เบาหวาน เป็น หนึ่งในกลุ่มโรค NCDs (Non–communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นจำนวนมาก

ผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรังมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนปกติที่ไม่ได้เป็นเบาหวานถึง 50-80% เพราะการที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและเสียหาย บางรายอาจถึงขั้นหลอดเลือดเสื่อม ตีบหรือตัน ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดกลับเข้ามายังหัวใจทำได้น้อยลง เมื่อหัวใจไม่ได้รับเลือดที่มีออกซิเจนมากเพียงพอ จึงเกิดภาวะขาดเลือด เกิดโรคหัวใจ เช่น เจ็บที่หัวใจ หรือหัวใจวาย และยังสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เบาหวานยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน โดยคนที่เป็นเบาหวานเรื้อรังมีโอกาสเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือตันมากกว่าคนปกติถึง 2-3 เท่า เพราะเบาหวานก่อให้เกิดไขมันในเลือดสูง ความดันสูง มีผลต่อผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดการอักเสบ เสื่อม ตีบหรือตันได้ง่ายขึ้น และยังทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวได้ง่ายด้วย เสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดสมอง มากกว่า 80% ผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองตีบหรือตันมาจากการที่เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด และเข้าไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง โดยสัญญาณเตือนของภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือตันอาจมีอาการกล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงครึ่งซีก หน้าชาครึ่งซีก ตาพร่า พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว เวียนหัว ปวดหัว เดินเซ เมื่อสมองขาดเลือดส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก จนเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้

...

เบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงโดยตรงต่อการเกิดหลอดเลือดแข็ง แม้ในช่วงแรกที่หลอดเลือดตีบหรือตันจะยังไม่แสดงอาการให้สังเกตเห็น แต่หากยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงขึ้น เช่น อาจมีอาการเจ็บหรือปวดที่หน้าอก แน่นท้อง จุกเสียด หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หน้ามืด วิงเวียน ฯลฯ

เบาหวานถือเป็นสาเหตุสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือด น้ำตาลที่สูงเกินไปจะทำลายหลอดเลือด จนเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดหากสูงเกินไปจะเป็นพิษ น้ำตาลที่สูงเกินไปในเลือดจะทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เกิดคราบตะกรัน (Plaque) ในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง และขัดขวางการไหลของเลือด นอกจากนี้ ตะกรันเหล่านี้อาจเกิดการปริแตกฉับพลัน กระตุ้นให้เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในทันทีโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว หรือไม่เคยมีอาการผิดปกติมาก่อน

ในกรณีของเบาหวานเรื้อรัง หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หรือแตกออก จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือที่เราเรียกว่า หัวใจวายฉับพลัน (Heart Attack)

หากหลอดเลือดบริเวณคอ หรือในสมองตีบหรือแตก ทำให้สมองขาดเลือด ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ มีโอกาสเสี่ยงให้เกิดไตวายได้ หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาทั้งสองข้างตีบ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน (PAD : Peripheral Arterial Disease) ในกรณีแบบนี้จะส่งผลให้เวลาเดินแล้วมีอาการปวดบริเวณน่องได้ หากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศเสื่อม จะทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) ดังนั้น คุณผู้ชายที่มีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ควรตรวจหาโรคหัวใจเพิ่มเติมด้วย เพราะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจสามารถพบภาวะนี้ได้ถึง 50%

...

การป้องกัน และดูแลตัวเองหากป่วยเป็นเบาหวาน ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามคำแนะนำของแพทย์ ควบคุมระดับไขมัน โดยเฉพาะ LDL ให้อยู่ในเกณฑ์ โดยเป้าหมาย LDL ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดหน้าท้อง คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ คุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง ซึ่งมักเป็นอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ยังไม่เป็นโรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบตัน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม