หลายท่านมักจะได้ยินหรือได้รับคำถามเกี่ยวกับการเข้ารับการตรวจสุขภาพกันมาบ้าง แม้ว่าเรื่องการตรวจสุขภาพจะมีมานานแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่กล้า หรือไม่ทราบว่าทำไมต้องตรวจ หรือตรวจแล้วได้ประโยชน์อะไร หากอยากจะไปตรวจจะต้องทำอย่างไร

การตรวจสุขภาพมีเป้าหมายสำคัญคือ การค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเราโดยที่เรายังไม่มีอาการผิดปกติ และค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เพื่อหาแนวทางป้องกัน และรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เรื่องควรรู้ก่อนตรวจสุขภาพ

1. การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่แท้จริง

เพราะมีโรคหลายชนิดที่เกิดขึ้นแล้ว แต่กลับไม่แสดงอาการ กลายเป็นภัยเงียบ สร้างความเสียหายให้แก่ร่างกายของเรา หากเราได้รับการตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เมื่อพบก็จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น อีกทั้งมีโอกาสหายขาดได้

2. การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา

โดยเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยเน้นเรื่องการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมทั้งมีการตรวจการเจริญเติบโตและพัฒนาการว่าสมวัยหรือไม่ เพื่อป้องกันความผิดปกติต่างๆ ที่สำคัญการตรวจสุขภาพตั้งแต่เด็กจะทำให้แพทย์ได้ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงแทรกซ้อนที่จะเกิดกับเด็ก และทำการรักษาได้ทันท่วงที เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ ก็จะมีการตรวจเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น เช่น โรคทางนรีเวช สุขภาพหัวใจ และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ การตรวจสุขภาพก็จะเน้นเรื่องของความเสื่อม เพื่อชะลอความเสื่อมนั้นๆ และเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากความเสื่อมถอยของร่างกาย

3. ตรวจสุขภาพประจำปีไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีเสมอไป

แม้เราจะบอกว่าคุณควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี แต่ในความเป็นจริงการตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรเป็นการตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

...

4. การตรวจสุขภาพที่ดีควรให้ข้อมูลแพทย์อย่างละเอียด

หลายท่านมักเข้าใจผิดว่าการตรวจสุขภาพ คือการค้นหาโรคโดยการตรวจห้องแล็บปฏิบัติการ และมุ่งเน้นการรักษาจากแพทย์ หรือการรับประทานยาเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น จึงละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งแท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง คือการให้ความสำคัญกับข้อมูล การซักประวัติโดยแพทย์เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันตลอดทั้งปี แนะนำให้บอกแพทย์ตามความเป็นจริง เพื่อวินิจฉัยว่าคุณเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือไม่ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการให้แพทย์ตรวจร่างกาย และเมื่อทราบผลร่างกายแล้วควรปฏิบัติตามแนะนำแพทย์ หันกลับมาดูแลสุขภาพด้วยตัวคุณเอง นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ โดยวัดในแนวสะดือ นำค่าที่ได้ไปหารด้วยส่วนสูง ซึ่งคนปกติจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง ถ้าเกินแสดงว่าลงพุงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือสมองตีบตัน

ก่อนตรวจสุขภาพต้องเตรียมตัวอย่างไร?

  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
  • งดอาหาร และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
  • งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากยา และแอลกอฮอล์ อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง
  • ควรไปถึงโรงพยาบาลในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอิดโรยเกินไป เพราะงดน้ำและอาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว
  • หากท่านกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต ท่านสามารถรับประทานต่อได้ตามที่แพทย์แนะนำ แต่ควรแจ้งให้แพทย์ หรือพยาบาลทราบก่อนตรวจ
  • หากท่านมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ กรุณานำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน
  • ในวันตรวจงดใส่เครื่องประดับต่างๆ ที่เป็นโลหะ/สุภาพสตรีงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก
  • สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรตรวจในช่วงก่อน และหลังมีประจำเดือน 7 วัน
  • หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ และมีผลต่อการแปลผลการตรวจ
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะมีความคัดตึง ควรตรวจหลังมีประจำเดือน
  • กรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่องดตรวจเอกซเรย์

...

ถึงแม้ว่าสภาพภายนอกที่ดูแข็งแรงปกติดี แต่ภายในอาจกำลังเจ็บป่วยก็เป็นได้ หากเราไม่สังเกต หรือตรวจเจาะลึกเข้าไปดู อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในอนาคตอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย การตรวจเช็กสุขภาพอย่างเป็นประจำทำให้เราสามารถติดตามสถานะสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ลดความเจ็บปวด ลดค่าใช้จ่ายที่อาจบานปลาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว