• โรคหัวใจ มีหลายประเภท ซึ่งอาการและวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน สำหรับบางคน การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และการใช้ยา ก็สามารถช่วยให้สุขภาพหัวใจดีขึ้นได้ แต่ในบางคนอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้หัวใจกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกครั้ง
  • ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ อายุ ที่เพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนอายุ 30-40 ปี โดยเพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง และที่สำคัญคือพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงมากกว่าคนทั่วไป
  • การรักษาโรคหัวใจ จะรักษาตามสาเหตุและอาการที่ตรวจพบ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รักษาโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะควบคุมได้ รับประทานยา หรือ การผ่าตัดรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ

โรคหัวใจ (Heart Disease) คืออะไร

โรคหัวใจ (Heart Disease) คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยเกิดขึ้นในส่วนของหัวใจที่ต่างกัน จึงทำให้โรคหัวใจแต่ละชนิด มีอาการแตกต่างกัน   

โรคหัวใจมีหลายประเภท และแต่ละประเภทมีอาการและวิธีรักษาที่แตกต่างกัน สำหรับบางคน การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ หรือการดำเนินชีวิตและการใช้ยา ก็สามารถช่วยให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น แต่ในบางคนอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานอีกครั้ง 

...

โรคหัวใจมีกี่ประเภท

เมื่อพูดถึงโรคหัวใจ หลายคนมักคิดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคหัวใจ และเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิต โรคหัวใจแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มโรค ดังนี้ 

1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease : CAD)

โรคหลอดเลือดหัวใจ Coronary Artery Disease (CAD) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดเฉียบพลัน

จะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกช่วงกึ่งกลางหน้าอก โดยจะเจ็บถี่ขึ้น อาการมักเป็นรุนแรง และเกิดได้มากขึ้น แม้ไม่ใช่ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา นอกจากนี้อาจมีอาการใจสั่น หรือเหงื่อแตก หากไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) และเสียชีวิตได้ ดังนั้น ต้องรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมถึงการสูบบุหรี่จัด

  • โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดเรื้อรัง

พบอาการแน่นบริเวณกึ่งกลางอกแบบเป็นๆ หายๆ อาจมีอาการแน่นหน้าอกร้าวไปกรามหรือหัวไหล่ซ้าย โดยมักเกิดขณะใช้กำลัง เช่น ออกกำลังกาย เดินเร็ว หรือการขึ้นบันได เมื่อได้นั่งพักอาการก็จะหายไป หรืออาจมาด้วยอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง

2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia)

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) อัตราการเต้นของหัวใจสำหรับคนปกติอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อวินาที กรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบ่งความผิดปกติออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตัน

สาเหตุสำคัญของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ คือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด และหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้ยังเกิดจากสุขภาพร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โดยมีอาการใจสั่นรวมทั้งหน้ามืดเป็นลม ซึ่งควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

  • หัวใจเต้นช้าผิดปกติ คือน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คือเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้นๆ หยุดๆ หรือเต้นเร็วสลับช้า

3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Cardiomyopathy) เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ สาเหตุที่พบบ่อย มาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ความสามารถในการบีบตัวลดลงหรืออาจมาจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาจากพันธุกรรม รวมทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันในห้องหัวใจสูงขึ้นทำให้ห้องหัวใจโต ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน ขาบวม เหนื่อย นอนราบไม่ได้หรือมาพบแพทย์ด้วยภาวะน้ำท่วมปอด
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวลดลง และการนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ อาการที่สังเกตได้คือ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ขาบวม ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว

4. โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease)

โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

...

  • โรคลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis) เป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจเปิดและปิดได้ไม่สุด เลือดจึงออกจากห้องหัวใจยากขึ้น ทำให้เกิดความดันและปริมาณเลือดสะสมย้อนกลับไปสู่ห้องหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Regurgitation) ซึ่งเป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่วหรือขาด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือดในหัวใจลดลงและหัวใจทำงานหนักขึ้น

สาเหตุความผิดปกติของลิ้นหัวใจ แบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

  • ความพิการของลิ้นหัวใจแต่กําเนิด (Congenital Valve Disease) เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ซึ่งมีอาการตั้งแต่แรกคลอดและจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  • โรคลิ้นหัวใจผิดปกติจากการเสื่อมสภาพ (Degenerative Valve Disease) ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ
  • โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective Endocarditis) เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) และเชื้อโรคไปเกาะกินที่ลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลันและหัวใจวายรุนแรง รวดเร็ว อาการที่สังเกตได้ คือ เหนื่อยเร็วกว่าปกติ หากพบมีภาวะบวม เหนื่อยมาก ไม่สามารถนอนราบ หายใจลําบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา

5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)

ความผิดปกติของการพัฒนาโครงสร้างหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงมารดาได้รับยาบางอย่างในช่วงก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด ก็มีส่วนทำให้ทารกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ โดยทารกตรวจพบอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ดื่มนมน้อย โตช้า เล็บสีม่วงคล้ำ อ่อนเพลีย และเหงื่อออกมาก

...

สาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหัวใจแต่ละชนิดมีสาเหตุต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกัน แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้

1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้

  • อายุ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุ 40 ปี แต่ในปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนอายุ 30-40 ปี การมีอายุมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
  • เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง แต่สำหรับผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังหมดประจำเดือน
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย โดยผู้ชายก่อนอายุ 55 ปี และผู้หญิงก่อนอายุ 65 ปี

2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้

  • ระดับไขมันในเลือดสูง หากมีระดับไขมันในเลือดยิ่งสูงก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการรับประทานอาหาร โดยเลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ
    โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจเป็นสาเหตุของการทำลายผนังภายในของหลอดเลือดได้

...

  • ความดันโลหิตสูง สามารถกระตุ้นให้กระบวนการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดเกิดได้เร็วขึ้น รวมถึงยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
  • การสูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบอย่างมาก และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหัน
  • ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากในชีวิตประจำวันไม่มีการขยับร่างกายอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

สัญญาณเตือน โรคหัวใจอาการเป็นอย่างไร

สามารถสังเกตสัญญาณเตือนโรคหัวใจ ดังนี้

  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก อาจร้าวไปที่กราม แขน ไหล่ 
  • เหนื่อยง่าย 
  • ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม 
  • นอนราบไม่ได้ ขาบวมทั้งสองข้าง 

แม้โรคหัวใจบางประเภทจะสามารถควบคุมรักษาให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตได้ตามปกติ แต่โรคหัวใจบางประเภทอาจส่งผลถึงชีวิต ดังนั้นการดูแลสุขภาพหัวใจจึงมีความจำเป็น นอกจากการดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง การตรวจหัวใจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดี ที่จะช่วยประเมินสุขภาพความแข็งแรงของหัวใจ รวมถึงตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหัวใจมักมีอาการหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ในบางคนอาจไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ เกิดขึ้นเลย ดังนั้นการเข้ารับการตรวจโรคหัวใจจะช่วยคัดกรองความเสี่ยงก่อนเกิดโรค 

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจโรคหัวใจ

  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดสมอง
  • ผู้มีโรคประจำตัว หรือ ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน สูบบุหรี่
  • พบอาการหรือสัญญาณเตือน เช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายผิดปกติ ใจสั่น หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องใช้กำลังในการแข่งขัน เพื่อประเมินอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม

หากพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคหัวใจให้เร็วที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่ามีปัญหาโรคหัวใจหรือไม่ และวางแผนการรักษาต่อไป

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้นเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียด นอกจากนี้แพทย์อาจให้ตรวจเพิ่มเติม รวมถึงทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยวิธีต่างๆ  ดังนี้

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram - EKG) การตรวจการทำงานของคลื่นกระแสไฟฟ้าบริเวณหัวใจ ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test - EST) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อประเมินสมรรถภาพของหัวใจขณะออกแรงอย่างหนัก สามารถคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เบื้องต้น และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการตรวจที่ให้ผลที่ละเอียดกว่าการตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพียงอย่างเดียว
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram - Echo) ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อจับภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ รวมถึงการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ
  • ตรวจหัวใจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography - CT Scan) เป็นวิธีการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงใช้เพื่อติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Angiography - CAG) คือการใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงบริเวณแขนหรือขาหนีบ และฉีดสารทึบรังสี เข้าไปดูภาวะหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน รวมทั้งการฉีดสารทึบรังสีในห้องหัวใจเพื่อตรวจสอบความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ ความดันของห้องหัวใจ และการรั่วของลิ้นหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจเป็นไปตามสาเหตุและอาการที่ตรวจพบ  ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ได้แก่ รับประทานอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่
  • รักษาโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะควบคุมได้ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • รับประทานยารักษาโรคหัวใจ ตามความเหมาะสมของแต่ละโรค
  • การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจ ตามแต่ละชนิดของโรคหัวใจ

โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ดังนั้นหากพบอาการหรือสัญญาณเตือนไม่ควรนิ่งนอนใจ  ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุและประเภทของโรคหัวใจ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ผู้มีความเสี่ยงสามารถเข้าตรวจคัดกรองแม้ไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใดๆ 

ขอบคุณข้อมูล : พญ. ณัฐฐาพร ประพันธ์ อายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช