• เลือดออกในสมองอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี ที่ 26.7% การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ความรุนแรงของการตกเลือดและอาการบวม
  • อาการของภาวะเลือดออกในสมอง ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ชนิด และขนาดของเลือดที่ออก แต่อาจมีอาการ เช่น อาการชา อ่อนแรง ที่แขน ขา ใบหน้า ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายอย่างฉับพลัน ปวดหัวรุนแรงอย่างฉับพลัน คลื่นไส้ อาเจียน สับสน พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว กลืนลำบาก ลิ้นแข็ง การมองเห็นผิดปกติ ซึม หมดสติ
  • การป้องกัน และลดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมองทำได้โดยลดการดื่มแอลกอฮอล์และหยุดสูบบุหรี่ ควบคุมความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายที่พอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำตาลในเลือดในผู้ที่เป็นเบาหวาน

เลือดออกในสมอง คืออะไร

โดยปกติแล้วสมองของมนุษย์จะมีเส้นเลือดไปเลี้ยงเพื่อนำออกซิเจนไปสู่สมอง ภาวะเลือดออกในสมองคือภาวะที่เส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองเกิดการฉีกขาด รั่ว ซึม ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และเลือดที่รั่วซึมออกนอกหลอดเลือด ยังสามารถกดเบียดเนื้อสมอง ทำให้สมองขาดเลือดเพิ่มเติมจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้

เลือดออกในสมองแบ่งออกเป็นกี่ประเภท

เลือดออกในสมองสามารถแบ่งเป็นการที่มีเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะและชนิดที่เลือดออกในเนื้อสมองโดยตรง

  • เลือดออกภายในกะโหลกศีรษะ เป็นเลือดที่ออกในชั้นเยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะซึ่งมีทั้งหมด 3 ชั้น โดยแบ่งเป็นชนิด Epidural, Subdural และ Subarachnoid
  • เลือดออกภายในเนื้อสมอง โดยแบ่งเป็น Intracerebral hemorrhage คือการที่เลือดออกในเนื้อสมองโดยตรง และ Intraventricular hemorrhage คือการที่เลือดออกในโพรงสมองซึ่งเป็นที่เก็บน้ำไขสันหลัง

...

เลือดออกในสมอง มีโอกาสรอดหรือไม่

เลือดออกในสมองอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี ที่ 26.7% การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ความรุนแรงของการตกเลือดและอาการบวม

ความรุนแรงของภาวะเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับสาเหตุ ชนิด ขนาด ตำแหน่ง และระยะเวลาตั้งแต่เลือดออกจนได้รับการรักษา ภาวะเลือดออกในสมองสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากเลือดที่ออกกดสมองส่วนสำคัญ เช่น ส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการหายใจ นอกจากนี้ภาวะเลือดออกในสมองจะทำให้เนื้อสมองขาดออกซิเจน เกิดภาวะเซลล์สมองตายและเกิดความเสียหายอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม หากสามารถวินิจฉัยได้รวดเร็ว แพทย์อาจสามารถทำการรักษาเพื่อป้องกันความเสียหายของเนื้อสมองและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้  

อาการของภาวะเลือดออกในสมอง

อาการของภาวะเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ชนิด และปริมาณของเลือดที่ออก แต่อาจมีอาการ เช่น

  • อาการชา อ่อนแรง ที่แขน ขา ใบหน้า ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย อย่างฉับพลัน
  • อาการปวดหัวรุนแรงอย่างฉับพลัน มักเป็นการปวดมากชนิดที่ไม่เคยปวดมาก่อนในชีวิต
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • สับสน
  • วิงเวียน
  • พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว กลืนลำบาก ลิ้นแข็ง
  • ซึม หมดสติ
  • ชัก
  • สูญเสียการทรงตัวหรือการควบคุมร่างกาย
  • การมองเห็นผิดปกติ

เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมอง เกิดจากเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองเกิดการฉีกขาด รั่ว ซึม ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก

  • อุบัติเหตุ เช่น รถชน การพลัดตกหกล้ม การเล่นกีฬา 
  • ในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด แค่การกระทบกระแทกหรืออุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย การล้มศีรษะกระแทกก็สามารถทำให้เกิดภาวะ เลือดออกในสมองจากการกระแทก ได้
  • การแตกของก้อนไขมันในเส้นเลือด
  • ลิ่มเลือดอุดตัน
  • มีเส้นเลือดโป่งพองในสมอง (cerebral aneurysm)
  • การรั่วของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มีการเชื่อมกันอย่างผิดปกติ (arteriovenous malformation – AVM)
  • การสะสมอย่างผิดปกติของโปรตีนในหลอดเลือด (cerebral amyloid angiopathy)
  • มะเร็งหรือเนื้องอกในสมอง

...

ใครที่เสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมอง

  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ผู้ที่ใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด
  • การใช้สารเสพติดและสูบบุหรี่

การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมอง

หากสงสัยภาวะเลือดออกในสมอง แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย และส่งตรวจภาพทางรังสีเพิ่มเติม เช่นการทำ Computed tomography (CT) scan, Magnetic resonance imaging (MRI) หรือ Magnetic resonance angiogram (MRA) นอกจากนี้ยังมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุและความเสี่ยง เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด การเจาะน้ำไขสันหลัง การตรวจหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

เมื่อไหร่ที่ต้องรีบไปพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มีประวัติอุบัติเหตุหรือการกระทบกระแทกบริเวณศีรษะ  ล้มหัวฟาดพื้น  หรือมีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัวรุนแรงฉับพลัน ชา อ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดฉับพลัน หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะเลือดออกในสมองหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที

...

การรักษาภาวะเลือดออกในสมอง

การรักษาประกอบด้วยการรักษาโดยการผ่าตัดและการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

  • การรักษาโดยการผ่าตัด แพทย์อาจทำการเจาะระบายแรงดันในกะโหลกศีรษะ ผ่าตัดเปิดกะโหลกเพื่อลดแรงดันศีรษะ หรือนำเลือดที่คั่งออกเพื่อลดแรงดันในกะโหลกศีรษะ 
  • การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ภาวะเลือดออกในสมองบางชนิดไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยและวางแผนการรักษาจากภาพทางรังสี ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ โดยหากไม่มีการผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยากันชัก ยาลดความดันโลหิตสูง ยาแก้ปวด ยาในกลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ยาระบายเพื่อลดแรงดันในการเบ่ง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมองนับเป็นภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมองจะแนะนำความเสี่ยงระหว่างการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เทียบกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการผ่าตัด

การฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในสมอง

หลังการรักษาทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ขึ้นอยู่กับอาการ ตำแหน่งของโรค ความรุนแรงของโรค โดยอาจมีการปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อฝึกเดิน ฝึกเคลื่อนไหว ฝึกการกลืน ฝึกพูด การปรึกษานักอาชีวบำบัดเพื่อการกลับไปทำงานหลังการพักฟื้น รวมถึงการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกในสมองซ้ำ

การป้องกัน และการลดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมอง

...

การลดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในสมองสามารถทำได้โดย

  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์และหยุดสูบบุหรี่
  • ควบคุมความดันโลหิต
  • ลดไขมันในเลือด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายที่พอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำตาลในเลือดในผู้ที่เป็นเบาหวาน
  • ป้องกันอุบัติเหตุหรือการพลัดตกหกล้ม
  • หากรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร  ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางชนิดจะมีผลทำให้มีความเสี่ยงของเลือดออกเพิ่มมากขึ้นได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ. เอกพจน์ นิ่มกุลรัตน์ โรงพยาบาลสมิติเวช