แอด กริดลีย์ คนไข้ชาวอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากการเสพกัญชาด้วยการป่วยด้วยโรคจิตเวชพร้อมๆกันถึง 3 โรค และต้องใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด รวมทั้งต้องเข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง 2-3 ครั้ง เขาให้สัมภาษณ์ในรายการวิคตอเรีย เดอร์บีเชียร์ ว่า

“ผมเคยสูบกัญชาเยอะมาก การเมากัญชาเป็นเรื่องปกติสำหรับผม หลังจากพยายามฆ่าตัวตาย 2-3 ครั้ง ซึ่งผมไม่ยอมรับว่าทำลงไปจริงๆ แม่มาเห็นสภาพผมนั่งกอดเข่า ตัวสั่นเทาอยู่ที่แฟลตซึ่งเป็นบ้านของผม เธอก็รู้ทันทีว่ามีบางอย่างผิดปกติ”

กริดลีย์ บอกว่า แม้ว่าเขาจะได้รับการดูแลโดยแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงก็ตาม แต่หลังจากวันนั้นชีวิตเขาก็ต้องเป็นทุกข์อีก 10 ปีเพราะไม่สามารถทำงานได้เลย ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอด และไม่ได้ทำอะไรที่มีความหมายต่อชีวิตของตนเองเลย เหมือนกับชีวิตช่วงนั้นขาดหายไป อย่างไรก็ตาม เมื่อหยุดสูบกัญชา อาการทางจิตเวชก็หยุดลง แต่ก็ยังต้องพึ่งยาและสิ่งต่างๆเพื่อให้สารเคมีในสมองได้รับความสมดุล

“ถ้าผมรู้ถึงความเสี่ยง ผมคงลังเลที่จะสูบมัน” กริดลีย์บอกในตอนท้าย

...

มิเชลล์ โรเบิร์ต ผู้สื่อข่าวสายสุขภาพ บีบีซีนิวส์ รายงานถึงผลกระทบของการเสพกัญชาต่อการเกิดโรคจิตเวช โดยอ้างรายงานการวิจัยได้รับการเปิดเผยในวารสารทางการแพทย์ เดอะแลนเซต ในหมวดจิตเวชศาสตร์ (the Lancet Psychiatry) ว่า การสูบกัญชาที่มีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยทางจิตอย่างรุนแรง

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาในเมืองต่างๆในยุโรป พวกเขาประเมินว่า มีผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ประมาณ 1 ใน 10 คน อาจเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูง โดยเฉพาะในกรุงลอนดอนของอังกฤษและกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ พบว่า ความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากกัญชาส่วนใหญ่ที่วางขายนั้นมีความเข้มข้นสูงมาก

งานศึกษาชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า การใช้กัญชาทุกวันทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจิตเวชมากขึ้น ดร.มาร์ธา ดิ ฟอร์ติ หัวหน้านักวิจัยและจิตแพทย์ บอกว่า หากคุณตัดสินใจจะใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูง ก็โปรดจำไว้ว่ามันมีความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคจิตเวชขึ้นได้

ทั้งนี้ ในวงการแพทย์ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูง โดยเฉพาะที่มีส่วนผสมของ THC (Tetrahydrocan nabinol) จำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการอารมณ์พุ่ง ควบคุมตัวเองไม่ได้และล่องลอย หรือเรียกกันว่า “ไฮ (high)” โดยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กัญชาที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง หรือสกั๊งค์ มักมีปริมาณ THC สูงถึง 14% ซึ่งคิดเป็น 94% ของกัญชาที่ขายตามท้องตลาดในกรุงลอนดอน

นักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ได้ศึกษาการใช้กัญชาของผู้คนใน 11 เมืองของยุโรป รวมถึงกรุงลอนดอน และภูมิภาคหนึ่งของบราซิล โดยเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่าง 901 คน ที่เคยเป็นโรคจิตเวช และอีก 1,237 คน (คนทั่วไป) ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคจิตเวช โดยจัดหมวดหมู่ของกัญชาที่ผู้เข้าร่วมงานวิจัยใช้ แบ่งตามความเข้มข้น ซึ่งหากมีความเข้มข้นต่ำจะมีส่วนผสมของสาร THC ต่ำกว่า 10% ขณะที่กัญชาแรงๆจะมีสาร THC เข้มข้นมากกว่า 10% ขึ้นไป

ผลการศึกษาพบว่า การใช้กัญชารายวันเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคจิตเวชขั้นต้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมจำนวน 29.5% (หรือ 266 คนจากทั้งหมด 901 คน) ของผู้ป่วยและเทียบกับ 6.8% (84 คนจาก 1,237 คน) ของกลุ่มควบคุม

นอกจากนี้ การใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูงยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยจิตเวชขั้นต้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม 37.1% ของกลุ่มผู้ป่วย (334 คน ใน 901 คน) เทียบกับ 19.4% ของกลุ่มควบคุม (240 คน ใน 1,237 คน)

ในสถานที่ 11 แห่งที่ทำการศึกษาพบว่า ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตเวชขั้นต้นสูงถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้กัญชาและความเสี่ยงนี้เพิ่มเป็น 5 เท่าในผู้ที่ใช้กัญชาที่มีความเข้มข้นสูงทุกวัน ทั้งนี้ ในกรุงลอนดอน 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคจิตเวชรายใหม่มีความเชื่อมโยงกับการใช้กัญชาทุกวัน และเกือบ 1 ใน 3 เป็นกัญชาที่มีความเข้มข้นสูง

...

จากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์พบอีกว่า การกำจัดกัญชาที่มีความแรงออกจากตลาด อาจลดอัตราการเกิดโรคจิตเวชของ กรุงลอนดอนจาก 45.7 เป็น 31.9 รายต่อประชากร 100,000 คนได้

นิค ฮิกมอตต์ จากองค์กรการกุศลด้านยาเสพติดและแอลกอฮอล์ชื่อว่า Addaction บอกว่า เรามีปัญหาเกี่ยวกับความเข้มข้นของกัญชา คนที่เสพกัญชาแรงๆ เป็นประจำมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายร้ายแรง มันอาจเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับสมองของผู้ที่มี อายุน้อย และอยู่ในวัยกำลังพัฒนาสมอง

ทั้งนี้ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Marijuana and Madness โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างมากต้องตีพิมพ์ถึง 3 ครั้ง เพื่อให้ข้อมูลภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างกัญชากับความเจ็บป่วยทางจิตและผลกระทบของการสัมผัสกัญชาในระยะต่างๆของพัฒนาการทางระบบประสาทที่สำคัญ ตั้งแต่ในครรภ์ วัยเด็ก และช่วงวัยรุ่น โดยหนังสือเล่มนี้กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับผู้ที่ สนใจปัญหาด้านยาเสพติดและสุขภาพจิตอย่างมาก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม

...