“แร่ธาตุ” คือ สารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่มีความสำคัญที่ร่างกายต้องการ เพราะเป็นองค์ประกอบในอวัยวะที่สำคัญ เช่น กระดูกและฟัน มีส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานของร่างกาย เช่น การผลิตฮอร์โมน การสร้างเม็ดเลือดแดง การควบคุมสมดุลน้ำ สมดุลกรด-ด่าง การหดคลายตัวของกล้ามเนื้อ การแข็งตัวของเลือด การทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกาย วันนี้มารู้จักแร่ธาตุกันต่อ

4. โพแทสเซียม (Potassium) คือ แร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลของน้ำและความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย ควบคุมความเข้มข้นของของเหลวภายในและภายนอกเซลล์ ช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหัวใจ ควบคุมความดันโลหิต การส่งกระแสประสาท และช่วยในการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกาย

ปริมาณโพแทสเซียมที่ควรได้รับต่อวัน อ้างอิงจากปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 (Thai DRI, 2563) แสดงดังตารางที่ 4

ตารางที่ 4 ปริมาณโพแทสเซียมที่ควรได้รับต่อวันของประเทศไทย จำแนกตามเพศและอายุ

...

อาหารที่เป็นแหล่งโพแทสเซียม ได้แก่ ผักผลไม้สีส้ม สีเหลือง สีแดง สีขาวบางชนิด เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร เห็ด มันฝรั่ง มันเทศ

5. โซเดียม (Sodium) คือ แร่ธาตุที่ช่วยรักษาสมดุลแรงดันและการกระจายตัวของของเหลวในร่างกาย ทำให้ระบบการไหลเวียนของของเหลวในร่างกายเป็นปกติ แต่หากมีปริมาณโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ไตทำงานหนักเพื่อขับโซเดียมส่วนเกิน นอกจากนี้โซเดียมยังช่วยส่งสัญญาณในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และรักษาสมดุลความเป็นกรด-ด่าง

ปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน อ้างอิงจากปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 (Thai DRI, 2563) แสดงดังตารางที่ 5

ตารางที่ 5 ปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวันของประเทศไทย จำแนกตามเพศและอายุ


อาหารที่เป็นแหล่งโซเดียม ได้แก่ อาหารจากธรรมชาติทุกชนิด โดยในเนื้อสัตว์ นม จะมีปริมาณโซเดียมที่มากกว่าผักผลไม้ ซึ่งการกินอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม โซเดียมจากอาหารธรรมชาติทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมได้เพียงพอแล้ว แต่โซเดียมจากเครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป และเบเกอรี่ หากกินมากเกินไปจะส่งผลให้ได้รับโซเดียมมากเกินความพอดี ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อร่างกาย โดยปริมาณโซเดียมที่ได้รับไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวน่ารู้ของแร่ธาตุรองกันอีก รอติดตามกันนะคะ

@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เอกสารอ้างอิง

Farag MA, Abib B, Qin Z, Ze X, Ali SE. Dietary macrominerals: Updated review of their role and orchestration in human nutrition throughout the life cycle with sex differences. Curr Res Food Sci. 2023;6:100450.

คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ; 2563.

อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม

...