โรคติดเชื้อราที่ผิวหนังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เชื้อราที่ผิวชั้นบน และ ซึ่งโรคเชื้อราที่พบส่วนมากจะเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นบน ส่วนโรคเชื้อราชั้นลึกนั้น เป็นการติดเชื้อราตามกระแสเลือด มักเกิดกับบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง โดยอาจมีการติดเชื้อราที่อวัยวะสำคัญ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ผิวหนังของคนเรามีความสามารถในการป้องกันสิ่งต่าง ๆ จากภายนอก ทั้งสารเคมี สิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย หรือเชื้อโรคต่าง ๆ หากมีปัจจัยที่ทำให้สูญเสียคุณสมบัติในการป้องกันตัว เชื้อราก็จะสามารถแทรกซึมและก่อให้เกิดโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ ซึ่งในที่นี้จะเน้นเฉพาะโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นบนเท่านั้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นบน ได้แก่ ความอับชื้น อากาศร้อน เหงื่อออกมาก ส่งผลให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นมากเกินไปและสูญเสียคุณสมบัติในการป้องกัน เชื้อราก็จะลุกลามเข้ามาในร่างกายได้
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่น้อยกว่าคนปกติ เช่น คนไข้โรคเบาหวาน คนไข้ที่ได้รับยากดภูมิ
นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยให้เกิดโรคเชื้อราที่ผิวหนังด้วยเช่นกัน เช่น การทำงานในบริเวณที่อับชื้น ทำงานอยู่ในบริเวณที่มีเชื้อรา การเลี้ยงสัตว์บางชนิด เช่น แมว ซึ่งอาจจะเป็นพาหะของเชื้อราที่ผิวหนังได้
ชนิดของโรคติดเชื้อราผิวหนังชั้นบน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มเชื้อเกลื้อน จะเกิดที่บริเวณผิวหนังชั้นบน คือ ชั้นขี้ไคลเป็นส่วนใหญ่ การติดเชื้อเกลื้อนจะทำให้มีการอักเสบในระดับอ่อน ๆ ตัวผื่นจะไม่เห็นรอยแดงชัดเจน แต่เป็นรอยขาว ๆ และบริเวณผื่นก็จะเห็นเป็นขุยเล็ก ๆ กลุ่มเชื้อเกลื้อนมักจะพบบริเวณที่ร่างกายมีต่อมไขมันค่อนข้างมาก ได้แก่ หน้าอกและหลัง
...
2. กลุ่มเชื้อกลาก เป็นโรคติดเชื้อราคนละตระกูลกับเชื้อเกลื้อน เชื้อกลากมีความสามารถในการติดเชื้อที่ผิวหนังทุกบริเวณที่ประกอบไปด้วยเคราติน ไม่ว่าจะเป็นเส้นผม หนังศีรษะ และเล็บ
ลักษณะผื่นและอาการโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง
• เชื้อกลากติดบริเวณร่างกาย ผื่นจะมีลักษณะเป็นวง ๆ สีแดง และมีขุยตรงบริเวณขอบ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ตัวขอบวงจะขยายออกไปเรื่อย ๆ จนดูคล้ายกับว่าผื่นนั้นหายไปเอง และมีอาการคัน ในรายที่มีการอักเสบรุนแรง จะพบว่ารอยแดงอาจมีหนองเล็ก ๆ ร่วมด้วย แต่ในรายที่มีปฏิกิริยาไม่มาก ก็จะพบเป็นรอยแดงเล็กน้อยร่วมกับมีขุย
• เชื้อกลากติดบริเวณหนังศีรษะ ก็จะเห็นเป็นผื่นชัด อาจจะเป็นวง เช่นเดียวกันที่หนังศีรษะ แต่ที่มักจะพบร่วมด้วย ก็คือ ตัวเส้นผมจะมีการหัก เป็นตอดำ ๆ เป็นจุด ๆ เนื่องจากการที่เชื้อราลุกลามเข้าไปในเส้นผม บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบมีตุ่มหนองที่หนังศีรษะ และถ้ารุนแรงมากอาจส่งผลให้ทำลายรูขุมขน และทำให้เส้นผมไม่งอกขึ้นอีกเลย
• เชื้อกลากติดบริเวณเล็บ อาจจะมองเห็นว่าเล็บมีสีผิดปกติ เช่น สีขาว ถ้าบริเวณใต้แผ่นเล็บมีเชื้อราลุกลามเข้าไป ก็จะเห็นตัวเนื้อเล็บยกขึ้น บางครั้งถ้าเป็นไปนาน ๆ ตัวเนื้อเล็บอาจจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ ทั้งนี้อาจเกิดจากสีของเชื้อราเองหรือเป็นสีของเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปในบริเวณเล็บด้วย
3. กลุ่มเชื้อราแคนดิด้า เป็นเชื้อราอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถติดที่ผิวหนังได้ ความเด่นของเชื้อแคนดิด้า มักจะพบบริเวณซอกพับ ทำให้เป็นผื่นแดง และมีอาการคัน นอกจากนี้ บริเวณขอบผื่นจะมีตุ่มหนองเล็ก ๆ ร่วมด้วย และเนื่องจากบริเวณที่เป็นมักมีความอับชื้น ก็จะพบว่าบางครั้งบริเวณผื่นอาจมีผิวหนังด้านบนลอกออกมาได้ด้วย
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง
แพทย์จะทำการตรวจลักษณะผื่น เป็นการวินิจฉัยทางคลินิก จากนั้นจะนำอุปกรณ์เก็บขุยบริเวณผื่นแล้วนำไปย้อมสารโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งทำให้เห็นตัวสายราเด่นชัดขึ้น
ส่วนการนำเชื้อราไปเพาะเชื้อนั้น เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัย และใช้ทดสอบว่าเชื้อรานั้นมีการดื้อยาหรือไม่ อย่างไร
ส่วนเชื้อราที่พบในบริเวณพิเศษอย่างเล็บ แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมโดยการตัดเล็บแล้วนำไปย้อมทางพยาธิวิทยาว่ามีเชื้อราหรือไม่ เนื่องจากการขูดตรวจเชื้อราจากเล็บ อาจได้ผลการตรวจที่ไม่แม่นยำเท่าใดนัก
สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องน่ารู้ของการรักษา การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง รอติดตามกันนะครับ
@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
รศ. นพ.พูลเกียรติ สุชนวณิช สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล