หลายคนอาจคิดว่าโรคพาร์กินสันมักจะเกิดกับผู้สูงวัย แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคดังกล่าวอายุไม่ถึง 40 ปีเป็นจำนวนมากขึ้น สาเหตุเกิดจากอะไร มีสัญญาณเตือนแบบไหนที่สังเกตได้บ้าง
ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลพญาไทเผยว่าโรคพาร์กินสัน เป็นโรคเสื่อมของระบบประสาท ซึ่งตามสถิติแล้วมักพบในผู้สูงวัยที่มีอายุเฉลี่ย 60-65 ปี คนไทยมีโอกาสเป็นพาร์กินสัน 1-1.5 แสนคน ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 8 เป็นโรคพาร์กินสันก่อนอายุ 40 ปีอีกด้วย
สาเหตุของโรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของสมองอย่างช้าๆ ทำให้สารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ในสมองลดลง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวช้า อาการสั่นหรืออาการแข็งเกร็ง รวมทั้งมีปัญหาในการทรงตัวด้วยเช่นกัน และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
อาการโรคพาร์กินสัน
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่าสามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
1. อาการที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว
- สั่น
- เกร็ง
- เคลื่อนไหวช้า
- ล้มง่าย
- หลังค่อม
- เดินลำบาก
...
2. อาการที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว
- ท้องผูก
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- นอนละเมอ
- ซึมเศร้า
- ความจำนึกคิดแย่ลง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ได้แก่
1. ปัจจัยแวดล้อมภายนอก
มีความเสี่ยงเมื่ออายุมากขึ้น การใช้สารฆ่าแมลงทางการเกษตร นักมวยผู้มีประวัติการบาดเจ็บทางศีรษะบ่อยครั้ง แต่ความเสี่ยงไม่ชัดเจนมากเท่ากับการใช้สารฆ่าแมลง
2. ปัจจัยทางพันธุกรรมโดยตรง
เกิดขึ้นน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และในครอบครัวมักจะมีประวัติผู้เป็นโรคพาร์กินสันตั้งแต่อายุยังน้อย
การดำเนินของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะต้น: ร่างกายตอบสนองต่อยาได้ดี ผู้ป่วยได้รับยาแล้วอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- ระยะกลาง: เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ยาออกฤทธิ์ได้สั้นลง จำเป็นต้องรับประทานยาบ่อยขึ้นจากเดิม มีอาการยุกยิก เคลื่อนไหวขยับไปมามากผิดปกติในบางช่วงเวลา
- ระยะท้าย: ผู้ป่วยล้มบ่อย ไม่สามารถเดินเองได้ สมองเสื่อม เห็นภาพหลอนบ่อย
การรักษาโรคพาร์กินสันในอดีตจะเป็นในลักษณะของการตั้งรับ คือรอให้ผู้ป่วยมีอาการที่ชัดเจนก่อนจึงมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าเป็นพาร์กินสัน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่มีทั้งการใช้ยารูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยที่มาพบแพทย์นั้นส่วนใหญ่จะมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้ละเอียด แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น แต่กว่าที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจมาพบแพทย์ ก็มักจะมีอาการไปแล้วระดับหนึ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษายังคงสูงอยู่
ปัจจุบันโรคพาร์กินสันยังไม่มีวิธีป้องกันหรือวัคซีนที่จะช่วยป้องกันได้ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ ทำได้แค่เพียงชะลอการดำเนินของโรคหรือลดอาการไม่ให้รุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตามในวงการแพทย์พบว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การบริโภคอาหารที่ดี และการนอนที่มีคุณภาพจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคพาร์กินสันได้ในคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคนี้ ส่วนคนที่เป็นโรคนี้ การปรับพฤติกรรมในเรื่องดังกล่าวจะช่วยชะลอระยะเวลาการดำเนินของโรคให้ยาวขึ้นได้
...
จากการที่พบว่ามีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอายุน้อยกว่า 40 ปีเป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้วงการแพทย์ได้ศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น และพบว่าโรคพาร์กินสันจะมีสัญญาณเตือนก่อนการดำเนินโรคที่ค่อนข้างใช้เวลานานเป็นสิบปี
ดังนั้น ผู้ที่มีอาการผิดปกติเรื้อรัง เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง การรับกลิ่นลดลง การนอนละเมอ รวมถึงอาการง่วงนอนผิดปกติในช่วงเวลากลางวันโดยที่ไม่ได้มีการอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอแต่อย่างใด ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยของความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพาร์กินสันได้
คนวัยหนุ่มสาวจึงไม่ควรชะล่าใจและมองว่าอาการผิดปกติเรื้อรังดังที่กล่าวมาเป็นเรื่องปกติ แต่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวจะใช่สัญญาณเตือนของการเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่
เพราะพาร์กินสันไม่ได้เป็นโรคที่เกิดแต่กับผู้สูงวัยเท่านั้น และยังเป็นโรคที่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเป็นสิบปี ดังนั้น จึงเป็นการดีที่หากพบสัญญาณเหล่านี้ล่วงหน้าแล้วรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงมากนัก
...
พาร์กินสันแม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่เป็นโรคที่ป้องกันและรักษาเพื่อชะลออาการรุนแรงของโรคได้ หากตรวจพบได้เร็ว