“โรคติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง” เป็นภาวะที่มีเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าไปในชั้นผิวหนัง โดยการแบ่งโรคสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
1. แบ่งตามชนิดของเชื้อ
2. แบ่งตามตำแหน่งของการติดเชื้อ
โดยการแบ่งชนิดของโรคติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง มักจะนิยมพิจารณาตามตำแหน่งของการติดเชื้อ ได้แก่ การติดเชื้อบริเวณผิวปกติ และการติดเชื้อบริเวณรูขุมขน
การติดเชื้อบริเวณผิวปกติ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นบนสุด หรือชั้นหนังกำพร้า เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า Impetigo
2. การติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นผิวหนังที่ลึกลงมาเล็กน้อย โดยติดในชั้นหนังแท้ เรียกการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ว่า Ecthyma
3. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชั้นใต้ผิวหนังและเนื้อเยื่อผิวหนังที่อยู่ลึก (ชั้นไขมัน) เรียกการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ว่า Cellulitis หรือไฟลามทุ่ง
สาเหตุ
การติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง เกิดจากความอับชื้นและมีรอยถลอก หรือผิวหนังมีอุบัติเหตุ มีบาดแผล มีรอยถลอกน้อย ๆ ก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในผิวหนังได้
อาการแสดง จะเป็นไปตามลักษณะของการติดเชื้อ โดยมีลักษณะ ดังนี้
1. การติดเชื้อบริเวณผิวปกติ ได้แก่
Impetigo จะมีลักษณะรอยแดง มีรอยถลอกของหนังกำพร้าด้านบน และมักพบน้ำเหลืองบริเวณที่มีการติดเชื้อด้วย
Ecthyma มีแผลถลอกบาง ๆ และมีลักษณะของน้ำเหลืองเช่นเดียวกัน
Cellulitis เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในชั้นลึกถึงไขมันใต้ผิวหนัง จะพบมีรอยแดง แม้ว่าชั้นบนดูปกติ แต่หากไม่ทำการรักษา รอยแดงนี้จะขยายออกไปอย่างรวดเร็ว มีอาการเจ็บและร้อน เนื่องจากมีการอักเสบ ขนาดของรอยแดงขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ข้ามวันอาจขยายออกไป 1-2 เซนติเมตร พอหลายวันก็ยิ่งขยายออกไปเรื่อย ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “ไฟลามทุ่ง”
...
นอกจากนี้ ยังมีการติดเชื้อที่ผิวหนังในลักษณะอื่น ๆ เรียกว่า “ฝี” เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วจะเกิดหนองในปริมาณมาก ซึ่งร่างกายก็จะพยายามควบคุมหนองไว้ให้อยู่เฉพาะที่ โดยการสร้างเนื้อเยื่อมาล้อมไว้ กลายเป็นถุงที่เรียกว่า “ฝี” นั่นเอง
2. การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรูขุมขน
ในช่วงแรก ๆ เรียกว่า รูขุมขนอักเสบ ก็จะเห็นมีลักษณะเป็นตุ่มหนอง โดยเฉพาะบริเวณปากรูขุมขน หลายครั้งก็จะพบว่า ตรงกลางหนองนั้น มีเส้นขนแทงขึ้นมา
การติดเชื้อบริเวณรูขุมขนอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อน เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ
การติดเชื้อจากรูขุมขนอักเสบ หากรูขุมขนอักเสบขนาดใหญ่ จะกระจายออกไปบริเวณกว้าง มีลักษณะแดง และหากสัมผัส ก็จะรู้สึกถึงความอุ่นของบริเวณที่มีการติดเชื้อนั้น
3. ฝีฝักบัว
เป็นการอักเสบที่รูขุมขนในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ติดต่อ ๆ กัน รวมกันเป็นผืนใหญ่ ๆ บริเวณนั้น จนทำให้มีลักษณะคล้าย ๆ ฝักบัว จึงเรียกการติดเชื้อชนิดนี้ว่า “การติดเชื้อฝีฝักบัว” ซึ่งมักจะพบในคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติ ได้แก่ คนไข้เบาหวาน คนไข้ที่ได้รับยากดภูมิเช่นเดียวกัน
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง โดยการนำเชื้อบริเวณนั้นไปส่งตรวจเพาะเชื้อ ซึ่งจะทำให้ทราบสาเหตุของการติดเชื้อ และทำให้ทราบกว่าเชื้อนั้น มีการดื้อยาหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการรักษา
การรักษา
การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียกที่ผิวหนัง โดยทั่วไปแพทย์ก็จะให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายชนิดได้แก่ การทา การกินและการฉีด ซึ่งขึ้นกับรูปแบบการติดเชื้อ
• การติดเชื้อที่ผิวหนังชนิดตื้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิด Impetigo Ecthyma หรือรูขุมขนอักเสบน้อยๆ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาเชื้อแกรมบวก และเชื้อแกรมลบบางชนิดอยู่แล้ว จึงสามารถใช้ยาชนิดเดียวกันได้เลยในการรักษา โดยใช้ระยะเวลาการทายาประมาณ 1-2 สัปดาห์
• การติดเชื้อลึกลงไปกว่านั้น จะเป็นการรักษาโดยให้ยารับประทาน หรือถ้ากรณีที่การติดเชื้อลุกลามไปในบริเวณกว้างมาก จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดฉีดเข้าไปภายในร่างกาย ระยะเวลาของการรักษาประมาณ 7--14 วันเช่นเดียวกัน
• การรักษาเชื้อแบคทีเรียชนิดพิเศษ เช่น ฝีหนอง ต้องสังเกตการณ์ตอบสนองต่อการให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากตัวฝีหนองมีความสามารถพิเศษในการลดประสิทธิภาพของการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การกรีดหรือระบายหนองออก ก็จะช่วยลดอาการเจ็บปวดลง และมีระโยชน์ในการรักษาคนไข้
การป้องกัน
1. ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ความชื้น อากาศร้อนชื้น ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียการป้องกัน
2. ลดการเกิดอุบัติเหตุ การทำให้มีแผล หรืออะไรเกี่ยว หรือทิ่มตำเข้าไป ก็จะมีโอกาสที่จะนำเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกายได้ ก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้นมา จึงต้องระมัดระวังโดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้บ่อย ๆ เช่น ทำสวน เป็นแหล่งของเชื้อแบคทีเรียที่จะพบได้ค่อนข้างบ่อย
3. คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เช่น คนเป็นโรคเบาหวาน คนที่ได้รับยากดภูมิ ก็จะต้องดูแลระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น อย่าปล่อยให้ผิวหนังมีเหงื่อมาก อย่าปล่อยให้ชุ่มชื้นจนเกินไป และควรใส่เสื้อผ้าที่มีการระบายอากาศที่ดี
4. ระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังเป็นแผล ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
5. ผู้ป่วยเบาหวานก็ต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลให้ดี เพราะถ้าควบคุมปริมาณน้ำตาลได้ไม่ดี ก็จะลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันร่างกายในการที่จะต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค
@@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
รศ. นพ.พูลเกียรติ สุชนวณิช สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
...
อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม