กลายเป็นความตื่นตระหนกอีกครั้งกับการกลายพันธุ์ของโรคฝีดาษวานร หรือ MPox ที่ล่าสุดพบผู้ป่วยแล้ว 1 รายในประเทศไทย
ฮันส์ คลูเก ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า Mpox เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดแผลเป็นหนอง มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ ไม่รุนแรง แต่สามารถเสียชีวิตได้ สำหรับ Mpox clade 1b เป็นการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดิม คือ Clade 1 และ Clade 2 สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่า ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดแบบเป็นประจำ ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วย Clade II รายใหม่ประมาณ 100 ราย ในภูมิภาคยุโรปทุกเดือน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดในทวีปแอฟริกา ซึ่งในเบื้องต้นการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ทาริก จาซาเรวิช โฆษก WHO บอกว่า องค์การอนามัยโลกไม่ได้แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก แต่แนะนำให้ใช้วัคซีนในสถานที่ที่มีการระบาด เช่น ในประเทศคองโก ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด และขณะนี้ WHO ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานร (MPox) เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกา
...
ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว Health Focus ระบุคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ฝีดาษวานร (Mpox หรือ Monkeypox) มีสายตระกูลเรียกว่า เคลด 1 (Clade 1) เคลด 2 (Clade 2) โดยเคลด 1 มีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณ 10% แต่ที่ระบาดขณะนี้เป็นเคลด 1 บี (Clade 1b) ซึ่งติดต่อง่าย แต่อัตราเสียชีวิตมีเพียง 1%
หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดี บอกว่า ฝีดาษวานรสายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1b) เป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวเองให้ติดเชื้อง่ายขึ้น จากเดิมที่ติดต่อค่อนข้างยาก ต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด พบมากในกลุ่มชายรักชาย แต่ครั้งนี้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสาธารณรัฐคองโก มีการติดต่อง่ายขึ้น ปัจจุบันมีคนติดเชื้อเคลด 1 บีไปแล้วประมาณ 18,000 คน เสียชีวิตกว่า 500 กว่าคน
“จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเด็กถึง 70% แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น คนที่อยู่บ้านเดียวกัน อย่างเด็กเล็กก็สามารถถ่ายทอดเชื้อกันได้ ผ่านสารคัดหลั่ง การไอจาม การติดตามข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า คนที่ป่วยและไปอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ 4 ชั่วโมงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ ทั้งจากการสัมผัสเชื้อจากสารคัดหลั่ง การใช้มือที่สัมผัสเชื้อขยี้ตา การไอหรือจาม โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์บอก
ถึงตอนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่า เพราะอะไรการติดเชื้อถึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไวรัสพยายามแทรกตัวเข้ามาในร่างกายมนุษย์ โดยมีระยะฟักตัวอยู่ 22 วัน ซึ่งหากคนไทยเดินทางไปประเทศเสี่ยงอย่างแอฟริกา หรือดีอาร์คองโก เมื่อเดินทางกลับมาขอให้สังเกตตนเองว่ามีอาการคล้ายไข้หวัด มีผื่นขึ้นตามตัวหรือไม่ หากมีต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรายงานในระบบรายงานข้อมูลจากสถานพยาบาลไปยังกรมควบคุมโรค
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ บอกว่า ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ โดยสภากาชาดไทยนำเข้ามา สามารถฉีดก่อนและหลังเดินทางไปกลุ่มเสี่ยงได้ โดยข้อมูลที่ผ่านมา หากสัมผัสเชื้อ สามารถป้องกันความรุนแรงได้ 68-80% แต่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ต้องจ่ายเงินเองเพราะยังไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ
...
“ย้ำว่าหากหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของฝีดาษวานร โดยเฉพาะฝีดาษวานรสายพันธุ์ Clade 1b ในประเทศแถบแอฟริกาหรือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ขอให้หลีกเลี่ยงไปก่อน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในประเทศเสี่ยงเหล่านี้ เนื่องจากมีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ฝีดาษวานรสายพันธุ์เคลด 1 บี สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ย้ำ พร้อมกับบอกว่า หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของฝีดาษวานร ขอให้เคร่งครัดป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของไวรัส เช่น หนูและลิง หรือสัตว์ฟันแทะอื่นๆอย่างเด็ดขาด
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทางศูนย์จีโนมฯ หรือ Center for Medical Genomics โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เอนไซม์ “เอโพเบค-สาม (APOBEC3)” ในร่างกายมนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการเร่งการกลายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษวานรในระดับจีโนม สอดคล้องกับข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในปี 2565 ที่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับการปรับตัวทางพันธุกรรมอันเนื่องมาจากเอนไซม์ APOBEC3 ซึ่งเป็นเอนไซม์ของระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ มีบทบาทในการสร้างการกลายพันธุ์ในจีโนมของไวรัส นำไปสู่การวิวัฒนาการและการปรับตัวของเชื้อ
จากการศึกษาพบว่า ไวรัสฝีดาษวานรสายพันธุ์ Clade IIb มีการกลายพันธุ์จำนวนมากที่เกิดจากเอนไซม์ APOBEC3 ซึ่งเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมจาก C เป็น T และ G เป็น A บนจีโนมของไวรัส แม้ว่าปฏิกิริยานี้มีจุดประสงค์เพื่อทำลายไวรัส แต่กลับพบว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวช่วยให้ไวรัสปรับตัวและเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูงขึ้น.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม
...