อย่างที่เราทราบกันดีว่า อากาศในเมืองไทยแต่ละวันไม่คงที่ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว หรือบางครั้งก็มีเกือบ 3 ฤดูในวันเดียว เมื่อฤดูหนาวมาเยือน หลายๆ ครอบครัวก็จะเริ่มกังวลสุขภาพของลูกน้อย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่กำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต เพราะเป็นช่วงที่เชื้อโรคระบาดหนักสุด และเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง คุณพ่อ คุณแม่ควรใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกน้อยเป็นพิเศษ ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
รับประทานอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
ควรเลือกเมนูที่เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย และต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ร้อน ไม่เย็นเกินไป โดยจำแนกอาหารที่จำเป็นตามช่วงวัยได้ ดังนี้
- วัยทารก
ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 6 เดือน ควรให้ดื่มนมแม่จะดีที่สุด เพราะนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนตามที่เด็กทารกต้องการ ภายหลังเข้าสู่ช่วงหย่านม อายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจให้ทานอาหารบดเพื่อฝึกการเคี้ยว ไม่ควรเติมเกลือ น้ำตาล หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ เพิ่มเติม ป้องกันไม่ให้เด็กติดหวาน
หรือเค็ม - วัยเด็ก 1-5 ปี
ก่อนวัยเรียนอายุ 1-5 ปี ควรป้อนเป็นมื้อเล็กๆ และเพิ่มของว่างที่มีประโยชน์ ฝึกให้เด็กกินผัก โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แทรกลงไปในอาหาร - เมื่อเข้าสู่วัยเรียน 6-12 ปี
ควรให้ความสำคัญกับอาหารเช้ามากขึ้น และเน้นให้ทานอาหารครบ 5 หมู่ เสริมด้วยการให้ดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มขึ้น แนะนำให้ดื่มนมครบส่วน หรือนมไขมันเต็ม สำหรับนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของฟัน กระดูก และกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำอื่นๆ ในการประกอบอาหารให้ลูกทาน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา ถั่วชนิดต่างๆ และน้ำมัน การเลือกน้ำมันในการปรุงอาหารให้ลูก ควรจะเลือกเป็นน้ำมันพืชมากกว่าน้ำมันจากสัตว์ เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารดีกว่า และเป็นแหล่งไขมันที่มีประโยชน์ ซึ่งดีกับพัฒนาการเรียนรู้ของสมอง นอกจากนี้ ไม่มีไขมันอิ่มตัวมากเกินไป ไม่มีคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันภาวะไขมันเกินได้ หากในวัยเด็กได้รับไขมันไม่เพียงพอ นอกจากจะส่งผลให้สมองจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่แล้ว ยังทำให้ผิวหนังมีปัญหาได้ เช่นผิวหนังแห้งกร้าน เล็บ ผมที่เกิดจากผิวหนังก็จะอ่อนแอ ขาด เปราะ ผมร่วงง่าย และหากขาดไขมันมากๆ ก็จะทำให้การสร้างเซลล์ภูมิต้านทานร่างกายเกิดขึ้นได้น้อยลง เป็นผลทำให้ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอด้วย
...
ฝึกให้เด็กๆ ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายถือเป็นสิ่งสำคัญ ควรส่งเสริมให้ลูกออกกำลังกายที่ต้องใช้ร่างกายทุกส่วน เช่น ว่ายน้ำ ฟุตบอล วอลเลย์บอล เป็นต้น เด็กๆ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ และในการออกกำลังกายแต่ละครั้งควรออกกำลังกายให้ถึง 60 นาที โดยแบ่งเป็นออกกำลังกาย 30 นาที และพัก 5 นาที เพื่อให้ร่างกายมีช่วงเวลาพักและฟื้นฟูตัวเอง
จัดสภาพแวดล้อมให้สะอาด ปลอดภัยอยู่เสมอ
โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จนกว่าจะอายุ 6-7 ปี หรือในช่วงอนุบาล จนถึงประถม คุณพ่อ คุณแม่จำเป็นต้องทำความสะอาดของใช้ต่างๆ ทั้งเสื้อผ้า ที่นอน ของเล่น ตุ๊กตาให้ปราศจากเชื้อโรค โดยคุณพ่อ คุณแม่สามารถทำความสะอาดของเล่นลูก สำหรับเด็ก 0-3 ปี จะชอบนำสิ่งของเข้าปาก จึงควรทำความสะอาดของเล่นทุกวัน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนเข้าสู่ปากของเด็ก ได้ด้วยวิธีดังนี้
- ของเล่นที่ทำจากไม้ ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำ บิดให้หมาด ไม่ควรใช้ผ้าเปียกเช็ดของเล่น หรือนำของเล่นไปล้างน้ำ เพราะน้ำจะซึมเข้าไปในเนื้อไม้ และเกิดเชื้อรา เมื่อเช็ดเสร็จให้นำของเล่นไปตากแดดหรือให้ลมโกรกจนแห้ง แล้วค่อยเก็บของเล่นให้เข้าที่
- ของเล่นพลาสติก ของเล่นที่ทำจากยาง ล้างด้วยน้ำสบู่ หรือเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด สะบัดน้ำออกให้หมด และนำไปผึ่งลมให้แห้งสนิท ส่วนคราบฝังแน่นตามขอบ ที่ไม่สามารถล้างออกด้วยการล้างน้ำได้ ให้นำสำลีชุบแอลกอฮอล์ หรือทิชชู่เปียก มาเช็ดคราบออก หรือแช่ของเล่นด้วยน้ำผสมสบู่เด็ก ก่อนจะล้างน้ำให้สะอาดอีกรอบ ใช้ผ้าสะอาดเช็ดของเล่น และผึ่งลมให้แห้ง ไม่ควรนำไปการตากแดดนานๆ เพราะอาจทำให้วัสดุเสื่อมสภาพ กลายเป็นไมโครพลาสติกแพร่เข้าสู่ตัวเด็กได้
- ของเล่นที่ทำจากผ้า นำของเล่นไปซักด้วยผงซักฟอกที่ใช้ซักเสื้อผ้าเด็กที่มีคุณสมบัติอ่อนโยน หลังซักเสร็จให้บีบจนหมาด ก่อนนำไปตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้ง สำหรับตุ๊กตาผ้า หากต้องการซักด้วยเครื่องซักผ้า กรุณาตรวจที่ป้ายก่อนว่าสามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้หรือไม่ และควรใช้น้ำอุณหภูมิเท่าใด หากเป็นตุ๊กตาเน่าตัวโปรดของคุณหนูๆ ที่ค่อนข้างมอมแมม ควรโรยผงเบกกิ้งโซดาไปที่ตำแหน่งสกปรกก่อน แล้วผสมน้ำส้มสายชูเล็กน้อยลงไปน้ำระหว่างซักมือ เพื่อช่วยกำจัดคราบได้ง่ายขึ้น
- ของเล่นที่มีแบตเตอรี่ ถอดแบตเตอรี่ออกจากของเล่น หลีกเลี่ยงการโดนน้ำบริเวณที่เป็นแผงวงจรไฟฟ้า และทำความสะอาดส่วนอื่นๆ ด้วยผ้าชุบน้ำสบู่เช็ดให้ทั่ว และนำไปผึ่งลมให้แห้ง
นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การนอนนับเป็นวิธีที่การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันได้ดีไม่ต่างจากการออกกำลังกาย ควรให้ลูกเข้านอนและตื่นนอนในเวลาที่สม่ำเสมอทุกๆ วัน โดยเริ่มฝึกตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างต่ำวันละ 10-12 ชั่วโมง เข้านอนไม่เกิน 3-4 ทุ่ม และควรทำกิจกรรมก่อนนอนไม่เกิน 30-45 นาที ควรเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกสบาย เช่น การอาบน้ำอุ่น การเล่านิทานก่อนนอน หรือร้องเพลงกล่อมนอน หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กเล่นมือถือ หรือเล่นหน้าจอก่อนนอน เพราะจะกระตุ้นให้สมองทำงาน แทนที่จะผ่อนคลาย และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การนอน เช่น ไม่มีทีวี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อากาศไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป และปิดม่านบังแสง
เสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการป่วยอย่างเดียวอาจไม่พอ จึงแนะนำให้เด็กๆ ฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานเสริมภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรกเกิด ให้ครบจำนวนเข็ม ตามอายุ เช่น วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ไวรัสตับอักเสบบี หัดเยอรมัน โปลิโอ เอชพีวี เป็นต้น
...
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน