การรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยการผ่าตัดในปัจจุบัน มีด้วยกัน 3 วิธี คือ

1. การผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ เป็นการผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ ประมาณ 10-20 เซนติเมตรที่ชายโครงด้านซ้ายหรือด้านขวา โดยใช้เครื่องถ่างขยายกระดูกซี่โครงให้เป็นช่องใหญ่ ๆ จากนั้นจึงใช้มือเข้าไปทำการผ่าตัด

2. การผ่าตัดแบบแผลเล็กส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดที่ใช้เทคโนโลยีกล้อง อุปกรณ์ผ่าตัด และความเชี่ยวชาญของแพทย์ มาช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ลดอาการเจ็บแผล และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

3. การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นนวัตกรรมการผ่าตัดล่าสุดที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีใช้อยู่ ซึ่งในบทความนี้จะเน้นเฉพาะการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอดโดยการใช้หุ่นยนต์

การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โดยใช้การเจาะรูขนาด 1-2 เซนติเมตร เพื่อนำแขนกลของหุ่นยนต์ใส่เข้าไปในตัวคนไข้ เพื่อทำหน้าที่แทนมือของศัลยแพทย์

วิธีการผ่าตัด แพทย์จะไม่ได้ยืนอยู่ใกล้ตัวคนไข้ แต่จะไปนั่งผ่าตัดที่ตัวควบคุมหุ่นยนต์ แล้วก็ใช้กล้องขยาย 3 มิติส่องเข้าไปในตัวคนไข้ เพื่อจะดูภาพ ซึ่งมีความคมชัดและละเอียดมากกว่าการมองด้วยตาเปล่า เนื่องจากภาพจะถูกขยายจากคนไข้อีกทีหนึ่ง ส่งผลให้มีความละเอียดประณีตมากกว่าการผ่าตัดแบบปกติ แขนกลของหุ่นยนต์ก็สามารถทำงานได้อย่างละเอียด และสามารถเลาะเอาเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงมาตรวจเพิ่มเติมด้วยว่ามีการแพร่กระจายไปของมะเร็งหรือไม่

ประโยชน์ของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ คือ มีความแม่นยำในการผ่าตัดสูง แผลมีขนาดเล็ก และคนไข้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งนี้ การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณ 2.5-3 แสนบาท แต่สำหรับคนไข้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาจากมูลนิธิรามาธิบดี คนไข้จึงสามารถเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ในราคาที่ถูกลง ทั้งนี้ การรักษาโรคมะเร็งปอดโดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นั้น จะต้องเป็นการตรวจพบมะเร็งในระยะที่ 1 หรือ 2 เท่านั้น จึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และคนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรค

...

แหล่งข้อมูล
อ. นพ.ปิยะ เชิญถนอมวงศ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี