“โรคมะเร็งเต้านม” เป็นหนึ่งใน 5 โรคมะเร็งของผู้หญิงไทยที่พบมากเป็นอันดับ 1 ตามด้วยมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด แต่ปัจจุบัน ก็มีนวัตกรรมในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากมาย ดังที่จะกล่าวต่อไป 

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การผ่าตัดที่เต้านม และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ นอกจากนี้ ก็ยังมีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

การผ่าตัดที่เต้านม

แบ่งออกเป็นการผ่าตัดออกทั้งเต้านม และการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม 

ในการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม หากคลำก้อนได้ สามารถผ่าตัดตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ แต่ในบางรายอาจไม่สามารถคลำก้อนได้ กรณีที่ไม่สามารถคลำก้อนได้ วิธีที่เป็นมาตรฐานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีใช้คือ การปักลวดไว้ในตำแหน่งที่เป็นรอยโรค และทำการผ่าตัดบริเวณนี้ออก ข้อดีคือเป็นวิธีที่มาตรฐานมาตั้งแต่อดีต ไม่แพง ข้อเสียคือมีขดลวดคาที่หน้าอกก่อนการผ่าตัด และมีโอกาสเลื่อนหลุด ปัจจุบันจึงได้มีการผ่าตัดเพิ่มอีกวิธี คือการฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าไปในบริเวณเต้านม แล้วทำการผ่าตัดก้อนเนื้อออกโดยใช้อุปกรณ์พิเศษในการตรวจจับ วิธีนี้มีข้อดีคือไม่ต้องปักลวดคาไว้ที่หน้าอก แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากเป็นการรักษารอยโรคที่เป็นลักษณะหินปูนที่เต้านม ก็ยังนิยมการรักษาโดยการผ่าตัดแบบปักลวดอยู่

การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

1. การตรวจต่อมน้ำเหลืองรักแร้เซนติเนล

จะทำในผู้ที่ตรวจไม่พบการแพร่กระจายของต่อมน้ำเหลืองก่อนการผ่าตัด โดยการตรวจต่อมรักแร้เซนติเนลจะทำการฉีดสารสีฟ้าที่บริเวณผิวหนัง สารนี้จะวิ่งไปตามทางเดินน้ำเหลือง แล้วไปจับที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่ติดสี คือต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล จะถูกผ่าตัดออกไปตรวจ ถ้าไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็ง ไม่ต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ต่อ เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลนี้เป็นกลุ่มแรกที่รับการระบายน้ำเหลืองจากเต้านม หากไม่พบการแพร่กระจาย ต่อมน้ำเหลืองอื่นที่รับน้ำเหลืองหลังจากต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้น่าจะไม่มีการแพร่กระจาย ซึ่งสามารถลดการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ซึ่งจะลดโอกาสการเกิดแขนบวมในคนไข้จาก 30% เหลือไม่เกิน 10% ได้ 

...

2. การเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้

จะผ่าตัดในผู้ที่มีการกระจายของมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ โดยการเลาะออกไปทั้งหมด ต่อมรักแร้มี 3 ระดับ แพทย์จะทำการเลาะระดับ 1 และ 2 ซึ่งเป็นการผ่าตัดมาตรฐาน ที่ให้ผลการรักษาที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องเลาะระดับที่ 3 ถ้าไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่จะแขนบวมมากกว่าการตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30% 

การผ่าตัดต่อมรักแร้เซนติเนลในผู้ที่มีการกระจายของต่อมน้ำเหลืองรักแร้แต่ได้ยาเคมีบำบัดแล้วตอบสนองดี ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ยุบหมด
เป็นการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มะเร็งไม่มีการลุกลามไปที่กล้ามเนื้อหน้าอก หรือบริเวณผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ที่มีการแพร่กระจายจะต้องขยับได้ โดยจะต้องให้เคมีบำบัดก่อน และอาจมีการวางคลิปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ก่อนให้ยา หลังให้ยาครบจะดูการตอบสนองของต่อมน้ำเหลืองรักแร้ว่ายุบดีหรือไม่ หากยุบดี และดูปกติ สามารถละเว้นการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้วใช้การตรวจต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้วยวิธีเซนติเนล ร่วมกับการเอาต่อมน้ำเหลืองที่มีคลิปออก หรือหากไม่ได้วางคลิป อาจผ่าตัดโดยใช้การตรวจเซนติเนล2เทคนิค ซึ่งสามารถลดอาการแขนบวมจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมและการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ซึ่งที่รามาธิบดีเองก็ทำในคนไข้ที่เข้าเกณฑ์นี้

สัปดาห์หน้ายังมีความรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมอีก รอติดตามกันนะคะ

@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

อ. พญ.ลักขณา อดิเรกลาภวงศ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล