เคยเป็นไหม? ปวดหัวตุ๊บๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คิดว่าเดี๋ยวกินยานอนพักตื่นมาก็หายจนกลายเป็นเรื่องปกติไปซะแล้ว แต่ความจริงแล้วอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องปกติ งั้นลองมาเช็คกันดูสิว่าอาการปวดหัวแบบไหน บอกอะไรกับเราได้บ้าง

ปวดหัว (Headaches) หรือปวดศีรษะ เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะหรือคอส่วนบน ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อและโครงสร้างรอบกะโหลกศีรษะหรือสมองเกิดการอักเสบหรือระคายเคือง จนทำให้เกิดอาการปวดขึ้น โดยอาการปวดอาจมาจากเส้นประสาทบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า ปาก และคอ กล้ามเนื้อของคอหรือไหล่ และหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ส่งผ่านเลือดไปเลี้ยงสมอง

ปวดหัวบอกอะไร?

โดยปกติแล้วอาการปวดหัวแต่ละประเภทมักมีลักษณะการปวดที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาการปวดหัวไมเกรนเป็นการปวดตุบๆ ที่ศีรษะข้างใดข้างหนึง อาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวจะมีอาการปวดเหมือนโดนบีบรัดค่อนไปทางขมับและหน้าผาก โดยมักปวดทั่วทั้งศีรษะ หรืออาการปวดคลัสเตอร์เป็นอาการปวดอย่างรุนแรงบริเวณเบ้าตาหรือด้านหลังตา ทั้งนี้ ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดหัวจะเป็นไปตามสาเหตุของอาการปวดหัวแต่ละประเภท และตำแหน่งที่ปวดอาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า กะโหลก หรือทั้งศีรษะ

ปวดหัวแบบตึงตัว (Tension type headache)

เป็นโรคปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุดมักเกิดกับบุคคลซึ่งมีความเครียด เหนื่อย ทำงานหนัก ลักษณะการปวดมักเป็นแบบแน่นแน่น หรือ รัดรัดทั้งสองข้างของศีรษะและต้นคอ โดยอาการปวดมักมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ซึ่งอาจมีการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ ไหล่ ร่วมด้วยได้ อาการปวดชนิดนี้ไม่แย่ลงจากกิจวัตรประจำวัน และมักไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

...

ปวดหัวไมเกรน (Migraine headache)

เป็นโรคปวดหัวที่พบได้บ่อย และมักได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาด โดยโรคปวดหัวไมเกรนนี้มักพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน ลักษณะการปวดมักทำให้เกิดอาการปวดหัวรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะแย่ลงได้จากสิ่งกระตุ้นภายนอก ทั้งแสง เสียง หรือกลิ่น ผู้ป่วยบางรายมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไมเกรนส่วนใหญ่มักจะปวดนานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดนานถึง 3 วัน

ปวดหัวแบบกลุ่ม (Cluster headache)

เป็นโรคปวดหัวที่พบได้ไม่บ่อยแต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง อาการปวดหัวชนิดนี้มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอาการปวดหัวมักมีอาการปวดที่รุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย มักเกิดทันที ระยะเวลาที่ปวดประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง ตำแหน่งที่ปวดมักปวดรอบดวงตาหรือบริเวณขมับมักเป็นข้างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาท parasympathetic ร่วมด้วย เช่น มีตาแดง มีน้ำตาไหล มีน้ำมูก มีเหงื่อออก บริเวณใบหน้าด้านที่มีอาการปวดหัว

ปวดหัวแบบเรื้อรังทุกวัน (Chronic daily headache)

ผู้ป่วยชนิดนี้มักมีอาการปวดหัวเรื้อรังมากกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัวแบบ tension หรือแบบไมเกรนก็ได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังมากกว่า ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นโรคปวดหัวจากการใช้ยาเกิน(medication overuse headache) ซึ่งเกิดจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาด การซื้อยากินเอง การใช้ยาแก้ปวดบ่อยบ่อย ซึ่งทำให้มีอาการปวดหัวเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยเรื่อย นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดหัวได้อีก เช่น ภาวะไซนัสอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็งเป็นต้น ทั้งนี้การวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจเพิ่มเติมเช่น การทำ MRI เป็นต้น เพื่อช่วยวินิฉัยแยกโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายออกไป

ไม่ว่าจะปวดหัวแบบไหนก็ตาม หากพบความผิดปกติ หรือปวดติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและตรวจรักษา เพราะอาการปวดหัวที่คุณเป็นอาจเป็นสัญญาณของโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ที่สำคัญควรไปเช็กตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น หากพบความผิดปกติก็จะทำให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำถึงแนวทางการรักษาได้อย่างทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรก ทั้งช่วยป้องกัน และลดปัญหาความรุนแรงจากโรคในอนาคตได้

ข้อมูลโดย : All You Can Check ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา