หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่า อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราอย่างต่อเนื่องอาจมาจากการเป็น “ภูมิแพ้อาหารแฝง” ซึ่งมาจากการรับประทานอาหารบางอย่างที่ไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ขึ้นมา จะต่างจากการแพ้อาหารทั่วไปอย่างไร และสามารถรักษาได้หรือไม่
ภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร
ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน (Antibody) ชนิด IgG (Immunoglobulin G) ที่ร่างกายสร้างมาต่อต้านอาหารที่รับประทานเข้าไป ซึ่งเป็นคนละชนิดกับการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน ส่วนมากอาการที่แสดงออกมาจะไม่รุนแรงและจะไม่เกิดในทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่อาจเกิดหลังจากนั้นไปแล้วหลายชั่วโมงหรือข้ามวัน ทำให้หลายคนมองข้ามอาการของภูมิแพ้อาหารแฝงนี้ไป
อาการภูมิแพ้อาหารแฝง
อาการของคนเป็นภูมิแพ้อาหารแฝง มักจะเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แต่เรื้อรังยาวนาน บางคนอาจต้องกินยาเพื่อรักษาตามอาการ เช่น
- ท้องอืด ท้องผูก
- สิวเรื้อรัง
- ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
- ปวดหัว ไมเกรน
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- น้ำหนักขึ้นไม่ทราบสาเหตุ
- วิตกกังวล ซึมเศร้า
...
พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ไลฟ์เซ็นเตอร์ เผยว่าอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เรื้อรัง ทำให้ต้องใช้ยาต่อเนื่องเพื่อคุมอาการ เมื่อหยุดยาอาการก็กลับมาเป็นซ้ำอีก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ทำให้รักษาได้ไม่ตรงจุด
แม้ว่าบางอาการจะดูไม่รุนแรง แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า มีอาการปวดอักเสบตามร่างกายได้
อาหารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝง
อาหารที่มักกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้อาหารแฝง ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์จากนม
- ไข่
- แป้งสาลี
- ธัญพืช ถั่วต่างๆ
- รวมถึงผลิตภัณฑ์จากยีสต์ เช่น เบเกอรี ขนมปัง อาหารหมักดอง น้ำส้มสายชู เป็นต้น
ทั้งนี้ แต่ละบุคคลจะมีความไวของการแพ้ต่อชนิดของอาหารที่แตกต่างกันไป โดยสามารถตรวจสอบได้จากการเจาะเลือดเพื่อหาชนิดของอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้ถึง 222 ชนิด
ภูมิแพ้อาหารแฝง รักษาได้ไหม
ในการรักษาภูมิแพ้อาหารแฝงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้ แต่เพียงแค่ปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่แพ้ประมาณ 6 เดือนก็จะสามารถกลับมาทานอาหารชนิดนั้นได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายอีก แต่ในทางกลับกันหากกลับมาทานซ้ำๆ หรือทานมากจนเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายกลับมามีปฏิกิริยาต่อต้านอาหารชนิดนั้น ทำให้กลับมาเป็นภูมิแพ้อาหารแฝงอีกได้
ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท