ที่ผ่านมาเรามักจะคิดว่าโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke มักจะเกิดกับผู้สูงวัย แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ามีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในคนที่อายุน้อยลงในจำนวนมากขึ้น ซึ่งเราควรมีวิธีสังเกตอาการและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้อย่างไร
นพ. ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ หัวหน้าศูนย์โรคระบบประสาท แพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยกับทีมไลฟ์สไตล์ว่านับตั้งแต่เป็นแพทย์ดูแลคนไข้โรคหลอดเลือดสมองมาถึง 40 ปี พบว่าในระยะไม่กี่ปีมานี้จำนวนผู้ป่วยโรคดังกล่าวมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ คนไข้อายุน้อยที่สุดที่เคยพบมีตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนต้นถึงวัยรุ่นตอนปลาย แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่เริ่มพบมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เผยว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มักพบในช่วงวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ เนื่องจากมีอายุที่มากขึ้น แต่ก็สามารถพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปีได้เช่นกัน ซึ่งคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young)
...
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young)
การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีอายุน้อยมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุในการเกิดโรคได้หลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ได้แก่
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- เบาหวาน
- โรคหัวใจ
นอกจากนี้ยังรวมถึงสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นทีหลัง โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านโลหิตวิทยา โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหลอดเลือด หรือจากความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม เป็นต้น ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งโรคหลอดเลือดสมองแบบตีบและแตก
โดยส่วนใหญ่ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอายุน้อยทั้งหมดเป็นโรคหลอดเลือดสมองแบบตีบ เนื่องจากการมีลิ่มเลือดหัวใจอุดตัน และหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่แข็ง
ในอีกมุมหนึ่งที่ นพ. ฤกษ์ชัย ตั้งข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับการที่พบจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอายุน้อยมากขึ้นอาจมาจากการที่คนในสังคมปัจจุบันให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เมื่อมีอาการผิดปกติกับร่างกายก็รีบมาพบแพทย์ทันทีไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน
“ผมคิดว่าเป็นเพราะผู้ป่วยเริ่มรู้ตัวและระแวดระวังมากขึ้น สมัยก่อนอาการเตือนหลอดเลือดสมองเล็กๆ บางอย่าง เช่น มีอาการแค่อ่อนแรงหรืออาการชานิดๆ ก็ไม่ได้ไปหาหมอ แต่ปัจจุบันมีวิธีตรวจหาสาเหตุที่ดีขึ้นทำให้ผู้ป่วยมาหาเรามากขึ้น เช่น ผู้ป่วยบางคนที่มีอาการเตือนเล็กๆ มีเฉพาะอาการชาอย่างเดียวก็มาหาหมอให้เริ่มตรวจวินิจฉัย”
เช็กอาการเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถสังเกตได้ คือ
- มีอาการปากเบี้ยว หรือมีน้ำลายไหลออกที่มุมปาก
- มีอาการชาร่วมกับแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
- มีอาการลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด หรือนึกคำพูดไม่ออก
- มีอาการตามองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างพร้อมกัน
- มีอาการปวดศีรษะหรือเวียนหัวอย่างรุนแรง
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นว่าผู้ที่มีอาการเหล่านี้จะต้องเป็นหลอดเลือดสมองเสมอไป แต่อาการเหล่านี้มักจะเกิดกับผู้ป่วยโรคดังกล่าว
ชาแบบไหนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
แม้ว่าอาการชา จะเป็นหนึ่งในอาการที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่ลักษณะอาการจะต่างจากอาการเหน็บชาที่เกิดขึ้นทั่วไปอย่างไร ทาง นพ. ฤกษ์ชัย ได้อธิบายว่า
...
“อาการชา จากเส้นประสาทส่วนปลายทำงานได้ไม่ดี จะเริ่มมีอาการชาจากปลายเท้าหรือปลายมือก่อน ไม่ค่อยจะมาเป็นที่แขนหรือที่ต้นขา อาการชาที่เกิดจากเส้นประสาทโดนกดทับ บางครั้งก็จะมีอาการปวดร่วมด้วย ดังนั้นแพทย์จึงต้องทำการสังเกตอาการผู้ป่วยจากการซักประวัติตรวจร่างกาย ซึ่งการกระจายของตำแหน่งอาการชาจะต่างกัน”
ทั้งนี้อาการชาจากโรคหลอดเลือดสมองมักจะเป็นด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนแรง ทรงตัวลำบาก โดยอาการมักเป็นฉับพลันทันที หากพบว่ามีลักษณะอาการชาแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
...
วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุดคือเริ่มได้ตั้งแต่การไม่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มที่ 1 คือ ปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้ เช่น อายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายเสื่อมลง เพศชายที่มีความเสี่ยงกว่าเพศหญิง และเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ เช่น การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ดังนั้นแนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ
- ควบคุมระดับความดันให้อยู่ในระดับปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง และเลือกรับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด
หลายคนมักจะคิดว่าหากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วจะต้องเสียชีวิตเท่านั้น ในบางรายที่เส้นเลือดสมองแตกในบริเวณที่เป็นจุดสำคัญและมีเลือดออกจำนวนมากก็มีโอกาสเสียชีวิตทันทีหรือภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บทางสมองจากโรคนี้ในระดับกลางๆ และมีภาวะติดเตียงมักจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือเป็นแผลกดทับจนเกิดอาการติดเชื้อ
...
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณจุดสำคัญของสมองและมีเลือดออกน้อยหรือมีความเสียหายไม่มากนัก ก็สามารถรักษาตัวให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้
เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้นด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว
ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์