มะเร็งปอด โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในระยะแรกมักจะไม่ค่อยมีอาการแสดง แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมะเร็งเติบโตหรือเริ่มลุกลามแล้ว ซึ่งมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น

มะเร็งปอดเกิดจากอะไร?

เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ และแพร่กระจายเป็นจำนวนมากไปตามอวัยวะต่างๆ โดยมะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) เซลล์จะมีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตค่อนข้างเร็ว มะเร็งปอดชนิดนี้พบไม่มาก คือราว 10-15% แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะจำกัดขนาดมะเร็ง (Limited Stage) ในระยะนี้มะเร็งจะอยู่ในบริเวณปอดเท่านั้น
  • ระยะการแพร่กระจาย (Extensive Stage) เป็นระยะที่มะเร็งได้มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว

2. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) มะเร็งปอดชนิดนี้จะมีการแพร่กระจายได้ช้ากว่า และถ้าหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ จะสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด มะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณ 85-90% แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 พบมะเร็งเฉพาะที่บริเวณปอดเท่านั้น ไม่พบในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะที่ 2 แบ่งออกเป็น
    - ระยะที่ 2A มะเร็งจะมีขนาดเล็กและพบว่ามีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
    - ระยะที่ 2B มะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยและแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด หรือเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น เช่น บริเวณผนังทรวงอก

...

  • ระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น
    - ระยะที่ 3A เซลล์มะเร็งจะมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอื่นๆ ที่ห่างจากปอด หรือพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองรอบๆ ปอด และเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังผนังทรวงอกหรือบริเวณกลางช่องอกแล้ว
    - ระยะที่ 3B เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองอีกด้านของช่องอกหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า หรือมีเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในปอด หรือเนื้องอกเจริญเติบโตในอีกด้านของช่องอก เช่น บริเวณหัวใจ หลอดอาหาร หรือมีของเหลวที่มีเซลล์มะเร็งอยู่รอบๆ ปอด
  • ระยะที่ 4 ในระยะนี้มะเร็งได้มีการกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว เช่น กระดูก ตับ สมอง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดได้ เช่น

  • การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  • ควันบุหรี่ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่จากการสูดหายใจเข้าไปจะทำให้มีสารพิษตกค้างซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
  • การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง การสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม แร่เรดอน นิกเกิล 
  • สภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ เช่น ฝุ่น PM 2.5 จากการศึกษาพบว่า PM 2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1-1.4 เท่า ซึ่งถือว่ามีความร้ายแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
  • พันธุกรรม โรคมะเร็งปอดไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่พบว่า หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อย สมาชิกในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

เช็กอาการของโรคมะเร็งปอด

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น มักจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วมักมีอาการแสดงออก ที่สามารถสังเกตได้เบื้องต้น คือ

  • ไอเรื้อรัง และไอมีเสมหะปนเลือด
  • หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอกตลอดเวลา
  • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • ปอดติดเชื้อบ่อย
  • เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การรักษาโรคมะเร็งปอด

สิ่งสำคัญของการรักษามะเร็งปอด คือการพิจารณาตำแหน่ง ขนาดและระยะของเซลล์มะเร็ง รวมไปถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งวิธีการรักษามะเร็งปอด มีดังนี้

  • การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งในบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจจะไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้ ซึ่งโดยทั่วไปวิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ในระยะที่ 1, 2 และ 3A
  • การฉายรังสี (Radiotherapy) เป็นการนำพลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น แต่วิธีนี้จะใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่ได้มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม การฉายรังสีใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กลืนลำบาก ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี
  • การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการกระตุ้นให้ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายไปตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็ง
  • การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาเพื่อกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วในร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบของยาที่ต้องฉีดเข้าเส้นเลือด
  • การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติ และวิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนกับการใช้ยาเคมีบำบัด
  • การรักษาด้วยวิธีการผสมผสาน โดยทั่วไปการรักษามะเร็งมักจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไป ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและอาการผลข้างเคียงของแต่ละวิธี

...

อย่างไรก็ตาม เราทุกคนควรหมั่นดูแลสุขภาพ และพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหรือคัดกรองโรคเป็นประจำทุกปี และเนื่องจากโรคมะเร็งปอดมักจะไม่ค่อยมีอาการแสดงออกในช่วงระยะแรก ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงให้ประโยชน์ทั้งในแง่การเฝ้าระวังและการรักษา เพราะเป็นมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายได้หากพบเร็ว

ขอบคุณข้อมูล : นพ.กัญจน์ สนธยานาวิน อายุรแพทย์ ชำนาญการด้านโรคเลือด โรงพยาบาลเปาโล เกษตร