โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร (Mpox) เป็นโรคระบาดที่มีการแพร่เชื้อไปหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ และมีการประกาศจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติในขณะนี้ สำหรับประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยฝีดาษลิงครั้งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 และมีการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่เป็นสายพันธุ์เคลด 1 ครั้งแรกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษลิง โดยมีข้อมูลผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสะสมถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567 ระบุว่ามียอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงจำนวน 835 คน แบ่งเป็นเพศชาย 814 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 97 และเพศหญิงจำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 2.51 นอกจากนี้ พบผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 30 – 39 ปีมากที่สุด โดยเมื่อแบ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อตามสัญชาติ พบว่าเป็นคนไทยจำนวน 749 คน ทั้งนี้ จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 466 คน

ฝีดาษลิงเกิดจากอะไร

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Mpox ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ พบการติดเชื้อในลิงครั้งแรกในปี 1958 ต่อมาพบว่าเชื้อสามารถแพร่จากสัตว์สู่คน โดยตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ทวีปแอฟริกากลาง ซึ่งโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่จะมีการระบาดในประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, สาธารณรัฐคองโก, ประเทศไนจีเรีย, สาธารณรัฐเบนิน และสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน เป็นต้น

...

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว โรงพยาบาลพระรามเก้า
พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว โรงพยาบาลพระรามเก้า

โรคฝีดาษลิงติดต่ออย่างไร

“โรคฝีดาษลิง” เป็นโรคที่พบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย โรคนี้ยังสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้จากการสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ การสัมผัสซากสัตว์ รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย การสัมผัสตุ่มหนองและสารคัดหลั่ง การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย การพูดคุยในระยะใกล้ชิดเป็นระยะเวลานาน การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอน แก้วน้ำดื่ม สำหรับการระบาดตั้งแต่ปี 2022 พบว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นผู้ป่วยกลุ่มชายรักชายที่ติดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้

อาการโรคฝีดาษลิง

“สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ “โรคฝีดาษลิง” ไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวได้ตั้งแต่ 6-21 วัน จึงเริ่มแสดงอาการ โดยเริ่มจากอาการไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ เมื่อยตัว ปวดศีรษะ ในช่วง 3-5 วันแรก หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นแดงนูน พบได้บริเวณใบหน้า แขน ขา มือ ในช่องปาก ลำตัว รวมไปถึงอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสัมผัส หลังจากนั้นผื่นแดงนูนจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และแตกเป็นสะเก็ดและค่อยๆ หลุดไป หลังจากติดเชื้อผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคนี้เองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์” พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ กล่าว

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง

ด้าน ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าปัจจุบันโรคฝีดาษลิงยังคงไม่มียาต้านไวรัสที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ยาที่ใช้ คือ ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคฝีดาษ การรักษาในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การรักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ของผู้ติดเชื้อ

...

ในส่วนของการรักษาตุ่มนั้น สามารถใช้น้ำเกลือ ยาใส่แผลที่มีไอโอดีน (iodine) ตลอดจนขี้ผึ้งในการใช้ทำแผล นอกจากนี้ในระยะที่มีหนองไหลออกมาจากแผล ควรใช้น้ำเกลือชุบผ้าก๊อซประคบประมาณ 5 นาที อย่างน้อย 3-5 รอบต่อวัน ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยควรระมัดระวังอย่าให้แผลสกปรก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรแกะหรือเกาแผล และเมื่อสะเก็ดหลุด สามารถปล่อยให้รอยหายไปตามธรรมชาติ ทายารักษารอยดำ รอยแดง อีกทั้งยังสามารถเลเซอร์ลดรอยแผลได้

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อนั้น สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงโรคฝีดาษลิง โดยควรฉีดภายใน 4 วันและไม่เกิน 14 วันภายหลังการสัมผัส เพื่อช่วยลดโอกาสและความรุนแรงในการติดเชื้อ หากเป็นผู้ที่ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง หรือเดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่กระจาย ควรที่จะฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ

“การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิงแบบก่อนสัมผัสนั้นไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน แนะนำเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น หากฉีดครบ 2 เข็ม ระยะเวลาห่างระหว่างเข็มเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะสามารถป้องกันโรคได้ถึงร้อยละ 80-85 และถือว่ามีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์

...

ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับคำถามที่ว่า หากเคยมีการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษในอดีต จำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงอีกครั้งหรือไม่นั้น ซึ่งหากสงสัยว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง แม้จะมีการปลูกฝีมาแล้ว ก็ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนได้ที่สถานเสาวภาและศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ดังนั้น จึงไม่อยากให้ประชาชนตกใจแต่ควรมีการตื่นตัว และเฝ้าระวัง ติดตามข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจต่อเชื้อไวรัสที่ถูกต้อง” ศ. พญ.ศศิโสภิณ กล่าวทิ้งท้าย

...