กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-com municable diseases) หรือ NCDs เป็นปัญหาสำคัญและความท้าทายในแวดวงสุขภาพระดับโลก รายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ผู้คนเริ่มเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มนี้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หรือไขมันในหลอดเลือด มากขึ้น และส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกิน การดื่ม การสูบบุหรี่ รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยเกินไป
ไม่ใช่แค่คนทั่วไปเท่านั้นที่ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคในกลุ่ม NCDs มากขึ้น แต่ยังพบว่าในกลุ่มของพระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชก็มีแนวโน้มป่วยและมรณภาพด้วยโรคกลุ่มนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ข้อมูลการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศของกรมการแพทย์ จำนวน 252,851 รูป จาก 41,142 วัด พบว่า พระสงฆ์ ร้อยละ 19 มีภาวะเสี่ยง และร้อยละ 29 มีภาวะอาพาธ โดยโรคที่พบมากสุด 3 อันดับแรก คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน รวมถึง โรคไตวายเรื้อรัง โรคอ้วน และโรคถุงลมโป่งพอง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการฉันอาหารที่มีผู้นำมาถวายซึ่งไม่สามารถเลือกได้
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า กรมอนามัยได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการเลือกเมนูชูสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับใส่บาตร พระสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันมีร้านเมนูชูสุขภาพได้รับการรับรองและมีป้ายสัญลักษณ์อยู่ทั่วประเทศ จำนวน 4,080 ร้าน และมีเมนูให้เลือกมากถึง 10,585 เมนู
...
อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า เมนูชูสุขภาพสำหรับทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ควรเป็นกลุ่มข้าว-แป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เน้นข้าวกล้อง กลุ่มผักหลากหลายสี กลุ่มผลไม้รสไม่หวานจัด กลุ่มเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ผ่านการแปรรูป และกลุ่มนม เน้นเป็นนมรสจืดหรือนมพร่องมันเนย เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
“อาหารที่ปรุงนั้นต้องไม่มีรสหวานจัด มันจัด และเค็มจัด เน้นการต้ม นึ่ง อบ หรือทำเป็นน้ำพริก ควรมีผักสดและผลไม้สดด้วยทุกครั้ง และต้องเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่เก็บไว้นาน” คุณหมออัจฉราบอก
หากเป็นการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง อธิบดีกรมอนามัยแนะนำว่า ควรเป็นข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี และถ้าเป็นอาหารกระป๋องต้องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ รั่วหรือเป็นสนิม และฉลากสินค้าต้องมีเครื่องหมาย อย. ที่สำคัญเป็นสินค้าใหม่ โดยสังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง ควรสังเกตฉลากโภชนาการหรือสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ส่วนน้ำปานะควรเลือกเครื่องดื่มสมุนไพรหรือเครื่องดื่มที่หวานน้อยหรือไม่มีน้ำตาล
...
สำหรับตัวอย่างเมนูชูสุขภาพที่แนะนำ เช่น อาหารที่คุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่ ข้าวกล้อง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด น้ำพริกอ่อง มีส่วนประกอบของมะเขือเทศช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยบำรุงสายตา แกงส้มมะรุม ฝักมะรุมช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือดและป้องกันโรคมะเร็ง ถั่วเขียวต้มน้ำขิง ช่วยขับสารพิษในตับ และขับลมในกระเพาะอาหาร ผลไม้สด ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ โดยเฉพาะแตงโม ที่มีน้ำเยอะ ช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น มีวิตามินซี ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีไลโคปีน ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง มีโปแตสเซียม ช่วยควบคุมความดันโลหิต
หรือจะเป็น แกงจืดมะระยัดไส้ ซึ่งมีวิตามินซีสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีสาร cucurbitacin ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ไส้หมูมีโปรตีนสูง ช่วยซ่อมแซม และเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ผักชีมีวิตามินเอ บี 2 ซี และแคลเซียม ช่วยบำรุงสายตา ระบบประสาท ผิวพรรณ และกระดูก ฯลฯ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมอนามัย ย้ำว่า การทำบุญด้วยเมนูสุขภาพไม่ใช่แค่ได้บุญธรรมดา แต่ยังได้แต้มบุญคูณสอง เพราะได้ช่วยรักษาสุขภาพของพระสงฆ์ให้ปลอดภัยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และมีสุขภาพที่ดีได้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกคนเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม สำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ โดยสามารถเลือกเมนูสุขภาพในการทำบุญได้จากเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ของกรมอนามัย หรือเข้าไปที่ https://multimedia.anamai.moph.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.
...