การมองเห็นภาพของคนเราเกิดจากการที่แสงตกกระทบที่ผิวกระจกตา แล้วเกิดการหักเหโฟกัสไปที่จอประสาทตาพอดี ภาพที่มองเห็นจึงมีความชัดเจน แต่หากความโค้งของกระจกตา หรือความยาวของลูกตามากหรือน้อยเกินไป จะทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน และเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะสายตาผิดปกติ”
ภาวะสายตาผิดปกติ มีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวในผู้สูงอายุ
การรักษาภาวะสายตาผิดปกติ แบ่งออกเป็น การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัด
1. การรักษาภาวะสายตาผิดปกติโดยการไม่ผ่าตัด ได้แก่ การใส่แว่น และการใส่คอนแทคเลนส์
1.1 การใส่แว่น ส่งผลให้ไม่สะดวกต่อการทำกิจกรรม หรือบางทีก็ทำให้เวียนหัว ไม่สบายตาได้
1.2 การใส่คอนแทคเลนส์ คุณภาพของภาพก็จะดีขึ้น เพราะติดอยู่ที่ตา สะดวกสบาย แต่ต้องมีสิ่งแปลกปลอมถูไถนัยน์ตาเรา และหากไม่ดูแลรักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์ให้ดี ก็อาจทำให้ติดเชื้อและตาบอดได้
2. การรักษาภาวะสายตาผิดปกติโดยการผ่าตัด สามารถรักษาภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวแต่กำเนิดเท่านั้น ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุไม่สามารถรักษาได้
...
การรักษาภาวะสายตาผิดปกติโดยการผ่าตัดในปัจจุบัน คือ การใช้เลเซอร์ยิงที่กระจกตา คือ ส่วนที่ใสที่สุดด้านหน้าของดวงตา ซึ่งมีหน้าที่สะท้อนแสง เพื่อให้เราเห็นภาพชัด ดังนั้นการที่กระจกตามีความโค้งที่ไม่พอเหมาะ ทำให้เกิดสายตาที่ผิดปกติ เช่น สั้น ยาว เอียง การที่จะแก้ไขความผิดปกตินี้ จึงใช้เลเซอร์ไปปรับแต่งกระจกตาให้มันสวยงาม เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้ตรงตามที่ควรจะเป็น ค่าสายตาที่ได้ก็จะมีความปกติเท่ากันคนทั่วไป
การใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ มีวิธีการทั้งหมด 3 วิธี ดังนี้
2.1 PRK (Photorefractive Keratectomy) เป็นวิธีที่โบราณนิดหนึ่ง โดยใช้มาก่อนการทำเลสิก กล่าวคือ การยิงเลเซอร์ไปที่ผิวกระจกตา เป็นการเจียผิวกระจกตาที่ด้านนอกเลย ข้อดีของวิธีนี้คือ กระจกตาจะไม่ถูกแยกขั้น ส่วนข้อเสียคือ แผลอักเสบนาน ติดเชื้อได้ง่าย มีความระคายเคืองมาก และใช้ระยะเวลานานกว่าจะหายสนิท
คนไข้ที่เลือกผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยการทำ PRK จะต้องเป็นคนที่มีเวลาพักฟื้นนาน และไม่ต้องการให้มีแผลคงเหลืออยู่เลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ทำ PRK ปัจจุบันจึงเหลือแค่อาชีพเฉพาะ เช่น ทหาร นักบิน คนที่เล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงที่จะไปกระแทกแผล การแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติโดยการทำ PRK จึงมีความนิยมลดลง แต่ก็ก็ยังสามารถทำได้ เพราะมีประโยชน์ต่อคนไข้มากทีเดียว
2.2 LASIK เป็นวิธีการที่ทำมายาวนานและได้ผลดี การทำเลสิก คือ การใช้เลเซอร์ตัวที่ 1 แยกชั้นกระจกตา ให้มันเปิดขึ้นมาประมาณ 1 ชั้นครึ่ง แล้วเหลืออีกประมาณ 3 ชั้นครึ่ง
จากนั้นจะยิงเลเซอร์ไปตรงกลางเพื่อปิดแผลเก่า เอากระจกตาที่เปิดขึ้นมาปิดกลับ ซึ่งกระจกตามีคุณสมบัติในการที่ปิดแล้วมันติดเลย เพราะฉะนั้นแผลพวกนี้จึงไม่ต้องเย็บ การทำเลสิกจึงเป็นการทำที่ง่าย หายเร็ว ใช้งานได้เร็ว
คำว่า Lasik จริงๆ มาจากคำว่า “Laser In-Situ Keratomileusis” ซึ่งการแยกชั้นกระจกตาสมัยก่อนใช้ใบมีดแยกชั้น แต่ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว เนื่องจากความแม่นยำต่ำและอันตรายมาก จึงใช้เลเซอร์แทน เพราะฉะนั้นการทำเลสิกในปัจจุบันจึงเรียกว่า “Femto Lasik” มาจากคำว่า การใช้เลเซอร์ชนิด femto เพื่อแยกชั้นกระจกตาแล้วยิงเลเซอร์อีกชนิดหนึ่งเพื่อแก้ไขสายตา
2.3 Relex Smile เป็นวิธีการที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ คือ การพัฒนามาจากการทำเลสิก คือ การใช้เลเซอร์ไปคว้านเนื้อชั้นตรงกลางออกแล้วแยกชั้นไว้เลย จากนั้นแพทย์ก็จะค่อยๆ เอาเครื่องมือเล็กๆ เข้าไปหยิบชั้นตรงกลางนั้นดึงออกมาผ่านรูเล็กๆ เปิดแผลจะเล็กลงเหลือแค่ 1 ใน 6 ของแผลเลสิกเท่านั้น
หลักการทำ Relex Smile เหมือนเลสิก แต่แผลเล็กลง ผลข้างเคียงลดน้อยลง ติดเชื้อน้อยลง ตาแห้งน้อยลง เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน Relex Smile จึงแทบจะเป็นวิธีที่เข้ามาแทนเลสิก แต่คนทั่วไปก็ยังติดกับคำว่า “เลสิก” อยู่ ปัจจุบันมีคนได้ทำ Relex Smile กันไปค่อนข้างเยอะแล้ว
...
การทำเลสิกเหมาะกับใคร
การทำเลสิกเหมาะกับผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น สายตายาวแต่กำเนิด และสายตาเอียง ส่วนใครที่มีสายตายาว หรือสูงอายุ สามารถทำเลสิกได้ แต่สิ่งที่แก้ไขนั้นไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด ดังนั้นจะต้องเป็นคนที่มีค่าสายตาคงที่แล้ว โดยเป็นคนที่มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
- เป็นคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
- ไม่ควรอายุมากจนมีโรคทางสายตามารบกวน
- อายุที่เหมาะสมในการทำเลสิกคือ 20-60 ปี
- เป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องระวังในการผ่าตัด เช่น โรคภูมิแพ้ เบาหวานที่คุมไม่ได้ โรคอะไรก็ตามที่ทำให้การหายของแผลช้ากว่าคนทั่วไป
ขั้นตอนการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์
1. เข้ารับการตรวจประเมินจากจักษุแพทย์ว่าทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็นัดมาผ่าตัด และดูแลหลังผ่าตัด
2. การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์จะใช้การหยอดยาชา คนไข้จะรู้ตัวตลอด ดังนั้นควรนอนนิ่งๆ เพื่อให้แพทย์ทำงานได้อย่างสะดวกสบาย
3. ถ้าเป็นการผ่าตัดแบบ PRK เข้าไปถึงก็เอาเลเซอร์ยิงที่ผิวเลย ใส่คอนแทคแลนส์เพื่อให้สบายตา ครอบตาและกลับบ้าน
...
4. การทำเลสิกจะเริ่มจากการยิงเลเซอร์ตัวที่ 1 เพื่อแยกชั้นกระจกตาให้เปิดขึ้นมา และใช้เลเซอร์ตัวที่ 2 ยิงแก้ไขกระจกตาให้รูปร่างสวยขึ้น ปิดแผลกลับ ครอบตาและกลับบ้าน จากนั้นแผลที่ติดไว้ก็จะค่อยๆ ติดแน่นภายใน 24 ชั่วโมง
5. ส่วนการทำ Relex Smile มีขั้นตอนเดียวคือ ใช้เลเซอร์แยกชั้น แล้วทำให้เป็นชิ้นกระจกตาเล็กๆ เอาไว้ในชั้นกระจกตา แล้วแพทย์ก็จะดึงชิ้นเล็กๆ นั้นออกจากกระจกตา ล้างแผลและปิดแผล ถ้าคนไข้ร่วมมือก็ใช้เวลาไม่เกิน 8 นาที
สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองหลังการทำ ผลข้างเคียง ข้อดีและข้อเสียของการทำเลสิก รอติดตามกันนะคะ
@@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
รศ. พญ.วรินทร จักรไพวงศ์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล