การเสียชีวิตกะทันหันของพิธีกรชื่อดัง อั๋น-ดร.มนัส ตั้งสุข หลังเกิดอาการวูบและล้มฟาด และก้านสมองตาย สร้างความตกใจและเสียใจให้กับครอบครัว เพื่อนฝูงและคนใกล้ชิดไม่น้อย และระยะหลังมานี้ เรามักได้ยินข่าวการเสียชีวิตด้วยอาการวูบ ล้ม ในคนที่อายุน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมองอย่างต่อเนื่อง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญทั่วโลก โดยพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป เป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่ 90% ของโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ จนทำให้สมองขาดเลือด และทันทีที่สมองขาดเลือด เซลล์สมองต่างๆจะค่อยๆถูกทำลาย ส่งผลให้สมองสูญเสียหน้าที่จนเกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
...
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ Ischemic Stroke เกิดจากการสะสมของไขมัน หรือหินปูนบริเวณผนังหลอดเลือดชั้นใน จนทำให้ขนาดของหลอดเลือดค่อยๆแคบลงหรือตีบ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการลำเลียงเลือดลดลง และรวมถึงสาเหตุจากการปริแตกของคราบไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้ลิ่มเลือดมาเกาะและเกิดเป็นภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ในที่สุด
โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือ Hemor rhagic Stroke ทันทีที่ผนังหลอดเลือดปริแตก เซลล์สมองจะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงทันที ส่งผลต่อเนื้อสมองโดยตรง และภายในระยะเวลาไม่นานเนื้อสมองจะตายลง ทำให้ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในเวลาอันสั้น เป็นภาวะที่พบได้มากในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีหลอดเลือดโป่งพอง โรคตับ และโรคเลือดผิดปกติ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคความดันโลหิตสูง คอเลสเทอรอลในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน สูบบุหรี่ ความเครียด โรคหัวใจที่มีระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ทำให้ลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง หรือผู้ที่ต้องนั่งรถหรือเครื่องบินเป็นเวลานานๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดเป็นการสะสมของลิ่มเลือดบริเวณหัวเข่า
สัญญาณเตือนสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นอาการเฉียบพลันแบบทันทีทันใด เช่น แขนขาอ่อนแรง เดินเซ สูญเสียการทรงตัว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง การมองเห็นมีปัญหา มองเห็นภาพซ้อน หรือมองเห็นภาพครึ่งเดียว สับสน หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเกิดจากภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว แต่ก็ไม่ควรมองข้ามไป เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของ Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง ที่ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน
ทันทีที่ผู้ป่วยมีอาการ Stroke ญาติหรือคนใกล้ชิดต้องรีบพาตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย เพื่อแยกชนิดของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นชนิดแตกหรือตีบให้เร็วที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก แพทย์ต้องรีบทำการผ่าตัดคนไข้โดยเร็วที่สุด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ต้องรีบดำเนินการเพื่อเปิดหลอดเลือดให้เร็วที่สุด โดยผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดยาละลายลิ่มเลือดภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง หากเกินเวลาช่วงดังกล่าว หรือหากฉีดยาละลายลิ่มเลือดไม่ได้ผล แพทย์จะใช้ทางเลือกรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป เพื่อลดเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต
การรักษามีหลายวิธี เช่น ให้ยาละลายลิ่มเลือดแดงโดยใช้สายสวน (Intra Arterial Thrombolysis) สำหรับผู้ป่วยที่มาช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง หรือมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่และใช้ยาละลายลิ่มเลือดดำไม่ได้ผลแพทย์จะทำการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงไปที่ก้อนลิ่มเลือด และใส่ยาโดยตรงที่ลิ่มเลือดนั้น
ใส่สายสวนลากก้อนเลือด (Clot Retrieval) สำหรับผู้ป่วยที่มารักษาช้า แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมง โดยแพทย์จะทำการใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปจนถึงตำแหน่งที่มีลิ่มเลือดอุดตันอยู่ แล้วจึงใส่ขดลวดขนาดเล็กพิเศษ ทำการคล้องและลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา และการใช้ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดแดง (Carotid Stenting) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของสมองขาดเลือดและตรวจพบหลอดเลือดตีบมากกว่า 50% แต่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ แพทย์จะใช้ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดแดงจากบริเวณขาหนีบหรือรักแร้ โดยจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงเป็นวิธีรักษาที่มีแค่ในเฉพาะโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น
...
แม้จะมีหลายวิธีในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง แต่โรคนี้ก็เป็นโรคที่ผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก การดูแลตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลโรคประจำตัว รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การกินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเค็มจัด ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะทั้งหมดนี้คือสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง ที่หากเป็นแล้วรักษาไม่ทัน ทางเลือกมีแค่ 2 ทางคือ เสียชีวิตและนอนติดเตียงเท่านั้น.