การดูแลตนเองหลังการผ่าตัด

1. ดูแลระวังไม่ให้มีสิ่งสกปรกเข้าตา เนื่องจากมีแผลอยู่ที่ผิวตา ดังนั้น หลังการผ่าตัดวันแรก แพทย์ก็จะใส่ที่ครอบตาไว้ เพื่อป้องกัน และห้ามโดนน้ำในช่วง 1 สัปดาห์แรก
2. ให้พยายามหลับตา หรือพักสายตาให้มากที่สุด เพื่อแผลฟื้นตัวได้เร็ว และลดอาการตาแห้ง
3. หลังจากการผ่าตัด 1 สัปดาห์ หากแผลปกติดี แพทย์จะให้หยุดยาทั้งหมด เหลือแค่น้ำตาเทียมและสามารถใช้สายตาได้ตามปกติ และโดนน้ำได้ ด้วยความระมัดระวังไปจนครบเดือน

ผลข้างเคียงของการทำเลสิก มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อันตรายและไม่อันตราย

1. กลุ่มที่อันตราย ซึ่งพบได้น้อยมาก แต่มีผลกระทบต่อการรักษาและการมองเห็น ได้แก่

1.1 การติดเชื้อ เนื่องจากมีแผล จึงมีโอกาสที่ติดเชื้อได้จากเชื้อโรคที่อยู่รอบ ๆ ดวงตา ซึ่งอาจเข้าไปในแผลได้
1.2 ตัวแผลที่อาจหายได้ไม่เป็นปกติ มีการแยกชั้นกระจกตาได้ไม่สมบูรณ์หรือมีการขยับเขยื้อนของฝากระจกตาขณะที่แยกชิ้นไว้
1.3 การที่มีเนื้อกระจกตาที่บางลง จนอาจสูญเสียความแข็งแรง โดยเฉพาะคนที่สายตาสั้นมากหรือเอียงมาก คนไข้เหล่านี้ ก็จะมีเนื้อที่หายไปปริมาณมาก โดยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะประเมินความเสี่ยงก่อนการผ่าตัดเสมอ หากเกิดอาจมีภาวะกระจกตาโป่งหรือโก่งออกมาผิดปกติตามมาได้ เมื่ออายุมากขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้การมองเห็นแย่ลง โดยแพทย์จะต้องเลือกทำโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก แต่เกิดขึ้นได้

2. ผลข้างเคียงที่ไม่อันตราย และพบได้บ่อยกว่า ได้แก่

2.1 ตาแห้ง เกิดจากการที่มีการรบกวนกระจกตา จึงทำให้เส้นประสาทที่กระตุ้นการสร้างน้ำตาถูกรบกวน จึงมีน้ำตาลดน้อยลง โดยทั่วไปมักจะเป็นในช่วง 6 เดือนแรก แต่หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ในส่วนใหญ่ เส้นประสาทมักกลับมาเป็นปกติ ในผู้ป่วยบางรายอาจกลับมาสร้างน้ำตาได้ไม่ปกติเท่าเดิม จึงเกิดตาแห้งที่ยาวนานกว่า 6 เดือน หรือรุนแรงกว่าคนทั่วไปได้ โดยแพทย์จะประเมินความเสี่ยงนี้ก่อนการผ่าตัดเสมอ
2.2 แสงกระจาย เนื่องจากการผ่าตัดทำให้กระจกตามีความโค้งเปลี่ยนไป แสงสะท้อนที่สะท้อนจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีแฉกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีรูม่านตาใหญ่ แก้ไขสายตาปริมาณมาก ที่อาจสังเกตได้ง่ายกว่าคนที่มีรูม่านตาเล็ก หรือแก้ไขปริมาณน้อย

...

แสงกระจายมักสังเกตเห็นได้ง่ายในที่มืด เพราะเป็นช่วงที่รูม่านตาคนเราขยายมากขึ้นกว่าตอนกลางวัน บุคคลที่มีกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาละเอียดในที่มืด เช่น เป็นนักแข่งรถกลางคืน พนักงานขับรถส่งของกลางคืน อาจจะต้องระวังผลข้างเคียงเรื่องนี้ เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้วไม่มีวิธีแก้ไขโดยตรง นอกจากค่อยๆ รอเวลาให้สมองค่อยๆ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยสมองของคนส่วนใหญ่มักปรับตัวได้ในช่วง 6 เดือน หากปรับตัวไม่ได้ อาจสังเกตเห็นแสงกระจายนี้ไปได้ตลอด โดยทั่วไป แสงกระจายมักไม่มีผลต่อการมองเห็น แต่อาจรบกวนภาพของการมองภาพในตอนกลางคืน

2.3 ความแม่นยำ โดยปกติ การแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์มีความแม่นยำและได้ผลดี แต่ปัจจัยเรื่องการหายของแผลเฉพาะบุคคลอาจมีผลต่อการมอง และอาจทำให้เหลือค่าสายตาที่ไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งอันนี้ก็ถือเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ แต่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง และสามารถพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมตามเหมาะสม หากมีความจำเป็นเพราะถ้ามันเกิดแล้ว มันรบกวนการทำงานมากๆ แพทย์ก็จะพิจารณายิงเติม ยิ่งเพิ่ม ถ้ายังทำได้

ข้อดีและข้อเสียของการทำเลสิก

ข้อดี

1.ทำให้สามารถมองเห็นได้ดีที่สุดเท่าสายตาที่ดีที่สุดที่ได้รับการแก้ไขได้ โดยลดการพึ่งพาและข้อจำกัดของแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์

ข้อเสีย

1. มีผลข้างเคียงจากการรักษาได้
2. ไม่สามารถป้องกันสายตาผิดปกติเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

การผ่าตัดแก้ไขสายตา ซึ่งมีเลสิกรวมอยู่ด้วย ถือเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองสนใจ ก็ควรศึกษาดูว่าใช่สิ่งที่เราต้องการไหม ถ้าใช่ก็เข้ารับการประเมินโดยจักษุแพทย์ และรับการผ่าตัดต่อไป แต่ถ้าไม่ใช่ก็ยังมีแว่นตาและคอนแทคเลนส์ที่ช่วยแก้ไขภาวะความผิดปกติของสายตาได้เช่นกัน

แหล่งข้อมูล

ผศ. พญ.วรินทร จักรไพวงศ์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล