“โรคกลัว (Phobia)” เป็นโรคทางจิตเวชโรคหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า “Specific Phobia” แปลว่า โรคกลัวสิ่งจำเพาะ ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวสิ่งจำเพาะ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้มีอาการและกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น โรคกลัวความสูง กลัวที่แคบ กลัวสัตว์บางชนิด กลัวที่มืด ซึ่งหากต้องอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ก็จะทำให้มีความกลัวอย่างมากจนทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

สาเหตุ

สาเหตุของโรคกลัวสิ่งจำเพาะนี้ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดเป็นหลัก แต่เชื่อว่าเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน ทั้งปัจจัยทางร่างกายและปัจจัยทางจิตสังคม

ปัจจัยทางกาย เกิดจากการที่คน ๆ นั้นมักจะมีระบบประสาทอัตโนมัติที่ถูกกระตุ้นได้ง่าย ส่งผลให้มีอาการของความกลัว ความกังวล และอาการทางกาย เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกมาก

ปัจจัยทางด้านจิตสังคม ในอดีตอาจจะเคยมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว และเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์นั้นอีกครั้ง ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลัวได้เช่นกัน เช่น กลัวความสูง ผู้ป่วยอาจจะเคยประสบอุบัติเหตุในที่สูง หรือประสบเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเป็นอย่างมากขณะอยู่ที่สูง

อาการ

นอกจากความรู้สึกหรือความคิดที่กลัวมาก ก็จะมีอาการทางร่างกาย เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ทั้งนี้อาการความกลัวที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นที่ทำให้กลัว และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไป ดังนั้นหากมีอาการแค่ครั้งเดียวหรือ 2 ครั้ง ไม่นับว่าเป็นโรคนี้

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์และเล่าให้ฟังว่าในชีวิตประจำวันเมื่อเจอสิ่งนี้ จะทำให้มีอาการกลัว กังวล รวมถึงมีอาการทางกายดังที่กล่าวไปข้างต้น แพทย์ก็จะทำการซักประวัติว่าคนไข้กลัวอะไร และมีอาการมานานเท่าไร ถ้าสิ่งที่กลัวนั้นค่อนข้างจำเพาะ และมีอาการแบบนี้ทุกครั้งที่เจอ มีอาการทางกายที่ตอบสนองทุกครั้งที่เจอ ทำให้ต้องหลีกหนี และกระทบต่อชีวิตประจำวัน ก็สามารถสรุปได้ว่าเป็น “โรคกลัว”

...

การรักษา

การรักษาหลักของโรคกลัว คือ การทำจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัด ตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ การบำบัดโดยการเผชิญสิ่งที่กลัว ซึ่งเริ่มจากระบุว่าสิ่งที่กลัวคืออะไร จากนั้นก็เรียงลำดับความน่ากลัวของลักษณะสิ่งที่กลัวรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจินตนาการว่ายืนอยู่บนตึกสูง เป็นความน่ากลัวระดับ 1 การดูวิดีทัศน์ภาพอยู่บนที่สูง เป็นความน่ากลัวระดับ 5 และการไปยืนอยู่บนตึกสูงจริง ๆ เป็นระดับ 10 หรือระดับสูงสุด

ขั้นตอนต่อมาของการรักษา คือ การให้ผู้ป่วยฝึกเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวเรียงจากง่ายไปยาก โดยก่อนพบกับสิ่งที่กลัว ก็จะฝึกให้ผู้ป่วยผ่อนคลายร่างกาย หรือเรียกว่า relaxation training เมื่อมีอาการตอบสนองเวลาที่รู้สึกกลัว ก็จะฝึกให้ผ่อนคลาย และฝึกอยู่กับสิ่งนั้น

นอกจากนี้ ในบางกรณีที่คนไข้ยังไม่หายขาด และจะต้องพบกับสิ่งที่กลัว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดอาการกลัวหรือกังวลเป็นครั้ง ๆ ไป เนื่องจากการกินยาไม่ใช่การรักษาหลักของโรคนี้

การดูแลตนเอง

ผู้ป่วยที่มีอาการกลัว ควรพิจารณาดูว่าสิ่งที่กลัวนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือไม่ และถ้าหลีกเลี่ยงแล้วทำให้ชีวิตดีขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากประเมินแล้วว่าความกลัวนั้นเป็นข้อจำกัดของชีวิต ก็ควรเข้ารับการรักษา

การป้องกัน

หากสามารถฝึกอยู่กับอารมณ์กลัวให้ได้ ไม่ต้องหนีทุกครั้งที่เผชิญหน้ากับสิ่งนั้น ก็จะทำให้เราสามารถอยู่กับความกังวลและความกลัวนั้นได้ โดยไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันที่สำคัญ

แม้ว่าโรคกลัวจะไม่ใช่โรคที่มีความอันตรายร้ายแรง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของตัวคุณเอง

แหล่งข้อมูล

อ. นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม