับพฤติกรรมออทิสติก เริ่มได้ตั้งแต่เล็กที่ศูนย์สร้างเสริมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช
...
โรคออทิสติกสเปกตรัม สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ การฝึกกระตุ้นพัฒนาการ ปรับพฤติกรรม จะช่วยให้คนไข้สามารถเรียนรู้ และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น ลดการพึ่งพาคนรอบข้างลง ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น
ที่ศูนย์สร้างเสริมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก และศูนย์จิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มีทีมกุมารแพทย์เฉพาะทาง ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลจิตเวช นักแก้ไขการพูด นักจิตวิทยาพัฒนาการ นักจิตวิทยาคลินิก เพื่อให้การดูแลรักษาเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น เด็กออทิสติก เด็กพัฒนาการล่าช้า กลุ่มอาการที่เกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม และอื่นๆ เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์และการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เติบโตสมวัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก แพทย์หญิงคคนางณ์ จันทรภักดี กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล