โรคซึมเศร้า เป็นอาการป่วยทางจิตใจอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย และสามารถรักษาหายได้ หากทำอย่างถูกวิธี

ในปัจจุบันการรับรู้ของคนในสังคมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามีเพิ่มมากขึ้น คนส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นอาการป่วยทางจิตอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ได้เป็นความอ่อนแอเหมือนที่ใครๆ เคยเข้าใจ

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่มีความรู้สึกเศร้าเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำแล้วรู้สึกสนุกหรือมีความสุข และก่อให้เกิดผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันในที่สุด ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงวัย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

...

โรคซึมเศร้าในวัยเด็ก

พ่อแม่หลายท่านมักกังวลว่าเมื่อลูกเราโตขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่วัยเรียน อาจมีการปรับตัวเข้าสู่สังคม จนบางครั้งลูกๆ อาจพบความเครียดสะสมและมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าในเด็ก นอกจากเรื่องของพันธุกรรมและสารเคมีในสมองไม่สมดุลแล้ว ในวัยเด็กยังมีปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock
  • การถูกเลี้ยงดูที่เข้มงวดจนเกินไป
  • การถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ เป็นประจำ
  • ตัวเด็กเองขาดความมั่นใจในตัวเองจนรู้สึกกับตัวเองในแง่ลบ
  • ประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็ก หรือถูกทำร้ายร่างกายในวัยเด็ก

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการปรับตัวในหลายด้านพร้อมๆ กัน เช่น การเรียน การเข้ากันได้กับเพื่อน ความสัมพันธ์หนุ่มสาว หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงทำให้เกิดปัญหาได้ง่ายและมากกว่าวัยอื่นๆ เพราะฉะนั้นในคนที่มีความสามารถในการปรับตัวน้อย จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าง่ายกว่าคนที่มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

นอกจากนี้ ด้วยธรรมชาติของวัยรุ่นจะมีความหุนหันพลันแล่น เมื่อทำอะไรผิดพลาดก็จะเกิดอาการผิดหวังและรู้สึกเศร้าเสียใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ โดยยังพบว่าวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มในการพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่มากขึ้น

โรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่ หรือวัยทำงาน

วัยทำงานเป็นวัยที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด เนื่องจากวัยทำงานเป็นวัยสร้างครอบครัว และเป็นวัยที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แบกรับความกดดันและความคาดหวังที่สูง อีกทั้งหลายคนอาจมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลสะสมโดยไม่รู้ตัว และอาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

โรคซึมเศร้าในวัยผู้สูงอายุ

วัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมถอยของสุขภาพ ผู้สูงอายุบางท่านเริ่มมีความคิดโทษตัวเองที่เป็นภาระของลูกหลาน และผู้สูงอายุหลายท่านเกิดความรู้สึกเหงาเพราะลูกหลานทำงานจนไม่มีเวลาให้ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ โดยจากงานวิจัยของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าผู้สูงอายุกว่า 70% มีภาวะซึมเศร้า และ 15% มีภาวะโรคซึมเศร้า

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าในแต่ละช่วงวัยอาจแตกต่างกันเล็กน้อย แต่อาการผิดปกติที่อาจพบได้ในทุกช่วงวัย ได้แก่

  • อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
  • ไม่อยากอาหาร หรือรับประทานอาหารมากกว่าปกติ
  • นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากกว่าปกติ
  • เฉื่อยชา ชอบเก็บตัว มีความสนใจจากสิ่งที่เคยชอบลดลง
  • ประสิทธิภาพในการเรียน หรือการทำงานลดลง
  • รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า 

การรักษาโรคซึมเศร้าของแต่ละช่วงวัยจำเป็นต้องให้จิตแพทย์พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งหากมาพบแพทย์ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรงก็มีโอกาสรักษาหายขาด และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขได้อีกครั้ง

...