การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมมี 2 แบบ คือ
1. การใส่ซิลิโคน
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมโดยการใส่ซิลิโคน ซึ่งจะทำในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องตัดเต้านม แต่ยังอยากมีรูปทรงเต้านมปกติ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้ ข้อดีคือ ไม่ต้องใช้เนื้อเยื่อตัวเอง เจ็บน้อยกว่า แต่ซิลิโคนเองก็เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ไม่ได้เหมือนเนื้อเยื่อเรา 100% ปัจจุบันมีการพัฒนาซิลิโคนไปอย่างมาก ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีใช้ซิลิโคนผิวเรียบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ปกติซิลิโคนเองมีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี จะเริ่มเสื่อม ถ้าใส่แล้วไม่มีปัญหาอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดของการใส่ซิลิโคนคือ คนไข้มีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 1 ใน 30000 แต่มักจะเกิดในซิลิโคนผิวหยาบ ซึ่งทางโรงพยาบาลรามาธิบดีไม่ได้ใช้อยู่แล้ว และหลังใส่ เราจะมีการติดตามคนไข้เป็นระยะ
2. การใช้เนื้อเยื่อตนเอง
การใช้เนื้อเยื่อตนเองมาเสริมสร้างเต้านม เนื้อเยื่อตัวเอง ผลการรักษาจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าซิลิโคน แต่คนไข้ก็จะมีอาการบาดเจ็บในช่วงหลังผ่าตัดมากกว่าการใช้ซิลิโคน และใช้ระยะเวลาผ่าตัดและระยะเวลาในการฟื้นตัวมากกว่า และแผลผ่าตัดเยอะกว่า
ปัจจุบันยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม เช่น การใช้ความเย็นจี้ การผ่าตัดโดยการส่องกล้องหรือโดยใช้หุ่นยนต์ ซึ่งผลของการรักษาปัจจุบันยังเป็นข้อมูลระยะสั้น ยังไม่มีข้อมูลในระยะยาวว่าผลของการผ่าตัดจะมีประสิทธิภาพเท่ากับการผ่าตัดแบบปกติหรือไม่ ยังต้องรอผลของการศึกษา ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบมาตรฐานปัจจุบันจึงเป็นวิธีดีที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้
...
สุดท้ายนี้ การตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรก อัตรารอดชีพ 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 95 จึงอยากเชิญชวนทุกคนเข้ารับการคัดกรองตรวจมะเร็งเต้านม คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี และควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง
---------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
อ. พญ.ลักขณา อดิเรกลาภวงศ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล