“ท้องผูก” คือ อาการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากทางเดินอาหารได้ตามปกติ เกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่ เมื่อร่างกายมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ลำบาก
สาเหตุของการเกิดโรคมีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเรื่องของโรคประจำตัว หรือการใช้ยาบางชนิด ก็ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้ สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
1. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยผักและผลไม้น้อยเกินไป
2. ขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งผลให้ลำไส้บีบตัว เคลื่อนตัวช้าลง
3. ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล
การรักษา
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากสาเหตุข้างต้น
1.1 รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยใยและอาหารได้ จึงยังอยู่ในลำไส้และอุ้มน้ำเอาไว้ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น
1.2 ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป ร่างกายจึงขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
1.3 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น
1.4 ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน
1.5 อย่ากลั้นอุจจาระ หรือรีบร้อนในการขับถ่าย เพราะอาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้ ควรเข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวด
2. การใช้ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยระบาย หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ แต่หากมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น ถ่ายเหลว ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม มีก้อนเล็กลงหรือมีเลือดปน ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง
...
การนวดท้องเพื่อบรรเทาท้องผูก
เป็นขั้นตอนของการฝึกการถ่ายอุจจาระในผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องผูก หรือมีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ เพื่อช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
ข้อควรปฏิบัติ
1. ควรปัสสาวะก่อนนวดหน้าท้อง
2. ควรนวดหน้าท้องขณะท้องว่าง หรือหลังรับประทานอาหารแล้ว อย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงขึ้นไป
3. ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงควรประเมินอาการปวดศีรษะก่อนและระหว่างการนวดทุกขั้นตอน
4. ผู้ป่วยที่มีอาการเกร็งบริเวณหน้าท้อง ให้ใช้หมอนรองใต้เข่า 2 ข้าง
5. หลีกเลี่ยงการนวดท้องในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกชนิดลุกลามในช่องท้อง ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงในช่องท้องโป่งพอง (AAA) หญิงตั้งครรภ์
ขั้นตอนการนวด
1. ควรนอนหงายในท่าที่สบาย และจัดเสื้อผ้าให้เปิดบริเวณหน้าท้องเท่านั้น
2. ทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิวบริเวณหน้าท้องก่อนนวด
3. วัดบริเวณหน้าท้อง โดยใช้ตำแหน่งที่ต่ำกว่ากระดูกซี่โครง 2 นิ้ว เพื่อลดอาการบาดเจ็บ
ท่าที่ 1 ท่านวดตามแนวเส้นตรง มีขั้นตอนดังนี้
1. แบ่งแนวหน้าท้องตามยาวจากบนลงล่าง ห่างจากสะดือประมาณ 2 นิ้ว ข้างละ 2-3 แนว
2. ประสานมือทั้ง 2 ข้าง จากนั้น กดลงบนหน้าท้องลึก 1.5-2 นิ้ว แล้ววนตามเข็มนาฬิกา ครั้งละ 5 รอบ ตามแนวเส้นที่แบ่งไว้จนครบทุกแนว
ท่าที่ 2 ท่าโกยลำไส้
ประสานมือเข้าด้วยกันตามภาพ และใช้สันมือนวดแบบรีด ตั้งแต่บริเวณกลางสะดือจนถึงหัวหน่าว ทำซ้ำให้ทั่วหน้าท้อง
...
ท่าที่ 3 ท่าโยกลำไส้
ประสานมือตามรูป ใช้สันมือทั้ง 2 ข้างนวดดันหน้าท้องด้านใกล้ตัวไปด้านตรงข้าม แล้วใช้ปลายมือโกยหน้าท้องกลับเข้าหาตัวผู้นวด ทำซ้ำ ๆ ให้ทั่วหน้าท้องประมาณ 15-20 ครั้ง
ท่าที่ 4 ท่านวดตามเข็มนาฬิกา
ใช้นิ้วมือกดลงบนหน้าท้อง วนตามเข็มนาฬิกา โดยวนจากรอบสะดือออกมาด้านนอก ทำให้ทั่วหน้าท้อง โดยเน้นลำไส้ใหญ่ข้างลำตัวด้านซ้าย
...
ทุกท่าของการนวดควรนวดกดลึก 1.5-2 นิ้ว ใช้เวลาในการนวดทั้ง 4 ท่า 10-15 นาที ถ้ายังไม่ปวดอุจจาระ อาจต้องใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น การกระตุ้นรูทวาร หรือการเหน็บสบู่
@@@@@@@@@
จัดทำโดย พว.วาสิฏฐี ปิตฝ่าย หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เอกสารอ้างอิง
สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือการดูแลคนพิการบาดเจ็บไขสันหลังสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังอัมพาตครึ่งล่าง (พาราพลีเจีย), ใน: ดารณี สุวพันธ์ และบุษกร โลหารชุน. บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2550. สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสซิ่ง; หน้า 1-162.
อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" ทั้งหมดคลิกที่นี่