นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก องค์การอนามัยโลกได้ขนานนามโรคความดันโลหิตสูงเอาไว้ว่า คือ “ฆาตกรเงียบ” เพราะโรคความดันโลหิตสูงสามารถทำลายสุขภาพร่างกายและคร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เมื่อความดันเลือดในร่างกายสูบฉีดไปสู่หัวใจสูงกว่าปกติ เบื้องต้นจะไม่มีอาการของโรค กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว ระดับความดันในเลือดก็สูงจนเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน ไตวาย จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
นพ.เคย์ เผ่าภูรี หน่วยโรคหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังนี้
1. จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร ที่เหมาะสมคือ ไม่เกินวันละ 2 กรัม
2.งดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยให้มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 18.5-22.9 กก./ตร.ม. และมีเส้นรอบเอวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับคนไทย คือผู้ชายไม่เกิน 90 ซม. (36 นิ้ว) และสำหรับผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม. (32 นิ้ว)
4.เพิ่มกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
5.พักผ่อนให้เพียงพอ
6.วัดความดันโลหิตเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่